ผลกระทบ Network Effect : Facebook vs. Hi5 / ห้างไดมารู vs. MBK

“เน็ตเวิร์ก เอฟเฟ็กต์ (Network Effect)”

เมื่อสมัยตอนเด็กๆ

คุณพ่อ-คุณแม่ชอบพาผมไป “มาบุญครอง” มาก

จำได้ว่า ไปทุกสัปดาห์

กินข้าวที่ศูนย์อาหารชั้นบน

กินราดหน้า กินสเต๊กต่างๆ นานา

คนเยอะ แทบจะไม่มีที่นั่ง

และที่สำคัญคือ แวะร้านขายวิดีโอเกม

จำได้ว่า ที่ชั้น 4 จะมีเด็กๆ เดินกับผู้ปกครองพลุกพล่านมากครับ

พ่อ แม่ ลูก เดินแวะร้านเกมกันสนุกสนาน

มาบุญครอง ถือว่าเป็นสวรรค์ของเด็กๆ เลยทีเดียว

ทั้งๆ ที่ที่จอดรถนั้นก็ถือว่าหายากเอาการ

แต่ผู้คนก็มากัน เหมือนกับว่าเป็นห้างแห่งเดียวในประเทศยังไงยังงั้น

ขับรถมาไม่ไกลจาก “สยาม”

ก็จะเจอกับห้างอีกแห่งหนึ่ง

ชื่อว่า “ไดมารู” ครับ

ห้างนี้ในยุคของผมตอนเด็กๆ ต้องเรียกว่า “ร้าง” ครับ

จำได้ว่า คุณแม่ชอบพาไปกิน “เกี๊ยวซ่า” ซึ่งอร่อยมาก แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่ครอบครัวเราจะไปทำกัน

ซื้อเกี๊ยวซ่าแล้วกลับบ้าน

เมื่อคนเดินไม่มี คนขายของก็แทบจะไม่มีครับ

วนๆ ไป รอวันเลิกกิจการ

ถ้าพูดถึง “แอพพลิเคชั่น” ยอดนิยมของคนไทย

ที่ “ขโมย” ชีวิตพวกเราไปหลายชั่วโมงต่อวัน

เชื่อเหลือเกินว่า “เฟซบุ๊ก” เป็นหนึ่งในแอพพ์ที่เราใช้กันมากที่สุด

ว่างๆ เป็นต้องไถๆ นิวส์ฟีด ดูรูปเพื่อนๆ

มีใครทำอะไร อยู่ตรงไหนบ้าง

ถูกใจ กดไลก์ ชอบใจ กดแชร์

แสดงออกให้เพื่อนรับรู้ว่า ฉันอ่านของแกแล้วนะ

เผื่อแกจะมาอ่านของฉันบ้าง

อะไรประมาณนี้

คําถามครับ ถ้าวันนี้มี “แอพพ์” ที่เหมือน “เฟซบุ๊ก” เป๊ะๆ เลย

แถมอาจจะมีปุ่มกด “ไลก์” กด “เลิฟ” เยอะกว่าของ “เฟซบุ๊ก” เสียอีก

คุณจะเปลี่ยนไปใช้ “แอพพ์” ที่ว่ารึเปล่าครับ

ให้เวลาคิดสามนาที

ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก

เชื่อเหลือเกินว่า คุณคงจะไม่เปลี่ยนหรอก

ถ้าถามว่า “ทำไม”

ทั้งๆ ที่ “การใช้งาน” อาจจะดีกว่า “เฟซบุ๊ก” เสียอีก

คำตอบก็มักจะประมาณว่า

“ถ้าเปลี่ยนไปคนเดียว แล้วเพื่อนไม่ไป ก็ไม่รู้จะเล่นกับใคร”

ถ้าคุณคิดคล้ายๆ แบบนี้

คุณโดนสิ่งที่ “ผลิตภัณฑ์” เปลี่ยนโลกแทบทุกชนิดมีเล่นงานเข้าให้แล้ว

สิ่งนี้เรียกว่า “เน็ตเวิร์ก เอฟเฟ็กต์ (Network Effect)”

ลองจินตนาการนะครับ

คุณเริ่มเล่น “เฟซบุ๊ก” เป็นครั้งแรก

คุณมีเพื่อนอยู่ 5 คนในเฟซบุ๊ก

ไลก์กันไป ไลก์กันมา

ถ้าหากวันนั้นมีคนแนะนำว่า มีอีกเว็บนะเหมือนเฟซบุ๊กเลย แต่ดีกว่าด้วย

สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือ บอกเพื่อนๆ ทั้งห้าคนของคุณ

