เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ปากกาทองท่องธารกว๊านพะเยา

โครงการ “กวีปากกาทอง” สุดท้ายของปีนี้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

รับลมหนาวผ่านกว๊าน สะท้านใจนัก

มาพะเยาก็ต้องขอเข้าคารวะพ่อเมืองพะเยาคนใหม่ “วีรบุรุษถ้ำหลวง” ทันที เป็นกรณีพิเศษ

พิเศษตรงได้มอบบทกวีชุด “ขุนน้ำนางนอน” ที่เขียนจากความบันดาลใจเหตุการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่สี่บทเรื่อง เริ่มแต่วันรู้ข่าวทีมหมูป่าติดถ้ำ จนถึงวันได้รับความร่วมมือจากชาวโลกระดมช่วยเหลือ และวันรู้ว่าเด็กปลอดภัย จนถึงบทสรุป

คณะของเรามีอาจารย์ ม.พะเยา จนท.ธ.กรุงเทพ ทั้งจากฝ่ายประชาสัมพันธ์และผู้บริหารท้องถิ่น กับคณะวิทยากรทั้งจากส่วนกลางและพื้นถิ่น

เรารายงานแสดงความชื่นชมในวีรกรรมครั้งสำคัญโดยสังเขปคือ งานนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงองค์คุณแห่งพระไตรรัตน์สามประการ

1 สมาธิธรรม แสดงออกด้วยการบำเพ็ญสมาธิของทีมหมูป่าระหว่างติดอยู่ในถ้ำ สมาธิเป็นบาทฐานความเป็นพุทธะซึ่งเป็นพระพุทธคุณ

2 มนุษยธรรม แสดงออกด้วยสภาวะที่ชาวโลกร่วมเอาใจช่วยและให้ความช่วยเหลือแทบจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งโลก รวมทั้งคนไทยทุกคน เราต้องใช้เวลาเท่าไร งบประมาณเท่าไรจึงจะเปลี่ยนโฉมภาพลักษณ์ของไทยเราได้ขนาดนี้ ดังเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ นี้คือองค์คุณของพระธรรมอันเป็นพระธรรมคุณ

3 สามัคคีธรรม แสดงออกด้วยการทำงานเป็นคณะเป็นทีมด้วยกันทั้งหมด ตั้งแต่ทีมติดถ้ำ ทีมผู้ช่วยเหลือ ทีมผู้สื่อข่าว ซึ่งแทบทั้งหมดนี้สำเร็จด้วยการบริหาร ดูแล กำกับและกำหนดการสั่งการโดยท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร สามัคคีธรรมนี้คือองค์คุณแห่งสังฆะ อันหมายถึงความเป็นหมู่คณะพระสังฆคุณโดยแท้

เหตุการณ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้สะท้อนถึงองค์คุณครบครันแห่งพระไตรรัตน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันยากยิ่งจะหาเหตุการณ์ใดมาเสมอเหมือนได้

นี้คือสัจธรรม เป็นสัจการสากล กอปรด้วย ตั้งใจ ทำดี และร่วมมือกัน ย่อมสำเร็จบรรลุได้ในกิจทั้งปวง

กล่าวสัมโมทนียกถาดังนี้แล้วท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ก็เล่าถึงการทำงานครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายปานใด แล้วสรุปเป็นข้อคิดที่ท่านใช้ในชีวิตการทำงานจนถึงวันนี้ว่า

“จงทำงานโดยคิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย เหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้”

ถ้าเราจะยกย่อง “บุรุษแห่งปี” ประจำปีนี้กันแล้วก็ขอยกท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร วีรบุรุษถ้ำหลวงเป็นบุรุษแห่งปี ประจำปี พ.ศ.2561 นี้ได้เลย

ไม่ยกย่องบุคคลผู้ยังภารกิจเป็นคุณแก่ภาพลักษณ์ของประเทศได้ถึงปานนี้แล้ว ก็จะไปยกย่องใครกันได้อีกเล่า

วิทยากร “กวีปากกาทอง” เที่ยวนี้ นอกจากกวีเรวัติ พันธ์พิพัฒน์ พี่โยของน้องๆ แล้วก็มีกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนปัจจุบัน กับศิลปินแห่งชาติคนล่าสุด “ป้ายแดง” คือ พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล คนพะเยาแต๊ๆ เจ้า

คณาจารย์ร่วมงานให้ความอนุเคราะห์โครงการแห่งมหาวิทยาลัยพะเยา มีท่านผู้รักษาการแทนอธิการบดีคือ รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ มีคณบดีคณะศิลปศาสตร์คือ รศ.พูนพงษ์ งามเกษม และประธานหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์คือ ผศ.ดร.วรวรรธน์ ศรียาภัย

มีนักศึกษาและนักเรียนจากสองโรงเรียนคือ แม่ใจวิทยาคมกับพญาลอวิทยาคม รวมทั้งสามสถาบันราวสองร้อยคนโดยประมาณ

