ขี่มอเตอร์ไซค์ จากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์คนเดียว : กฎของการขี่ในสิงคโปร์

สิ่งที่ผมไม่รู้มาก่อน เกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซค์ จากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์คนเดียว (26)

เมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมง เจ้าสองสูบเสียงเพราะสีแดง ก็ได้พบเจอกับราชาแห่งท้องถนน บีเอ็มดับบลิว อาร์ หนึ่งหนึ่งห้าศูนย์ อาร์ที อันที่จริงก็พึ่งจะได้มีโอกาสสังเกตจากสติ๊กเกอร์ที่ติดข้างมัน มันเป็นรุ่นใหม่กว่านั้น มันไม่ใช่อาร์ หนึ่งหนึ่งห้าศูนย์ อาร์ที แต่มันเป็นอาร์ หนึ่งสองศูนย์ศูนย์ อาร์ที

แต่มันก็คือคันนี้แหละ ที่เคยพบกันมาก่อนเมื่อเดือนพฤศจิกายน บนถนนสาย 118

เจ้านายของมันทั้งสองก็เช่นกัน เราเจอกันที่หน้าโรงแรม ตรงจุดที่คอนเซียชกำหนดให้ผมไปจอดเมื่อวันมาถึง

ความรื่นรมย์กลับมาทันที ผู้ที่มีความรักในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ แม้เจอกันในประเทศที่การขับขี่มันจะไม่ค่อยรื่นรมย์เท่าไหร่ แต่ก็สามารถทำให้จิตใจกลับมารื่นรมย์ได้ นี่ก็เหลือเชื่อ แต่ก็เป็นจริงสำหรับเรา

และกฎก็คือกฎ ไม่ว่าจะเป็นใคร หากขี่มอเตอร์ไซค์มา ก็ต้องไปจอดในจุดที่คอนเซียชกำหนด ไม่เว้นแม้กระทั่งหนุ่มชาวไทยเชื้อสายอินเดียกับมอเตอร์ไซค์รูปลักษณ์โบราณที่งดงาม และไม่เว้นแม้กระทั่งซีอีโอภูมิภาคเอเชียของธนาคารใหญ่โตที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในอเมริกา กับมอเตอร์ไซค์รูปลักษณ์ยิ่งใหญ่ไม่เกรงกลัวต่อหนทางอันยาวไกล

ทุกคน ทุกคัน ต้องจอดในจุดที่คอนเซียชกำหนดไว้ ในจุดที่ถูกคิดคำนวณไว้แล้วว่าเป็นจุดที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่จะจอดมอเตอร์ไซค์

แต่ไม่ว่าสิ่งใดก็ไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นปัญหาทั้งสิ้น เพราะเรามีความรื่นรมย์

เรามีความรื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง

“ไฮ ฮาวอาร์ยู ไอรู้สึกดีมากที่ได้พบกับยูที่นี่” “เวลคัมทูสิงคโปร์ ยูมาถึงจริงๆ” ทักทายกันด้วยความรู้สึกเยี่ยมยอดภายในจิตใจ เสียงหัวเราะเต็มเปี่ยมอยู่ภายนอกร่างกาย รู้สึกต่อเชื่อมถึงกัน แม้เคยพบกันเพียงไม่ถึงสี่ชั่วโมงดี

“เราเริ่มกันเลยไหม”

“เดี๋ยว เราถ่ายรูปกันก่อน”

ถ่ายรูปกันเสร็จ

“โอเค เราเริ่มกันเลย”

“ไอจะพายูไปขี่มอเตอร์ไซค์รอบเกาะ และเราจะแวะดื่มเอสเปรสโซ่กัน ที่ร้านร้านหนึ่งที่สวยงาม เป็นร้านที่คนท้องถิ่นไปกัน นักท่องเที่ยวไม่รู้จัก”

“โอเค ไอจะขี่ตามยูไป”

เราออกจากโรงแรมสู่ถนนออร์ชาร์ด แล้วเจ้าสองสูบเสียงเพราะ ก็ติดตามเจ้าราชาแห่งท้องถนนไป

