สถานะ บทบาท 7 ธันวาคม จุดตัด เส้นแบ่ง “การเมือง”

ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม จะเป็นอีกวันที่ไม่เพียงแต่จะพิสูจน์ “อำนาจ”ที่มี อยู่ในมือของคสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจุดอันเป็นหัวหน้าคสช.และหัวหน้ารัฐบาล

หากแต่ยังพิสูจน์ทราบสถานะและจุดยืนความเป็นตัวตนของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเลือกเส้นทางใด

แน่นอน พรรคการเมืองในตระกูล”พลัง”และพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือแม้แต่พรรคประชาชนปฏิรูป ย่อมเข้าร่วมแน่

แต่ที่สำคัญพรรคเก่าอย่าง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา จะกำหนดบทบาทของตนอย่างไร

ในเมื่อมีอีกหลายพรรคการเมืองที่มีความแจ่มชัด

ความแจ่มชัดนั้นสัมผัสผ่านพรรคเพื่อไทยมีความแจ่มชัดตั้งแต่ยุคที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค กระทั่งได้ รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอย่างสมบูรณ์

พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ ก็มีความแจ่มชัด

ยังพรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน ก็แจ่มชัด

ขณะเดียวกัน ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์โดยโฆษกก็ตั้งข้อสังเกตต่อหนังสือเชิญอันมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างแหลมคมยิ่งว่า

มิได้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 อย่าง ครบถ้วนและเคร่งครัด

เพราะในคำสั่งระบุให้มีการหารือแผนเลือกตั้ง”ร่วมกัน”

แต่ความเป็นจริงจากหนังสือเชิญเสมอเป็นเพียงการให้เข้าไปร่วมเพื่อรับฟังแผนและขั้นตอนการเลือกตั้งอันกำหนดเอาไว้แล้วโดย “แม่น้ำ 5 สาย”

เท่ากับเพียงไป “รับทราบ” มิใช่ “หารือ”

เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะถึงวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม เหลือเวลาอีกไม่กี่วันสถานะของพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็จะมีผลบังคับใช้ในทางเป็นจริง

นั่นก็คือ วันที่ 11 ธันวาคม

การกำหนดจุดยืน การกำหนดสถานะและหนทางเลือกทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองจึงสำคัญ

สำคัญและมีผลต่อ”การเลือกตั้ง”เป็นอย่างสูง

 

มติชนออนไลน์