“พวกเราย้ายเหอะ อีกเว็บมันดีกว่านะ”

ถ้าเพื่อนของคุณเห็นด้วย ทุกคนก็พร้อมใจจะเลิกเล่น “เฟซบุ๊ก”

และไปเล่นอีก “เว็บ” หนึ่งแทน

อันนี้เขาเรียกว่า “เน็ตเวิร์ก เอฟเฟ็กต์” ยังไม่แข็งแรง

คนยังเปลี่ยนง่าย

หากแต่ว่า วันนี้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอาจจะมีเพื่อนอยู่พันคน

จะให้ย้ายไปใช้ “เว็บ” อื่น แม้ว่าจะมีฟังก์ชั่นดีมากกว่าขนาดไหนก็ตาม

แถมเงินให้ด้วยนิดๆ หน่อยๆ

เราอาจจะไม่อยากทำ

ลองคิดดูว่า การไปเล่นใน “เว็บ” ใหม่คนเดียว

แล้วบอกเพื่อนๆ อีกพันคน ให้ “ย้าย” ตามไปนั้น

แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยก็ว่าได้

ยิ่งเรามีเพื่อนมาก มีข้อมูลที่ใส่ไว้ใน “เฟซบุ๊ก” มากเท่าไร

เรายิ่งตัดใจเปลี่ยนไปใช้เว็บอื่นยากมากขึ้นเท่านั้น

นี่แหละ “เน็ตเวิร์ก เอฟเฟ็กต์”

คุณค่าของ “แอพพ์” มีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีคนมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

จนโยงใยเป็นสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

รู้อีกที ก็ไม่สามารถจะไปเริ่มที่อื่นด้วยตัวคนเดียวได้อีกแล้ว

เว็บไซต์ที่เป็น “ตลาดขายของออนไลน์” เช่น “อเมซอน (Amazon)” หรือ “อาลีบาบา (Alibaba)”

หรือที่เห็นในไทยแข่งกันน่าดูคือ “ลาซาดา (Lazada)” หรือ “ช้อปปี้ (Shoppee)”

จึงแย่งกันดึงลูกค้าเข้าร้านด้วย “โปรโมชั่น” ลด แลก แจก แถม มากมาย

เพราะเมื่อคนซื้อเข้ามาซื้อของบ่อยๆ

คนขายก็จะอยากเข้ามาขาย

และเมื่อมีทั้งคนซื้อและคนขาย

“ตลาด” ก็จะพลุกพล่าน เป็นที่ที่มีคุณค่า

ในหลักการ คุณก็สามารถจะเก็บ “ค่าเช่าที่” ที่แพงขึ้นในภายหลังได้

นี่แหละ “การสร้างเน็ตเวิร์ก เอฟเฟ็กต์” ที่บริษัทระดับโลกในหลายๆ วงการทำกันเป็นเรื่องปกติ

อูเบอร์ (Uber) และแกร็บ (Grab) แอพพ์เรียกรถยอดนิยม ก็แข่งกันโดยใช้วิธีนี้ทั้งสิ้น

ลดราคาให้ผู้โดยสาร แถมตังค์ให้คนขับรถ เพื่อให้คนเข้ามาใช้งานแอพพ์ของตน

เมืองไทยผู้ชนะคือ “แกร็บ” ไปแล้ว สร้าง “เน็ตเวิร์ก เอฟเฟ็กต์” เป็นที่สำเร็จ

นี่แหละ “กลยุทธ์” พื้นฐานการทำธุรกิจดิจิตอลในยุคนี้

มาบุญครอง ก็เหมือนกับ “เฟซบุ๊ก”

ที่มีคนเดินพลุกพล่านทุกวัน จะเก็บค่าเช่าที่ จะติดป้ายโฆษณาให้คนเห็น ก็ดูจะเป็นธุรกิจได้ไปเสียหมด

ส่วน “ไดมารู” ก็เหมือนกับ “ไฮไฟว์ (Hi5)”

เมื่อไม่มีผู้ซื้อ ผู้ขาย ไม่มีคนเข้ามาเดินให้เกิดธุรกิจกันบ่อยๆ

ค่าเช่าที่ก็เก็บไม่ได้ ติดป้ายโฆษณาไปก็ไม่มีคนดู

รอวัน “เจ๊ง” ลูกเดียว