บทวิเคราะห์ : เพื่อไทยจัดกระบวนทัพ สยบศึกใน รับมือศึกนอก สู่เป้าหมายชนะเลือกตั้ง “62

พ้นเดดไลน์วันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 90 วันตามรัฐธรรรมนูญ หากจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่บรรดาอดีต ส.ส.ที่จะลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งแต่ละเขตจะต้องสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

สถานการณ์คนย้ายเข้า-มูฟออกของแต่ละพรรคจึงชัดเจนขึ้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีปรากฏการณ์เครื่องเทอร์โบของบางพรรคจะเปิดสวิตช์ดูดอย่างหนักจนทำเอาหลายพรรคเซไปบ้างก็ตาม

โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่มีสมาชิกย้ายออกมากที่สุดราว 30 คน ก็เริ่มหายใจหายคอไม่ทั่วท้องมากขึ้นด้วย

ดังนั้น เมื่อตั้งหลักได้ในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” จึงได้เรียกบรรดาสมาชิกพรรค ไล่ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี แกนนำพรรค อดีต ส.ส. ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. คณะทำงาน ไปจนถึงสมาชิกพรรคทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัดมาประชุมพร้อมหน้ากันเพื่อจัดทัพรับเลือกตั้ง

และแน่นอนว่ามากันครบ ไม่ตกหล่นให้ต้องถามหาแม้แต่คนเดียว



ในการเรียกสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศมาประชุมในครั้งนี้ นัยหนึ่งคือการเช็กชื่อสมาชิกว่า ใครอยู่ ใครไป หรือใครเอาใจออกห่าง

นัยหนึ่งคือการเรียกมาซาวเสียง เพราะการแบ่งเขตที่มีปัญหาของ กกต. และการลดเขตเลือกตั้งให้น้อยลงจากเดิมทำให้หลายพื้นที่ยังมีปัญหาเคลียร์กับผู้สมัคร ส.ส.ไม่ลงตัวในพื้นที่ทับซ้อนยังไม่รู้ว่าจะจัดสรรคนลงกันอย่างไร

อีกนัยหนึ่งคือการเรียกมาปลุกขวัญและให้กำลังใจ เพราะจากนี้ไปคือการเดินหน้าเข้าสู่เกมการแข่งขันในฐานะทัพหลวงอย่างเต็มรูปแบบ

ที่น่าจับตาคือ บรรยากาศในห้องประชุมอัดแน่นไปด้วยอดีต ส.ส. จู่ๆ คุณหญิงหน่อย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็กล่าวถึง “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาทางการเมืองด้วยน้ำเสียงและถ้อยคำที่แปลกไปจากเดิม

ประมาณว่า วันนี้ท่านเฉลิมได้ให้เกียรติมานำทีมตั้งวอร์รูมในช่วงเลือกตั้ง เพื่อช่วยผู้สมัครทุกคนในการเลือกตั้งครั้งนี้

ขณะที่ “อาเหลิม” ก็ลดดีกรีความแรง กล่าวถ้อยคำหวานตอบกลับ “หญิงหน่อย” ในลักษณะขอบคุณประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรค พท. ที่ได้ให้เกียรติมาทำหน้าที่ประธานวอร์รูมการเลือกตั้งพรรค พท.

พร้อมกับโชว์ป๋าว่า หากสมาชิกพรรคไม่ว่าจะคนไหนก็ตามมีปัญหาติดขัดสามารถยกหูต่อสายตรงให้ “อาเหลิม” ไปเคลียร์ได้ทันที

คนนอกมองเข้ามาอาจมองว่านี่คือการดำเนินกิจกรรมภายในพรรคธรรมดาๆ กิจกรรมหนึ่ง แต่หากมองให้ลึกขึ้น คือการส่งสัญญาณสงบศึกชั่วคราวระหว่างขั้วอำนาจภายในพรรคเพื่อไทย

เพราะขณะนี้ทัพเพื่อไทยเจอศึกรอบด้าน หากต้องการชนะในการเลือกคตั้งครั้งนี้ ทุกคนในพรรคจะต้องยอมลดเลเวลของตัวเองลง แล้วจับมือกันทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคว้าชัยชนะเลือกตั้ง ส.ส.