เราแวะจอดรถครั้งแรกที่หน้าโรงแรมราฟเฟิลส์ สิงคโปร์ โรงแรมขึ้นชื่อ และอยู่ในประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสิงคโปร์ สร้างเมื่อปี 1887 ร้อยกว่าปีก่อน ผมแปลกใจว่าทำไมไม่สร้างติดทะเล ร้อยกว่าปีก่อนที่ดินน่าจะมีถมเถไป แต่ก่อนจะได้ถาม เขาก็อธิบายว่า เมื่อตอนสร้างมันอยู่ติดทะเล

แต่สิงคโปร์มีความเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก จึงต้องถมทะเล และจนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์ไม่มีชายหาดที่เป็นชายหาดธรรมชาติเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะถูกถมออกไปหมด ชายหาดที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นชายหาดที่สร้างขึ้น เป็นชายหาดสังเคราะห์

แล้วเขาก็ชี้ให้ดูกลุ่มอาคารที่เป็นโซนการเงิน “นั่น เคยเป็นที่ทำงานของไอ แต่ปัจจุบันไอเกษียณแล้ว” “และกลุ่มอาคารนั่นทั้งหมดก็เคยเป็นทะเลมาก่อน” “เราถมทะเลค่อนข้างเยอะทีเดียว”

จากนั้นเราก็ขี่เที่ยวกันต่อ เจ้าสองสูบเรียงเสียงเพราะ ก็ตามราชาแห่งท้องถนนไปบนถนนอันงดงามสมบูรณ์แบบ

แล้วเราก็เจออุโมงค์ ผมทิ้งระยะห่างกับเจ้าราชาแห่งท้องถนนทันที…

อุโมงค์นี้เป็นอุโมงค์ไฮเวย์ขนาดใหญ่ยักษ์ บนถนนอะไรก็ไม่รู้ ชื่ออะไรก็ไม่แน่ใจนัก ขนาดใหญ่มากถึงห้าช่องจราจร ไฟสว่างเจิดจ้า แน่นอน เมื่อได้ระยะเหมาะสม ผมลดเกียร์ลง มือบิดคันเร่งเพิ่มรอบ แล้วก็พุ่งทะยานตามราชาแห่งท้องถนนเข้าสู่อุโมงค์

เสียงบรรเลงจากเจ้าสองสูบเสียงเพราะฟังไพเราะเสนาะหูขึ้นมาก แต่เทียบไม่ได้กับอุโมงค์บนถนนสาย E1 ในมาเลเซีย เพราะอุโมงค์นี้มีขนาดใหญ่เกินไป ใหญ่เกินกว่าที่เสียงของเจ้าสองสูบแปดร้อยหกสิบห้าซีซีจะก้องคับพื้นที่ มันจึงไม่สะท้านทรวงได้เหมือนอุโมงค์ที่ถนน E1 บางทีอุโมงค์นี้อาจต้องการอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ เช่น ฮาร์เล่ย์เดวิดสัน เครื่องยนต์มิลวอกี้ ขนาดเกือบพันแปดร้อยซีซี ถึงจะสะกดมันได้อยู่

เราขี่ออกไปจากโซนแห่งการท่องเที่ยว และเมื่อติดไฟแดง เราก็เจอรถป้ายทะเบียนสีแปลกๆ คันหนึ่ง โดยที่ยังไม่ได้ถาม ก็ได้รับการอธิบาย “รถที่มีป้ายทะเบียนแบบนี้ จะวิ่งได้เฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์” “สิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็กมาก มีถนนจำกัดมาก และทำให้ภาษีรถ ภาษีป้ายทะเบียนแพงมาก” “หากเราไม่ทำอย่างนี้ รถจะติดแหง็กเลย”

ผมเคยไปสิงคโปร์ตอนเด็กๆ ตอนนั้นเริ่มชอบรถมากแล้ว ก็เลยพอรู้ราคารถอยู่บ้าง สมัยที่โตโยต้าโคโรลล่าตัวท็อปบ้านเรา ราคาอยู่ประมาณห้าแสนกว่า ไม่ถึงหกแสนบาท ฮอนด้าซีวิคที่นั่นราคาประมาณสามล้านบาท และยังจะต้องพิสูจน์ได้ด้วยว่ามีที่จอดรถ หากพิสูจน์ที่จอดรถไม่ได้ เป็นอันว่ามีตังค์ก็ได้แต่นั่งมอง หมดสิทธิ์ครอบครองมาขับขี่ได้

