ตำรวจ-กม.ไทย (ไม่) เท่าทัน ? ไล่ล่าปราบสื่อลามก ยุค 5 จี ภัยโลกออนไลน์ คุกคามสังคม

ยุคไทยแลนด์ 4.0 ก้าวสู่โหมดการสื่อสาร 5 จี เทคโนโลยีการสื่อสารฉับไว ย่อโลกกว้างใหญ่ให้แคบลง

ทว่าในข้อดีมีข้อเสีย อาชญากร อาชญากรรมก็เข้าไปฝังตัวแทรกไปกับเทคโนโลยี

“สื่อลามกอนาจาร” ของแสลงวัฒนธรรมไทย ก็เป็นอีกหนึ่งอาชญากรรมที่แพร่หลาย

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ได้มีมาตรการตรวจจับและสแกนอยู่เสมอ

แต่เหมือนแมวจับหนู ยิ่งไล่ก็ยิ่งเจอ ยิ่งจับก็ขยับหนี ยิ่งไล่ปิดก็ยิ่งแอบเปิด!!

ล่าสุดค้นพบว่ามีการสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ที่เรียกกันว่า VK เป็นแอพพลิเคชั่นที่โด่งดังในกลุ่มผู้สนใจเรื่องนี้ตอนนี้

แต่ใช่ว่าจะรอดสายตาการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่

ตํารวจจากกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี หรือ กก.ดส. กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นสายลับออนไลน์เข้าไปแฝงตัวอยู่ในแอพพลิเคชั่น VK นานกว่า 3 เดือน กระทั่งจับกุมตัวการใหญ่ “แอดมินโคตรวาร์ป” เปิดตัว เคลื่อนไหวอยู่ในแอพพลิเคชั่น VK มีสต๊อกภาพลามกอนาจารกว่า 300,000 ไฟล์ เป็นคลังภาพอนาจารที่แชร์ลงในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เปิดกลุ่มวีไอพี มีกรุ๊ปลับเฉพาะ

แอดมินรายนี้เป็นเพียงแค่รายเดียวเท่านั้น จากการสืบสวนพบว่ายังมีอีก เพียงแต่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน การเข้าถึงตรวจสอบป้องกันยังเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ไทยยังไล่ตาม!!

ภัยร้ายสื่อลามกที่คุกคามสังคมไทย อีกเรื่องใหญ่ที่นานาชาติกำลังจับตา คือสื่อลามกเด็ก การใช้เด็กเป็นเหยื่อสร้างภาพ-คลิปอนาจาร ซึ่งตำรวจไทยมีคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต หรือ TICAC

เป็นที่น่าตกใจไม่น้อยที่มีภาพไฟล์จำนวนมากลักลอบการส่งต่อ โดยเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ เกิดคำถามว่าจุดอ่อนกลไกการป้องกัน ปราบปรามของไทยคือบุคลากรที่มีความสามารถ หน่วยงาน หรือกฎหมาย

ในเมื่อมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายขึงพืด เอาผิดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโดยไม่สุจริต แต่เหตุใดเว็บโป๊ ไลน์ลับ แอพพลิเคชั่นเฉพาะกลุ่มจับกุมยากยังมีเกลื่อน หรือกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มี แต่สื่อลามกในโลกออนไลน์จึงยังเกลื่อน

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ หรือ “ผกก.อ้อ” ผู้กำกับการ 3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. เปิดเผยว่า การเผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจารเพิ่มขึ้นหลายช่องทางในสังคมไทย ทั้งเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียบางอันในประเทศ โดยเฉพาะเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นจากต่างประเทศที่มีการควบคุมและตรวจสอบได้ยาก

รองโฆษก บก.ปอท. บอกว่า มีการยกระดับจัดตั้งเป็นศูนย์มอนิเตอร์ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว จะมีการรวบรวมข้อมูลเว็บโป๊ต่างๆ และตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายเผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจารที่จะสร้างความเสื่อมเสียในสังคมอย่างที่เคยปฏิบัติมาตลอดเช่นเดียวกับกรณี “เมฆ สวิงกิ้ง” ซึ่งโทษการแพร่ข้อมูลลามกอนาจาร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือถ้ามีการนำภาพไปขาย จะเข้าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287/1 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และยิ่งถ้าเป็นภาพลามกเด็ก โทษก็จะเพิ่มเป็น 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท

“มีการยื่นเรื่องส่งถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ให้ปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจาร โดยเฉพาะสื่อลามกเด็ก สถิติในปี 2561 มีการสั่งปิดเว็บไซต์นี้ 1,500 ราย และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีก และยังมีการประสานกับทางตัวแทนเว็บไซต์สื่อโซเชียลมีเดียรายใหญ่ต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจาร บางเจ้าที่มีนโยบายของเขาอยู่แล้วก็จะให้ความร่วมมือดี ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบและการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล แต่บางสื่อที่ได้มีการพยายามติดต่อประสานไปแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก ในการช่วยควบคุมผู้เผยแพร่สื่อลามกอนาจาร”

รองโฆษก ปอท.กล่าว

รองโฆษกอ้อกล่าวว่า ได้นำกฎหมายในเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาใช้ในการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวเช่นกันคือ มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าพบว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 287 ซึ่งเกี่ยวกับสื่อ “ลามกอนาจาร” นอกจากนี้ หากพบว่ามีเกี่ยวข้องกับเด็กก็จะมีโทษเฉพาะแยกไปอีก อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้หากพบสื่อลามกในเว็บไซต์ เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรา 20 ในการปิดกั้นสื่อเพื่อการเข้าถึงอีกด้วย

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวว่า อยากฝากไปถึงพวกที่ทำเว็บไซต์เหล่านี้ หรือเปิดกลุ่มลับในแอพพลิเคชั่นที่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในการเป็นสื่อกลางเผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจาร

“ไม่ว่าจะเป็นการบังคับขู่เข็ญให้ถ่าย แอบถ่าย หรือยินยอม ซึ่งถ้าเอาภาพมาแจกจ่าย ผิดกฎหมายและเป็นบาปกรรมที่ได้ทำลายอนาคตของคนลงไป ยิ่งถ้าเป็นเด็กยิ่งสร้างบาปอย่างใหญ่หลวงแก่ครอบครัวของเด็ก ส่วนคนที่เข้าไปดู ก็ไม่อยากจะพูดถึง เพราะเป็นรสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคล นอกจากนี้อยากฝากไปถึงครอบครัวที่จะดูแลบุตร-หลานของท่าน ต้องคอยช่วยสอดส่องดูแลการใช้สื่อคอมพิวเตอร์ อย่าให้คนในครอบครัวตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และกลายเป็นเหยื่อทางสังคมของคนที่คิดหาประโยชน์จากผู้อื่นที่ชอบเสพสื่อลามกอนาจาร” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ตัวแทนจากตำรวจ ปอท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากนี้คงต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดว่าจะมี “สื่อลามก” ออกมาในรูปแบบไหนเพื่อหลบเลี่ยงการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยประสิทธิภาพการทำงานเชื่อว่าคงไม่รอดพ้นสายตาตำรวจไทย