(S)election : เจาะความเหลื่อมล้ำ ความยากจนในไทย นักการเมืองรุ่นใหม่มีทางแก้อย่างไร

“ความยากจน” ปัญหาคู่สังคมไทย

หนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังสังคมไทยและอยู่ร่วมมานานหลายทศวรรษที่ถูกหยิบยกเสมอนั้นคือ “ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ”

ถือเป็นประเด็นสุดคลาสสิคที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความหวัง หรือข้อโจมตีเพื่อทำลายความน่าเชื่อถืออีกฝ่ายพียงเพราะไม่สามารถแก้ “จน” ได้จริงอย่างที่ต้องการ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงบนโลกของทุนเสรีนิยมใหม่ ตัวชี้วัดมาตรฐานในการวัดและขีดเส้นแบ่งคนรวย-คนจนที่มักได้ยินคือ จีดีพี และเส้นรายได้ขั้นต่ำ แต่ในเวลาเดียวกัน เริ่มมีกระแสแนวคิดของการตีความยากจนขึ้นใหม่ ที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ความยากจน” ไม่ได้ถูกเจาะจงเฉพาะจำนวนเงินในมือเพียงอย่างเดียว

ตลอดกว่า 4 ปี ของรัฐบาลคสช.ได้ให้คำมั่นจะแก้ไขเศรษฐกิจแต่ก็ต้องเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม ล่าสุดกรณีแจกเงิน 500 บาทก็ถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าซื้อเสียงเชิงนโยบาย จนกระทั่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล คสช.ถึงกับพูดเพื่อตอบโต้กระแสวิจารณ์ว่า “คนจะอดตายอยู่แล้ว” แต่ประโยคดังกล่าวกลับกลายเป็นสร้างความกังขาต่อความเชื่อมั่นในคำพูดของผู้มีอำนาจที่เคยพูดว่า “คนจนจะต้องหมดไปจากประเทศไทย”

ถ้าหาก “ความยากจน” “คนจน” “ความเหลื่อมล้ำ” คือปัญหา ทางออกจากปัญหานี้คืออะไร?

 

นิยามใหม่ของ “ความยากจน” และสถานการณ์ความจน-ความเหลื่อมล้ำในไทย

นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวตอนหนึ่งในงาน “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” ที่จัดโดยสมัชชาคนจนและเครือข่ายภาคประชาชนว่า สิ่งที่เกิดขึ้น 4 ปีเศษ จะช่วยยืนยันสิ่งที่เรานิยามถึงความยากจน จากที่เราดำเนินกิจกรรมมาตลอด 20 ปี ได้ตระหนักชัดแล้วว่าความยากจนที่เรานิยามไม่ได้หมายถึงการมีเงินหรือรายได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การมีสิทธิและโอกาส ซึ่งสิทธิและโอกาสถูกจำกัดจากสิ่งที่เรียกว่า อำนาจทางการเมือง

“ถ้าการเมืองในความหมายของกระบวนการตัดสินใจในการใช้นโยบายทรัพยากรสาธารณะ ถ้าคนจนได้มีส่วนร่วมแล้ว ก็จะทำให้เราไปจุดร่วมกัน ตลอด 4 ปีนั้นเห็นชัดแล้วว่า เราถูกลิดรอนสิทธิในการแสดงออกและเคลื่อนไหว ผลพวงที่เกิดขึ้นคือ จนกันมากขึ้น”

นายอนุสรณ์ กล่าว

 

ด้านผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า ในอดีต มายาคติในการแก้ไขปัญหาความยากจนของไทย มี 2 แนวคิด แนวคิดแรก แก้ไขบนแนวคิดของการสงเคราะห์ ทำบุญให้ทาน สร้างเสริมบารมีจากผู้มีอำนาจเพื่อแสดงความเหนือกว่า ไม่ได้มองการแก้ไขว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่มองเป็นเรื่องความเมตตาสงสาร และคนจนถูกนิยามบนความเชื่อว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม ถูกโชคชะตากลั่นแกล้ง เป็นเวรกรรม ถ้าทำความดีก็จะไม่ต้องอยู่กับความยากจน

แนวคิดที่ 2 มองความยากจนเพราะไม่มีเงิน เป็นแนวคิดที่ก่อตัวในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกเข้าสู่ทุนนิยม เปลี่ยนการมองคนยากจนจากเคราะห์กรรมเป็นไม่เข้าถึงระบบ ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพเพื่อเกิดรายได้ ปรับตัวไม่ทัน ต้องแก้ด้วยให้ความรู้ เพื่อให้มีงานและทำรายได้ เป็นการส่งเสริมให้คนหางานเพื่อหล่อเลี้ยงระบบ จีดีพีและการวัดรายได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

