คนมองหนัง l “สิงสู่” : “หนังการเมือง” ก็ได้ “หนังผี” ก็ดี

คนมองหนัง

ระยะหลังๆ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ซึ่งกำกับภาพยนตร์และเขียนนิยายควบคู่กันไป ดูจะได้รับอิทธิพลจากงานแนว “ไลต์โนเวล” มาอย่างเด่นชัด

การบอกว่าหนังของวิศิษฏ์มีลักษณะเป็น “ไลต์โนเวล” มิได้หมายความว่างานเหล่านั้นไม่ดีหรือมีความอ่อนด้อยเชิงศิลปะ

ตรงกันข้าม งานแบบ “ไลต์โนเวล” มักห่อหุ้มไว้ด้วยพล็อตเรื่อง บุคลิกลักษณะตัวละคร หรือรายละเอียดเกร็ดข้อมูล ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

ขณะเดียวกัน สารที่ดำรงอยู่ภายในก็ต้องถูกนำเสนอออกมาอย่างคมชัด กระชับง่าย มีคำตอบให้แทบทุกปมปัญหา หรือต้องคลี่คลายสะสางความซับซ้อนยุ่งเหยิงทั้งหลายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในตอนท้าย

ลักษณะเด่นประการหลังนี่เองที่อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าเสียดายในผลงานยุคหลังของวิศิษฏ์อยู่บ้าง ตั้งแต่หนัง-นิยาย “รุ่นพี่” นิยาย “เปนชู้กับผี” และหนังสั้น “Catopia” ใน “Ten Years Thailand” (ผมยังไม่ได้อ่านนิยาย “รุ่นน้อง”)

เพราะสิ่งที่ต้องแลกกับความชัดเจน ก็คือ เสน่ห์และมิติเหลี่ยมมุมของความลุ่มลึกคลุมเครือที่จางหายไป

“สิงสู่” เกือบๆ จะมีอาการทำนองนั้น คือหนังพยายามอธิบายปมปัญหาหรือเปิดเผยเงื่อนปมหลายประการเอาไว้แบบชัดๆ ไม่ปิดบัง

กระทั่งปมปัญหาสำคัญข้อแรกที่ควรมีไว้เพื่อหลอกผู้ชมให้หลงทาง ก็อาจถูกคนดูจำนวนไม่น้อยจับทางหรือนึกหาคำตอบในใจได้ ก่อนที่หนังจะเฉลยปริศนาออกมาบนจอ

ยังดีที่วิศิษฏ์ไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่เขาเลือกจะเดินทางไปให้ไกลขึ้น ด้วยการโยนปริศนาข้อที่สองใส่ผู้ชม แล้วตัดสินใจปิดฉากภาพยนตร์ลงอย่างนุ่มนวลพร้อมกับการก่อกำเนิดขึ้นของคำถามสำคัญข้อใหม่

กระบวนท่าเช่นนี้ส่งผลให้หนังทำงานหรือติดค้างอยู่ในความคิดของคนดูได้ยาวนานขึ้น

แม้ผมอาจไม่ชอบ “รุ่นพี่” มากนัก แต่จุดเด่นประการหนึ่งที่หนังยาวเรื่องก่อนหน้านี้ของวิศิษฏ์ “แชร์” ร่วมกับ “สิงสู่” ก็คือ ทั้งคู่มีลักษณะเป็น “หนังสองหน้า” หรือ “หนังหลายหน้า” ซึ่งเปิดกว้างต่อการตีความ-เข้ารหัสของผู้ชม

ด้านหนึ่ง บางคนอาจพยายามตีความ “สิงสู่” ว่าเป็น “หนังการเมืองร่วมสมัยเข้มๆ” ตามจุดยืนของผู้กำกับฯ ที่กล้าแสดงความเห็นทางการเมืองของตนอย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณะ

ขณะเดียวกัน หนังก็ใส่ลูกเล่น-รายละเอียดบางอย่าง ที่ล่อหลอกชี้แนะให้ผู้ชมคิดเห็นไปทางนั้นได้จริงๆ