เริ่มด้วยวิทยากรแต่ละคนพูดปูพื้นฐานความสำคัญของภาษาไทยและกวีนิพนธ์ด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต ทั้งการรักอ่านรักเขียนอย่างจริงจังจนถึงวันนี้

ภาคบ่ายเป็นกิจกรรมฝึกเขียนบทกวี ซึ่งผลที่ได้คือ ทั้งครู อาจารย์ นักศึกษาและนักเรียนล้วนแต่งกวีปากเปล่าสดๆ กันได้เดี๋ยวนั้นทันทีเลย

เลิกเย็นฝากการบ้านให้แต่งบทร้อยกรองส่งตอนเช้า ระหว่างคณะวิทยากรช่วยกันอ่านพิจารณาคัดเลือกให้สำนวนดีที่สุดได้ “ปากกาทอง” เป็นช่วงฉายหนังเรื่อง DEAD POETS SOCIETY หรือ “ชมรมกวีไร้ชีพ” ดูจบแล้วร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหนังเรื่องนี้

คร่าวๆ แค่นี้ แต่เป็นสองวันที่ช่วยกันปลุกกวีให้ฟื้นคืนชีพได้อย่างน่าอัศจรรย์

ไม่ได้มาพะเยาหลายปี เหมือนจะเป็นช่วงต้นๆ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยและเปลี่ยนชื่อจาก ม.นเรศวรเป็น ม.พะเยาวันนี้

ตื่นตากับพื้นภูมิทำเลของอาคารสถานที่อันอยู่ท่ามกลางดอยลอยลอหลั่นตระหง่านสมภูมิประเทศยิ่ง

สมัยเมื่อแรกมานั้น อาจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข แห่งดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีโครงการดำริให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพเชิญศิลปินเอกๆ ของโลกจากนานาชาติสักปีละหนึ่งคนมาสร้างสรรค์ผลงานที่นี่ ให้พักอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างงานและให้ความรู้แก่นักศึกษาผู้สนใจ ตามกำหนดเวลาที่เป็นไปได้ อันเป็นโครงการดีมีประโยชน์ยิ่ง ด้วยศิลปินจะได้บันดาลใจจากสถานที่นั้นๆ เป็นข้อมูลสร้างผลงาน และงานนี้แหละจะเผยแพร่ไปยังกลุ่มผู้ชื่นชอบงานของศิลปินนั้นในระดับสากลเอง

วิธีนี้หลายประเทศเขาทำกันแล้ว และได้ผลดียิ่งด้วย ศิลปินที่แท้ไม่เรื่องมาก เหมือนที่เราชอบคิดมากกันอยู่นี่

ฝาก ม.พะเยาด้วยนะ

เท่าที่เห็น นอกจากความงามสงบของพื้นภูมิในอาณาจักรของ ม.พะเยาแล้ว ความงามของกว๊านพะเยาก็ยังสงบงามอยู่ตามธรรมชาติไม่เปลี่ยนเลย

นี้เป็นเสน่ห์ของพะเยาที่ไม่เหมือนใคร และไม่ควรจะเหมือนใครด้วย

อยากเห็นงานศิลปะดีๆ ที่ช่วยเสริมให้บรรยากาศรอบริมกว๊านพะเยาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ดังมีที่ประดับอยู่รายริมหาดเมืองนาตรังเวียดนามด้วยงานประติมากรรมหลากหลายเป็นระยะๆ ไปตลอด

กว๊านพะเยานี่แหละเป็นเวทีที่ทิวฟ้า ทิวน้ำและทิวเขากำลังสำแดงอลังการแห่งความสงบงามตามธรรมชาติเป็นปกติอยู่แล้ว แค่แต่งเติมให้คนได้ซึมซับประทับใจด้วยงานศิลปะที่ดีที่ไม่ทำลายต้นฉบับความเป็นตัวเองของพะเยาอันดำรงอยู่นี่ก็จะเจียระไนพะเยาให้เยี่ยมยิ่งให้ได้

สมภูมิพะเยา

กว๊านพะเยา

น้ำฟ้ามาละลายเกลื่อนกลายกัน

กลืนแสงตะวัน เวิ้งว้างว่าง

ริ้วริ้วดอยหลวง เลือนเลือนราง

คว้างคว้างฝังครึ้ม ทึมเทา

พริ้วพริ้วแพผักพะพรายพร่าง

เรือรางรางลอบค่อยคล้อยเข้า

นกวับวับพลิ้ว เพียงเงินเงา

แดดเช้า ค่อยช้าค่อยฉายชัด

แผ่นน้ำ แผ่นฟ้า เป็นแผ่นเดียว

ค่อยเขียวค่อยกระจ่างแจ่มจรัส

ลมพ้องน้ำแผ่วเพียงแผ่วพัด

ถัดถัดเทือกทิวเมฆปลิวปราย

สุดน้ำ สุดฟ้า สุดตามอง

สุดสองฝั่งไกล จนใจหาย

ชีวิตเวิ้งว้าง และว่างวาย

แทบชายฝั่งธาร กว๊านพะเยา