ธเนศวร์ เจริญเมือง : การศึกษาแบบ ม.ส.ว. กับการสร้างรัฐ

เมื่อคนอเมริกันรวมตัวกันลุกขึ้นสู้กับระบบอาณานิคม เพื่อจะได้เอกราช และในที่สุดก็สำเร็จสามารถสถาปนาประเทศใหม่ได้ในปี ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319) (ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่พระเจ้าตากสินขับไล่กองทัพพม่าออกไปและกู้ชาติได้ในปี พ.ศ.2315)

พวกเขาสถาปนาระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐ และเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาในปี ค.ศ.1788 และเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรกในปีถัดมา

ทั้ง 3 อย่างนี้ยังไม่มีประเทศไหนเคยทำมาก่อนในขณะนั้น (พ.ศ.2331-2332 ตรงกับรัชสมัยที่ 1 แห่งรัตนโกสินทร์)

2 ศตวรรษเศษที่ผ่านมา เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่คนในสังคมมีความเห็นหลายอย่างต่อประวัติศาสตร์ของประเทศตนเอง โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย

คนอเมริกันมีเสรีภาพที่จะมองเห็นอดีตในมุมมองต่างๆ

หลายคนค้นหาความจริง-ความเท็จ จุดแข็ง-จุดอ่อนเพื่อหาทางแก้ไขปัจจุบันและก้าวไปข้างหน้า

ส่วนใหญ่อยากรู้อยากเรียน บางคนชอบมองหาแง่ลบ บางคนค้นหาเรื่องแปลกๆ

บางคนชอบแฉเรื่องไม่ดี กระทั่งสร้างเรื่องเพื่อหวังผลทางการค้า หรือเร้าความสนใจ

เช่น ในปี ค.ศ.1897 ซิดนีย์ ฟิชเชอร์ (Sydney Fisher) เห็นว่าที่ผ่านมา เราศึกษาผู้นำในอดีตแบบเทพ มีนิทานหรือเรื่องลี้ลับมาเล่าราวกับว่าผู้นำในอดีตมีอภินิหารเหนือคนทั่วๆ ไป

ต่อจากนั้นในปี 1907 เอลเลน สมิธ (Allen Smith) ออกมาวิพากษ์รัฐธรรมนูญสหรัฐว่า อนุรักษ์ อำนาจนิยม แก้ไขยาก และผิดที่ให้ศาลสูงดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต

ในปี 1913 ชาร์ลส์ เบียร์ด (Charles Beard) ก็เปิดฉากวิเคราะห์รัฐธรรมนูญอีกครั้งว่าความคิดของคนร่างรัฐธรรมนูญก็คือฐานะทางชนชั้นของคณะผู้ร่าง และต้องเข้าใจว่าทัศนะการเมืองและพฤติกรรมทางการเมืองของคนเรานั้นก็คือ ผลผลิตของสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น(1)

ต่อมา ในช่วงทศวรรษ 1920s นักเขียนแนวตลาด เช่น ดับบลิว.อี. วู้ดเวิร์ด (W.E. Woodward) ก็ผลิตงานประเภท “แฉ” ข้อด้อยของคณะผู้ก่อตั้งประเทศนี้ทีละคนๆ

และเรื่องที่คุยกันทั้งเมืองก็คงจะเป็นกรณีโธมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพ และประธานาธิบดีคนที่ 3 และเจมส์ เมดิสัน ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ และประธานาธิบดีคนที่ 4 ทั้ง 2 คนนี้เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ และเป็นเจ้าของแรงงานทาสจำนวนมาก

และเอกสารสำคัญยิ่งทั้ง 2 ฉบับนั้นก็ย้ำหลักการ “คนเราทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” ฯลฯ(2)

แน่นอน เราสามารถนำเอามุมมองต่างๆ มานำเสนอได้เป็นหนังสือหลายๆ เล่ม โดยเฉพาะงานในห้วง 100 ปีที่ผ่านมา เพราะสังคมไม่ปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง กระทั่งรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นใหม่ๆ