แต่อีกด้าน เราสามารถดู “สิงสู่” ในฐานะที่มันไม่ใช่ “หนังการเมืองร่วมสมัย” โดยอาจมองว่านี่เป็นหนังผีไทยที่สนุก เขย่าขวัญ ตื่นเต้นทั้งเรื่อง แถมแปลกใหม่ไปจากมาตรฐานเดิมๆ ของ “เพื่อนร่วมตระกูล” ส่วนใหญ่

นอกจากจะเปิดโอกาสให้หนังสามารถเดินทางไปหาคนหมู่มากได้สะดวกขึ้น สภาวะ “สองหน้า” หรือ “หลายหน้า” อันลื่นไหลเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ความพยายามจะแทนที่ตัวละคร-กลุ่มตัวละคร-สถานที่ในหนัง ด้วยบุคคล-คณะบุคคล-สถานการณ์ในโลกความจริงแบบเป๊ะๆ ตรงไปตรงมา แลดูเป็นเรื่องน่าขันอยู่ไม่น้อย (แต่ก็น่าลอง)

ยากปฏิเสธว่า “สิงสู่” ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

อย่างน้อยสุด หนังก็แสดงให้เห็นภาพถ่ายหมู่ของตัวละคร “นายแม่” และเหล่าสานุศิษย์คนสำคัญแห่ง “สำนักจิตต์อสงไขย” ซึ่งระบุว่าถูกบันทึกไว้ในปี 2549

เราไม่แน่ใจว่าปี 2549 คือปีที่สำนักดังกล่าวก่อตั้งขึ้น หรือเป็นปีที่สำนักเริ่มลงหลักปักฐาน/ฝังราก/สิงสู่อยู่ ณ ฐานที่มั่นดังปรากฏในหนังตลอดทั้งเรื่อง หรือเป็นปีทองที่สำนักเริ่มสถาปนาอำนาจ-ความเข้มแข็งของตนเองได้สำเร็จ

แต่น่าสนใจว่าปี 2549 และรัฐประหาร ณ พ.ศ.นั้น คือต้นเหตุสำคัญแห่งอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่เกาะกินสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยมาต่อเนื่องยาวนานเกินหนึ่งทศวรรษ

ก่อนหน้านี้ ได้ตามอ่าน/ดูบทสัมภาษณ์ของวิศิษฏ์เกี่ยวกับหนัง “สิงสู่” โดยสำนักข่าวออนไลน์เจ้าต่างๆ แบบผ่านๆ

จนแอบตั้งสมมุติฐานไว้เบื้องต้นว่า นี่คือเรื่องราวของ “มนุษย์” ที่เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในจิตใจ กระทั่งเปิดโอกาสให้ “ผีร้าย” เข้าสิงร่าง

(ฉะนั้น มนุษย์ต้องไม่ขลาดกลัวต่ออำนาจ ลัทธิความเชื่อ ตลอดจนมายาหลอกลวงไร้เหตุผลใดๆ ที่มี “ผี” เป็นสัญลักษณ์-ตัวแทน)

ส่วน “ผี” ในหนัง ก็คล้ายจะไม่ใช่เจ้าของร่างตัวจริง แต่เป็นผู้เข้ามาแย่งชิงยึดครองเรือนร่างของคนอื่นโดยไม่ได้รับเชิญ แถมทึกทักว่าร่างนั้นเป็นของตน

ก่อนดูหนัง ผมจึงเริ่มแปะป้าย ประทับตรา เลือกข้างให้ตัวละครสองฝ่ายไว้เสร็จสรรพ ว่าบรรดา “มนุษย์” และ “ผี” ใน “สิงสู่” น่าจะเป็นภาพแทนของใครในสังคมการเมืองไทย