ผศ.ดร.สมชาย ได้เปิดข้อมูลตัวเลขบนตัวชี้วัดเส้นความยากจน โดยประเทศไทย เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,685 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าเส้นความยากจนต่ำมากจากการใช้จ่าย ทำให้ในปี 2560 มีคนจนในไทย 5.3 ล้านคน คิดเป็น 7.7%ของประชากรทั้งหมด แต่พอมาดูจำนวนที่ลงทะเบียนซึ่งมีเกณฑ์สูงกว่าเส้นความยากจน มีคนยากจนประมาณ 14 ล้านคน และได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน

ซึ่งจำนวนนี้ภาครัฐได้ตรวจสอบและระบุว่าเป็นคนยากจน

 

ผศ.ดร.สมชาย ยังกล่าวถึงข้อมูลของ TDRI มีประมาณการคนยากจนที่ตกหล่นเพราะอยู่ชายขอบและเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอยู่ที่ 8 แสนคน มีคนไร้สัญชาติที่ตกหล่นไม่ได้ทำบัตรประชาชนมีถึง 1.8 ล้านคน และไม่ได้รับสวัสดิการ

ส่วนข้อมูลความเหลื่อมล้ำของ Credit Suisse ที่ระบุว่า การกระจายรายได้และทรัพย์สินของไทย มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวยที่สุด 1% ครอบครอง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งหมด ในขณะที่คนจนที่สุด 1% ไม่มีเลย จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ตัวเลขทรัพย์สินและการกระจายไม่ทั่วถึง การถือครองที่ดินก็เช่นกัน เมื่อปี 2556 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สรุปการศึกษาดังกล่าวคนจนที่สุด 20% ถือครองที่ดินแฉลี่ย 29 ตารางวา ขณะที่คนรวยที่สุด 20% ถือครองที่ดิน 23 ไร่ ส่วนบัญชีเงินฝากธนาคาร 86.3 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของทั้งประเทศมีเงินไม่ถึง 5 หมื่นบาท ส่วนหมื่นกว่าบัญชีมีเงิน 50 ล้านขึ้นไป

นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ยิ่งพัฒนา ยิ่งจนลง”

 

มุมมองและทางออกปัญหาจากนักการเมืองรุ่นใหม่

นายคริส โปตระนันทน์ สมาชิกร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับระบบทุนนิยมที่ต้องมีความเหลื่อมล้ำ แต่ความเหลื่อมล้ำสูงที่สูงผิดปกติต่างหากที่ไม่ปกติ ในระบบปกติ ไม่มีใครถือครองทรัพย์สินเท่ากัน ถ้าถือครองเท่ากันมีแต่ระบบคอมมิวนิสต์ แต่ถ้าเป็นทุนนิยมที่ความเหลื่อมล้ำสูงผิดปกติ ต้องมาดูว่ามีอะไรผิดปกติในระบบ และความเหลื่อมล้ำสูงผิดปกติในไทยเกิดจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการกฎหมายและโครงการของรัฐ ทำให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องแข่งขัน ยกตัวอย่าง ใบอนุญาตผลิตเบียร์ ด้วยกำหนดมากมาย จะเอื้อไม่กี่บริษัท แต่บริษัทขนาดเล็กได้ยาก แต่บริษัทใหญ่เหล่านี้ก็แข่งขัน เพียงแค่ได้ส่วนเกิน ไม่มีการแชร์ส่วนแบ่งตลาดให้เจ้าอื่น และเมื่อพวกเขาสั่งสมทุนในระบบเศรษฐกิจผูกขาด ก็จะเริ่มเอาเม็ดเงินไปลงอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ขยายตัวได้เร็ว และมีได้ทุนก้อนใหญ่ก็ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน

“ทุนใหญ่เหล่านี้ก็เข้าหารัฐบาลเลือกตั้ง ทุนไทยมีลักษณะที่เรียกว่า “ทุนเครือญาติ” เข้าหาพรรคพวกเพื่อได้ทำโครงการใหญ่ แต่กับรัฐบาลทหารตลอดกว่า 4 ปี นั้นรุนแรงกว่าตรงที่ รัฐบาลทหารเห็นทุนเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเชิญพวกเขามาคุย เห็นชัดได้จากกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่กำหนดไว้เฉพาะร้านที่ขายสินค้าของกลุ่มทุน แม้ตอนหลังปรับให้ถอนเงินสดได้” นายคริส กล่าว