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สำคัญๆ แต่ละด้านในเมืองหลวงนับสิบแห่งเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน สังคมอเมริกันให้ความสำคัญแก่ประวัติศาสตร์และการเรียนวิชานี้ในสถาบันการศึกษาตลอดมา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ระดับชาติ ระดับรัฐ เมือง ชุมชน หน่วยงาน สมาคม ไปที่ไหนก็พบแต่มิวเซียม มีเรื่องบุคคล บ้านเมือง เครื่องแต่งกาย ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี สิ่งก่อสร้าง สิ่งของเครื่องใช้ ตุ๊กตา อาหาร ธรรมชาติ ฯลฯ

แต่ละเมืองมีมิวเซียมอย่างน้อย 4-5 แห่ง มีห้องสมุด มีโรงละคร ทั้งของท้องถิ่นและของเอกชน ความสนใจในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นควบคู่กับการบันทึก เมื่อทุกคนบันทึกและเก็บทุกอย่างไว้ คนรุ่นปัจจุบันจึงมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับอดีตให้ศึกษา ฯลฯ

ในบทนี้ เราอยากรู้จักคณะผู้นำการต่อสู้และสร้างประเทศใหม่ เราอยากรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร ทำอย่างไร ทำได้อย่างไร และเหตุใดหลายประเทศจึงทำเช่นนั้นไม่ได้ ฯลฯ 3-4 คำถามนี้สั้นมาก แต่เขียนคำตอบได้เป็นหนังสือหลายๆ เล่ม และจนบัดนี้ บางคำถามก็ยังไม่มีข้อยุติ ฯลฯ

พวกเขาเป็นคนแบบไหนจึงสามารถสร้างประเทศใหม่ขึ้นมาได้ด้วยการวางรากฐานอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

และโครงสร้างเหล่านั้นแทบทั้งหมดยังคงอยู่ ไม่เคยถูกโค่นล้ม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด และน่าจะมีบทบาทสำคัญนำไปสู่การสร้างประเทศนี้ให้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมาได้

 

รากฐานทางสังคมและความคิด

ก่อนอื่น เราจะต้องไม่ลืมว่า การสร้างความเป็นคนอเมริกันที่จะไปสร้างประเทศใหม่นั้นมีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 4 ข้อ คือ

1. พวกเขามีเวลาสร้างชุมชนและมีความเป็นกลุ่มก้อนที่มีชะตากรรมเดียวกันเป็นเวลานานถึง 100 กว่าปี (ค.ศ.1607-1776) ก่อนที่จะร่วมมือกันต่อสู้เพื่อเอกราช

ไม่ใช่มาถึงโลกใหม่แล้วก็ต่อสู้ทันทีหรือลงมือสร้างประเทศใหม่ทันที

2. ลักษณะร่วมของพวกเขาแม้ว่าจะมาจากหลายๆ ถิ่นก็คือ ความปรารถนาที่จะมีเสรีภาพในความเชื่อ และการนับถือศาสนา และการมีอุดมการณ์ทางการเมืองคือความเท่าเทียมกัน และสิทธิเสรีภาพ

โดยเฉพาะกลุ่มโปรเตสแตนต์ทั้งหลายที่มีความเห็นความเชื่อแตกต่างจากชนชั้นผู้มีอำนาจ

ทั้งหมดนี้เกิดเป็นองค์รวมของทัศนะด้านศาสนาของกลุ่มคาลวินนิสต์และพิวริแตน และทัศนะทางการเมืองแบบเสรีนิยมของจอห์น ล็อก (John Locke, 1632-1704) บวกเข้ากับการมีผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ที่เป็นผู้นำกลุ่มพิวริแตนและยังมีทัศนะก้าวหน้าทางการเมืองมาก นั่นคือ จอห์น วินทร็อป (John Winthrop, 1588-1649) และการก่อตั้งวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี ค.ศ.1636