ทว่าพอได้มาดูหนังจริงๆ สถานการณ์ดันกลับตาลปัตร

เพราะเป็นพวกตัวละครมนุษย์ซึ่งเปี่ยมกิเลสตัณหา (พอๆ กับผี) ต่างหาก ที่หลอกลวงกัน ปิดบังความจริงระหว่างกัน ทรยศหักหลังกัน แม้จะอยู่ในครอบครัวหรือร่วมลัทธิพิธีเดียวกัน

มนุษย์บางรายต่างหากที่ทำตนเป็น “นายผี” (นายแม่) หรือ “หมอผี” ซึ่งครอบงำผู้มีจิตศรัทธาด้วยพิธีกรรม ความศักดิ์สิทธิ์ ลัทธิความเชื่อ หรือความทรงจำที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น แถมยังชักนำปัญหาวุ่นวายต่างๆ นานาเข้ามาสู่ครัวเรือน/สังคม

ตรงกันข้าม ฝูงผีวิญญาณเร่ร่อนกลับกลายเป็นตัวแทนของคนเล็กคนน้อย ผู้ถูกกระทำ ผู้ตกเป็นเหยื่อ เป็นคนชายขอบ ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไร้ร่าง ไร้ที่อยู่อาศัย และต้องพลัดพรากจากลากัน แม้จะสังกัดครอบครัวเดียวกัน

ถ้าตีความในแง่นี้ “สำนักจิตต์อสงไขย” จึงเป็นเหมือนสถาบันทางสังคม-การเมือง-ศาสนา ที่ปกครองผู้คนด้วยแนวคิดความเชื่อทางจิตวิญญาณและพิธีกรรมอันซับซ้อน

ก่อนที่ผีในนามของ “ความผิดแผกแปลกประหลาดแสนบิดเบี้ยว” จากภายนอก จะลอยล่องเข้ามากร่อนเซาะ บ่อนทำลาย ท้าทายอำนาจดังกล่าว

หรือบางคนอาจพยายามผสาน “สิงสู่” ให้แนบแน่นลงล็อกกับสังคมการเมืองไทยมากขึ้น ด้วยการตั้งคำถามว่า ก็ “นายแม่” และเหล่าลูกศิษย์ใช่ไหมล่ะ ที่สวดคาถาเรียกผีเข้ามาในบ้าน ครั้นพวกผีแปลกปลอมสามารถ “สิงสู่/ฝังรากลึก” ได้สำเร็จ “นายแม่” และลูกๆ ก็ต้องทุกข์ตรมประสาทเสียกันไปเอง

ตามการตีความแบบนี้ “สำนักจิตต์อสงไขย” อาจเป็นภาพแทนของม็อบการเมืองบางกลุ่ม ขณะที่ “วิญญาณเร่ร่อน” อาจมิได้หมายถึงคนเล็กคนน้อยที่ถูกสังคมการเมืองเพิกเฉยละเลยเสียแล้ว

“สิงสู่” คือ หนังผีไทยที่น่าสนใจ ทั้งเพราะการเลือกพึ่งพาทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดง (โดยไม่ใช้เทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์-ตามข้อมูลของผู้สร้าง) ซึ่งเป็นวิธีการที่ “เวิร์ก” ของหนังผีฝรั่งยุคหนึ่ง แต่แทบไม่เคยปรากฏในหนังผีไทย

ในแง่การดำเนินเรื่องราว หนังมีจังหวะให้ตื่นเต้นอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม โทนอารมณ์ของ “สิงสู่” นั้นเข้าข่าย “เขย่า/กระตุกขวัญ” มากกว่าจะทำให้หลอน หวาดผวา ขนหัวลุก

ส่วนในแง่โครงสร้างความคิด การพยายามอธิบาย-ร้อยเรียงแนวคิดเรื่องวิญญาณ ความทรงจำ การเดินทาง และการเปลี่ยนผ่าน เข้าหากัน ก็น่าสนใจดี เพียงแต่ประเด็นนี้อาจถูกนำเสนออย่างชัดเจนเกินไปในหลายช่วงตอน ผ่านข้อความตัวหนังสือหรือคำพูดจากปากตัวละคร