ขี่ต่อสักพักเราก็มาถึงที่ร้าน

ร้านเป็นร้านติดทะเล มีวิวท้องฟ้าท้องทะเลที่กว้างใหญ่ มองไปจนสุดขอบฟ้าจะเห็นประเทศอินโดนีเซียตามคำบอกของเขา และคงจะอยู่ใกล้กับสนามบินทีเดียว เพราะมองเห็นเครื่องบินขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา เป็นร้านที่งดงาม เป็นร้านที่คนท้องถิ่นมากัน

ไม่มีนักท่องเที่ยวเลยสักคน

เขาสั่งกาแฟเอสเปรสโซ่ร้อนสองแก้ว หนึ่งสำหรับผม หนึ่งสำหรับเขา เป็นเอสเปรสโซ่ที่มีความสำคัญ ที่ต้องใช้เวลาถึงเก้าวัน ความพยายามเข้าประเทศสองครั้ง เป็นอาชญากรหนึ่งครั้ง กับระยะทางอีก 2,866.8 กิโลเมตร

เป็นเอสเปรสโซ่ตามสัญญา เป็นเอสเปรสโซ่ที่ควรค่าแก่การได้มา

เราชนแก้วกันก่อนจะดื่ม ถ่ายรูปประวัติศาสตร์ เป็นรูปอัจฉริยะสองคนชนแก้วเอสเปรสโซ่กัน เป็นเอสเปรสโซ่ของเหล่าอัจฉริยะเท่านั้น แล้วก็ดื่ม

เราคุยกันอย่างออกรสออกชาติ

“ไอยังไม่รู้สึกเป็นอัจฉริยะเลยว่ะ รู้สึกแปลกๆ มากกว่าว่ะ” แล้วก็หัวเราะเสียงดัง

“ยังอีกเหรอ” แล้วเราก็หัวเราะเสียงดังอีก

การสนทนาคงมีแต่อัจฉริยะเท่านั้นที่ทำได้…เต็มไปด้วยการหัวเราะเสียงดัง

จากนั้นเราก็ไปขี่กันต่อ เขาพาเราวิ่งผ่านเขตทหาร มีรถน้อยมาก ถ้ามาอีกครั้งคงไม่มีทางจะเข้ามาถูกแน่ แล้วเราก็จอดรถอยู่ที่ไหนสักที่ในเขตที่มีรั้วทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และด้านขวามีสัญลักษณ์ว่าเป็นเขตทหาร เขาเริ่มเล่าให้ฟัง

“สิงคโปร์มีถนนอยู่อันหนึ่งที่มีความพิเศษมาก” “ถนนนี้สามารถเปลี่ยนเป็นรันเวย์ได้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหากเกิดสงครามขึ้น” “เราจอดรถแถวนั้นไม่ได้ แต่พอเข้าสู่ถนนนั้นไอจะทำสัญญาณมือบอก” แล้วเราก็เดินทางกันต่อ

สัญลักษณ์ป้ายด้านซ้ายด้านขวา ยืนยันหนักแน่นว่านี่คือเขตทหาร พร้อมกับสัญลักษณ์ว่า “ห้ามถ่ายรูป” และในที่สุดเราก็มาถึงเขตทหารที่เป็นระดับสุดยอดของเขตทหาร ถ้าเป็นเมืองไทยเราก็คงเป็นเขตทหารหน่วยปฏิวัติ ที่ใช้จัดประชุมเชิญทุกฝ่ายหารือแล้วล็อกห้องปิดประตูตีเสื้อเหลืองเสื้อแดง เป็นระดับสุดยอดปานนั้น มีป้ายสัญลักษณ์ชัดเจน

“ถ้าบุกรุกจะยิงก่อนแล้วค่อยถามทีหลัง”