3. ผู้คนเกือบทั้งหมดที่กระจัดกระจายไปสร้างชุมชนต่างๆ ตลอดชายฝั่งตะวันออก รวมเป็น 13 รัฐในเวลาต่อมาเป็นคนอังกฤษ อาจมีบางส่วนที่เป็นชาวสก๊อต-ไอริช และเยอรมัน

การมีคนส่วนใหญ่ที่มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ (Englishness) ช่วยทำให้กระบวนการหล่อหลอมดังกล่าวเหนียวแน่นมากขึ้น และส่งผลให้การสร้างลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปมีความเอกภาพอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

4. ด้วยการเน้นหลักสิทธิ-เสรีภาพในการอบรมและสั่งสอนความเชื่อทางศาสนา, การจัดระบบการศึกษา และการจัดระบบการปกครองตนเองในท้องถิ่น (Local self government) เป็นพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นมาตามอุดมคติที่พวกเขามี ผ่านไปตั้งแต่การอพยพครั้งแรกที่เมืองเจมส์ทาวน์ เวอร์จิเนีย ค.ศ.1607

และต่อจากนั้นไปอีก 170 ปี อาณานิคมของอังกฤษในโลกใหม่รวม 13 รัฐก็มีชุมชนต่างๆ ที่มีลักษณะเช่นนี้ทั้งหมด

และประชากรรุ่นต่อๆ มาก็มีวัฒนธรรมดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง

 

รากฐานด้านการศึกษา

สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของพวกเขาเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1636 (พ.ศ.2179) คือวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่จริงพวกเขาเตรียมสร้างวิทยาลัยแห่งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1618 ที่ริมแม่น้ำเจมส์ รัฐเวอร์จิเนีย หรือเพียง 11 ปีหลังจากมีชาวอพยพรุ่นแรกมาถึงในปี ค.ศ.1607 โดยได้เตรียมพื้นที่ไว้ให้ถึง 1 หมื่นเอเคอร์

และแต่งตั้งสาธุคุณ Patrick Copland เป็นอธิการบดีคนแรก เพื่อสร้างทั้งวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย ตลอดจนโรงเรียนสอนเยาวชนพื้นเมือง

แต่แล้ว 4 ปีหลังจากนั้นขณะที่กำลังก่อสร้าง ชนเผ่าพื้นเมืองก็ได้บุกเข้าโจมตี และทำลายทั้งคนและสิ่งก่อสร้างทั้งหมด

วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกิดขึ้นด้วยมติของสภาเมืองบอสตัน เดิมตั้งชื่อว่าโรงเรียนเคมบริดจ์ ปีต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อตามสาธุคุณจอห์น ฮาร์วาร์ด ซึ่งได้บริจาคเงินก้อนใหญ่และหนังสือจำนวนมาก

เนื้อหาวิชาและวัตถุประสงค์ของการศึกษานำมาจากบัณฑิตที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และออกซ์ฟอร์ด และได้อพยพมายังบอสตันนั่นเอง

ที่เห็นในตารางนี้รวม 9 สถาบันก่อตั้งขึ้นก่อนการลุกขึ้นสู้เพื่อเอกราช นั่นแสดงว่าสถาบันเหล่านี้ได้ผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อจะได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลกใหม่ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะ 6 สถาบันแรก ที่บัณฑิตจากสถาบันเหล่านี้ออกไปนำการต่อสู้ของประชาชน จนนำไปสู่การสร้างประเทศใหม่ เช่น กรณีของ Alexander Hamilton ที่กำลังเรียนอยู่ที่คิงส์คอลเลจ (ม.โคลัมเบีย) การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในปี 1776 นักศึกษาหนุ่มวัย 19 ปีก็หยุดเรียน เข้าสู่สมรภูมิ และได้เป็นเลขาฯ ของแม่ทัพจอร์จ วอชิงตัน