นายต้น ณ ระนอง รุ่นใหม่จากพรรคไทยรักษาชาติกล่าวว่า ผมเห็นเป็นเรื่องอันตราย และผลักดันตลอด ผมเคยพูดในที่ประชุมแล้วว่า โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราจะทำยังไงให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงเพื่อพัฒนาตนเอง และต้องสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ได้ โดยมีนโยบายรัฐบาลสนับสนุนอย่างสมดุล เป้าหมายเราคือ ความเหลื่อมล้ำต้องน้อยลง

“นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือน้อยลง วันนี้ตัวเลขบอกชัดแล้ว หลังมีเสียงบ่นจากประชาชน พอเราเป็นอันดับ 1 เรื่องนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วง ถ้าเราเป็นรัฐบาลเข้าไป ก็ต้องผลักดันนโยบายให้ชัดเจน เราสูญเสียมาตลอด 5 ปีในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งไม่น่าใช่ทางที่ถูกต้อง” นายต้น กล่าว

เมื่อถามถึงทางแก้ไขปัญหาของพรรคไทยรักษาชาติ นายต้นกล่าวว่า ต้องให้เครื่องมือ ไม่ใช่ปู 4.0 ให้กับชาวบ้าน แต่ต้องค่อยๆเรียนรู้ว่า ว่า 2.0, 3.0คืออะไร แต่ในขณะเดียวกัน คำว่าค่อยๆเองยังต้องแข่งกับเวลา ทุกอย่างหมุนเร็วจนน่าอันตรายและสามารถตายได้ถ้าเราไม่ทัน

ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เรามีรัฐบาลที่โดดเด่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนเช่นในยุคของรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างนโยบายเงินผัน และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทั้ง 2 รัฐบาลถูกโจมตีหนักว่าเงินรั่วไหล เกิดการทุจริต แต่พอเวลาผ่านไป นโยบายส่งผลชัดต่อคนจนให้มาเป็นชนชั้นกลางได้มาก เราต้องนำบทเรียนมาเป็นแนวทางโดยไม่มีอคติ สำหรับพรรคเพื่อชาติ จะสนใจแก้ไขเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำให้เป็นวาระแห่งชาติ การท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่นนำมาบูรณาการ

“การแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่อยากให้มองเฉพาะในประเทศ เพราะสหประชาชาติได้กำหนดให้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องเร่งด่วน และปัญหาความยากจนของเราต้องถูกยกระดับให้เป็นปัญหาระดับโลก ดูว่าต่างประเทศทำยังไงถึงประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ปัญหาในไทยต้องแก้แบบไทยๆอย่างเดียว เราต้องเปิดโอกาสเรียนรู้จากที่อื่นมาร่วมพัฒนาด้วย” ดร.รยุศด์ กล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาของประชาธิปัตย์แบ่งเป็นระยะสั้น คือ ประกันรายได้ให้คนไทยทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนรายได้น้อยและผู้ยากไร้ บัตรสวัสดิการที่ออกมาแม้เจตนาดีแต่ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขความยากจน ถ้าช่วยจริง ต้องไม่ผูกมัดเงื่อนไขว่าต้องใช้เงินกับอะไร เฉพาะร้าน ไม่ตกถึงมือแม่ค้าทั่วไป ทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ไปสู่มือนายทุน และทำให้ข้อมูลผู้ถือบัตรเป็นข้อมูลเป็นผ่านการแจ้งภาษี ส่วนเกษตรกรก็มีการประกันรายได้ โดยรัฐสมทบส่วนต่างชดเชย แต่ไม่ประกันจนทำลายกลไกตลาด และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานโดยไม่กระทบผู้ประกอบการ ในระยะยาวมองที่การศึกษา ถ้าเด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนที่ดี ก็จะมีงานทำที่ดี นโยบาย 10 หลักของพรรคยังมีนโยบายเบี้ยเด็กเข้มแข็ง เพื่อให้เด็กเข้าถึงโภชนาการที่ดี รวมถึงการเรียน ปวส.ฟรี เพราะสายอาชีวะจะมีโอกาสมากขึ้น

นายพริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่านโยบายที่เป็นเชิงรัฐสวัสดิการ ถ้าใครไม่มีแรง รัฐก็ช่วยประคับประคอง ไม่ว่าคุณเป็นใคร และพรรคจะมีการพัฒนาตัวชี้วัดของตัวเองเพื่อประเมินคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย

ถ้ามีตัวชี้วัดใหม่ รัฐบาลจะมุ่งนโยบายที่ถูกต้องมากขึ้น