“สะฅ่วย” (ผู้มีอันจะกิน) ก็เป็นทุกข์ได้ ไปดูวิธีที่คนล้านนา สอนใจให้ลูกหลานประหยัด!

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กิ๋นง่ายจ่ายอ่วย เป๋นสะฅ่วยก่อตุ๊ก”

ถ้อยคำสำนวนนี้คนล้านนาเก่าแก่ใช้สอนลูกหลานให้รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ เนื่องจากเป็นสำนวนโบราณจึงมีศัพท์สแลงของภาษาล้านนาที่น่าสนใจดังนี้

คำว่า “อ่วย” ในพจนานุกรมล้านนาไทยฉบับแม่ฟ้าหลวงแปลว่า สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น จึงทำให้คำว่า “ง่าย” จากวลีแรก ตามความหมายในบริบทนี้ ไม่ได้แปลว่า กินง่ายอยู่ง่าย ไม่ยุ่งยาก กินธรรมดาๆ กินอะไรก็ได้ กลายเป็น “ง่าย” ที่ต้องการให้สัมผัสเสียงกับคำว่า จ่าย และแปลได้ว่า กินไม่บันยะบันยัง แบบตามใจปาก ไม่มีความระมัดระวัง ของแพงเท่าใดก็จะซื้อมากินอย่างไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ

คำว่า “สะฅ่วย” เป็นคำเก่า ปัจจุบันแทบจะไม่เคยได้ยินใครพูดกันแล้ว ตามพจนานุกรมข้างต้น แปลว่า กฎุมพี หรือ ผู้มีอันจะกิน

และอาจจะพบคำนี้ เขียนได้ในอีกหลายแบบคือ ซะฅ่วย สะช่วย สะโฅ่ย เป็นต้น

สุดท้ายคือคำว่า “ตุ๊ก” หรือ ทุกข์ ในภาษาล้านนา ไม่ได้แปลว่า ความทุกข์ หรือ ความทนได้ยาก หรือ ความยากลำบาก แบบภาษากลาง เท่านั้น แต่ในภาษาล้านนาคำว่า “ทุกข์” ยังแปลว่า ความยากจน ได้ด้วย

สำนวน “กิ๋นง่ายจ่ายอ่วย เป๋นสะฅ่วยก่อตุ๊ก” จึงมีความหมายว่า หากกินและใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย แม้ว่ามีสตางค์มากมาย ในที่สุดทรัพย์สินจะหมด กลายเป็นคนยากจนได้

นอกจากมีสำนวนนี้สอนลูกหลานแล้ว คนล้านนายังมีนิทานพื้นบ้านสอนสำทับให้รู้จักอดออมดังนี้

มีชายสองคนเป็นเพื่อนกัน คนแรกเป็นลูกคนมีเงิน อีกคนหนึ่งครอบครัวยากจน

สองคนชวนกันไปดูดวง หมอดูทักว่า ชายคนแรก อนาคตคือเศรษฐี มหาเศรษฐี ส่วนชายอีกคนหมอดูทำนายว่า อนาคตเป็นยาจกขอทานแน่นอน

ตั้งแต่นั้นมา ชายคนแรกก็ไม่ทำงานทำการ เอาแต่กิน นอน เที่ยวเล่น นอนรอดวงที่จะได้เป็นเศรษฐี ทำแบบนี้ทุกวันจนเงินที่มีอยู่หร่อยหรอ ในที่สุดต้องไปขอทานประทังชีวิตกลายเป็นตุ๊กกะตะ (ทุคตะ แปลว่าคนยากจนเข็ญใจ)

ส่วนชายคนที่สอง กลัวว่าอนาคตจะต้องเป็นยาจก จึงมุมานะทำมาหากิน ประหยัดอดออม จนกลายเป็นคนมีเงิน และเป็นเศรษฐีในที่สุด

นิทานเรื่องนี้สอนว่า อย่าเชื่อหมอดู อย่าหวังพึ่งดวง ความมัธยัสถ์นั้นจำเป็น และการกระทำของตนแน่นอนที่สุดสำหรับการกำหนดอนาคต