 

การยอมถอยแล้วเปิดทางให้ “ร.ต.อ.เฉลิม” เข้ามานั่งหัวโต๊ะวอร์รูม ควบตำแหน่งหัวหน้าทีมปราศรัย เชื่อว่ามีการคิดกันมาอย่างดีแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นาน “ร.ต.อ.เฉลิม” เพิ่งเปิดเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วโพสต์เกี่ยวกับการเมืองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรัฐประหารมา ซึ่งข้อความที่โพสต์เป็นการเหน็บคนที่โวว่าจะมากวาด ส.ส. แถมยังบอกว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่เสนอหน้าต่อสังคม แต่ขาดความเข้าใจทางการเมือง นัยว่าจะตะโกนส่งเสียงให้ดังไปถึงแกนนำบางคนที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร เพื่อนเก่าที่รู้มือกันดี สมัยร่วมกันก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มา

หลายคนเชื่อว่า การเอา “อาเหลิม” มานั่งเป็นหัวโต๊ะวอร์รูมควบหัวหน้าทีมปราศรัยครั้งนี้ ก็เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมทันเหลี่ยม ทันมุม และสามารถฟาดหมัดได้สูสีกับคนระดับแกนนำของพรรค พปชร.นั่นเอง

 

การจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ของเพื่อไทยไม่ได้มีแค่การปรับเอา “หญิงหน่อย” และ “อาเหลิม” มานั่งคุมการเลือกตั้งเท่านั้น แต่มีการปรับเปลี่ยน และเปิดทางให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีปัญหาในพื้นที่ซับซ้อน

ด้วยการชูกระแสคนรุ่นใหม่ที่มาแรงเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เช่น การวางตัว “ท็อป” จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเก่าของเจ๊แดง “นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงที่พรรคเพื่อไทยกวาดคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคอื่นมากเกินกว่า 5 หมื่นคะแนน

หรือการวางตัว “ซัน” ภาควัต ศรีสุพล ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่ขอนแก่น

รวมไปถึงทัพผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่ กทม.หลายคนก็เปลี่ยนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่าหน้าใหม่ทางการเมือง อย่าง “ปุ๊น” ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ทั้งยังดึงเอา “อ๊อฟ” เผ่าภูมิ โรจนสกุล ดีกรีอาจารย์เศรษฐศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา มานั่งเป็นรองเลขาธิการพรรค

และยังให้ทีมคนรุ่นใหม่หลายคนเข้าไปมีบทบาทในการคิดและร่างนโยบายของพรรคด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องสลับสับเปลี่ยนตัวผู้สมัครที่มีปัญหาเรื่องคดีความให้คนอื่นมาลงแทน เพื่อไม่ให้มีปัญหากับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เช่น “นายวรชัย เหมะ” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ที่มีคดีความค้างเติ่งอยู่ที่พัทยาก็จะให้ภรรยาลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

“นายการุณ โหสกุล” ที่โดนตัดสิทธิทางการเมืองก็จะส่งภรรยา “พิมชนา โหสกุล” ลงชิงพื้นที่ดอนเมืองคืนมาจากพรรคประชาธิปัตย์

 

แน่นอนว่าการปรับทัพครั้งใหม่ของพรรค พท.ด้วยการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพ และสับหลีกพื้นที่กับคนมีคดีความในสถานการณ์ที่เขตเลือกตั้งลดลงนั้นย่อมมีทั้งคนแฮปปี้และผิดหวัง

ล่าสุดหลังการประชุมจัดตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและวิธีการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคมีการวางมวยขึ้นระหว่าง “นายนวัธ เตาะเจริญสุข” อดีต ส.ส.ขอนแก่น กับผู้ที่ได้รับการวางตัวให้ลงสมัครแทน ด้วยเหตุนายนวัธมีคดีความค้างอยู่ ทำให้นายนวัธเกิดความไม่พอใจพรรค ถึงขั้นวางมวยว่าที่ผู้สมัครที่จะมาลงแทนพร้อมพูดจาข่มขู่

ร้อนถึง “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรค พท.ต้องเข้ามาเคลียร์ปมขัดแย้ง

งานนี้สะท้อนภาพแกนนำระดับบนของพรรคปรองดองจับมือทำงานได้ แต่อดีต ส.ส.ในพื้นที่ทำท่าจะเปิดศึกกันเอง เพราะทุกคนก็อยากจะเป็นผู้เล่นตัวจริง

นับจากนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญของแกนนำพรรคและผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทยที่จะต้องจัดทัพ ปรับกลยุทธ์ เคลียร์ทั้งศึกนอก ศึกใน สู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เพราะศึกนี้มีเดิมพันสูง นั่นคือ ต้องชนะอย่างเดียว