ทั้งที่เอาเข้าจริง มันได้แฝงเร้นอยู่แล้วอย่างแนบเนียนทรงพลังในโครงเรื่องว่าด้วยครอบครัว/วงศ์ตระกูล-ความทรงจำ-วิญญาณ ที่ซ้อนไปทับมา ผ่านความสัมพันธ์ “แม่-ลูก” ของนายแม่และเดช “พ่อ-แม่-ลูก” ของเดช ปราง และลูกที่แท้ง “ลูกกำพร้า-ป้าที่เป็นเหมือนพ่อแม่” ของสร้อยกับเครือ และ “พ่อ-แม่-ลูก” ของวิญญาณเร่ร่อนสามดวง

มีรายละเอียดอีกสองประเด็นที่น่ากล่าวถึง

ข้อแรก คือ ประเด็นผี/วิญญาณกับ “การฝังราก” ใน “สิงสู่” ซึ่งทีแรก ผมคาดเดาไปเองว่า “การฝังราก” อาจมีนัยยะของการยึดครองอำนาจในทิศทางแบบ “บนลงล่าง” หรือ “ศูนย์กลางแผ่ขยายออกสู่ชายขอบ”

แต่เมื่อดูหนังจบ “การฝังราก” แบบวิศิษฏ์ กลับทำให้ผมย้อนนึกไปถึงหนังเรื่อง “ตะเคียน” ของ “เฉลิม วงค์พิมพ์” ซึ่งออกฉายในยุคที่คำว่า “รากหญ้า” กำลังฮิต (พ.ศ.2546)

สิ่งที่เฉลิมทำในหนังเรื่องดังกล่าว ก็คือ การกำหนดให้ “ผีนางตะเคียน” ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา (การสร้างเขื่อน) ปล่อยรากตะเคียนที่ไม่ใช่แค่รากหญ้าจิ๋วๆ พุ่งทะลุทะลวงร่างของผู้มีอำนาจ

ผมรู้สึกว่า “การฝังราก” ของวิศิษฏ์ กับ “รากตะเคียน” ของเฉลิมนั้น อาจมีความหมายคล้ายคลึงกัน ในแง่ของการต้านทานอำนาจจาก “ล่างขึ้นบน”

อีกข้อที่เข้าท่ามากๆ คือ ภาษาที่สัมพันธ์กับอำนาจของตัวละคร

ช่วงต้นเรื่อง “ภาษาบาลี” และภาษาโบราณอื่นๆ ถูกฉวยใช้โดย “นายแม่” และกลุ่มลัทธิพิธีของเธอ ในฐานะที่เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ภาษาเรียกวิญญาณกลับคืนร่าง ภาษาสะกดผีเร่ร่อน ผ่านบทสวดต่างๆ

แต่ท้ายที่สุด เราจะพบว่าวิญญาณเร่ร่อนสามดวงก็พูดจาสื่อสารด้วยภาษาแบบเดียวกัน การบุกเข้าจู่โจม/สิงสู่สมาชิก “สำนักจิตต์อสงไขย” ก็ดำเนินผ่านการนัดหมายกันด้วยภาษาชนิดนี้

เท่ากับว่าฐานานุศักดิ์หรือลำดับชั้นทางภาษาได้ถูกทุบทำลายลง พร้อมๆ การแทนที่/สลับตำแหน่งกันระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ

สุดท้ายนี้ ยังยืนยันและอยากย้ำเตือนว่าผลงานหนังยาวในระยะหลังๆ ของวิศิษฏ์มีลักษณะ “หลายหน้า”

ดังนั้น จะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไปพยายาม “กักขัง/ปิดผนึก” ตัวละครและเรื่องราวในหนังของเขา ให้ลงล็อกประกบติดกับตัวแสดงต่างๆ ในโลกความจริงของสังคมการเมืองไทย

กระทั่งไม่เหลือที่ว่างสำหรับภาวะไหลเลื่อนหรือความเป็นไปได้ชนิดอื่นๆ