บอสตัน ซึ่งเป็นจุดที่คนอพยพเริ่มขัดแย้งกับอังกฤษมากที่สุด และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการจัดระบบการปกครองของตนเอง และต่อมาไม่ยอมรับนโยบายและกฎหมายอังกฤษ และก่อนหน้านั้น สถาบันการศึกษาได้ผลิตบัณฑิตออกไปจัดระบบการปกครองตนเอง ค้ำประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา

บอสตันในช่วงเวลานั้น นอกจากจะมีวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ให้การศึกษาที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน กว่าจะเกิดวิทยาลัยแห่งที่ 2 (คือวิทยาลัยวิลเลี่ยม & แมรี่) ก็คือเกือบ 60 ปีหลังจากนั้น

ที่รัฐเวอร์จิเนีย วิทยาลัยวิลเลี่ยม & แมรี่ ได้สร้างนักปฏิวัติขึ้นมาหลายคน เช่น โธมัส เจฟเฟอร์สัน – ผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ, ประธานาธิบดีคนที่ 3 และผู้ยืนยันหลักการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาของพลเมือง; เจมส์ มอนโร ประธานาธิบดีคนที่ 6; จอห์น เมอร์เซอร์; และเอ็ดมันด์ แรนดอล์ฟ

ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชคนอื่นๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นซามูเอล แอดัมส์, จอห์น แอดัมส์, รุฟัส คิง, เอลบริดจ์ เจอรี่ (รองประธานาธิบดีสมัยเจมส์ เมดิสัน) และคาเล็บ สตรอง จบจากฮาร์วาร์ด, เบนจามิน แฟรงคลิน คลุกคลีอยู่กับปัญญาชนในบอสตัน ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับวงการปัญญาชนของฟิลาเดลเฟีย; ฮิวจ์ วิลเลียมสัน และโธมัส มิฟฟลิน จบจากวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย; อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เรียนที่คิงส์คอลเลจ นิวยอร์ก, วิลเลี่ยม ลิฟวิ่งสตัน และซามูเอล จอห์นสัน จบจากเยล, เจมส์ เมดิสัน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน และประธานาธิบดีคนที่ 4, โจนาธาน เดย์ตัน, วิลเลี่ยม เดวี่, โอลิเวอร์ เอลส์เวิร์ธ, ลูเธอร์ มาร์ติน และวิลเลี่ยม แพตเตอร์สัน จบจากพรินซ์ตัน ฯลฯ

จากการศึกษาของคณะนักวิจัยนำโดยชาร์ลส์ แม็กคอร์มิก (ค.ศ.1976) การประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ (Constitutional Convention) ครั้งประวัติศาสตร์จัดที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนียใช้เวลาเกือบ 4 เดือน (25 พฤษภาคม-17 กันยายน ค.ศ.1787 – พ.ศ.2330) มีผู้แทนจากรัฐต่างๆ เข้าร่วม 55 คน

มีผู้นำคนสำคัญที่มิได้เข้าร่วมการประชุมอย่างน้อย 8 คน คือ จอห์น แอดัมส์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน, ริชาร์ด เฮนรี่ ลี, แพ็ตทริก เฮนรี่, จอห์น เจย์, ซามูเอล เช็ส, ซามูเอล แอดัมส์ และจอห์น แฮนค็อก 2 คนแรกปฏิบัติงานในยุโรป, คนที่ 3-4 ปฏิเสธคำเชิญ, คนที่ 5-6 ไม่ได้รับการเลือกตั้ง, คนที่ 7 มีปัญหาส่วนตัว และคนสุดท้ายติดภารกิจเพราะเป็นผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์

—————————————————————————————————————-
หมายเหตุ – การศึกษาแบบ ม.ส.ว. คือการศึกษาแบบมนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
เชิงอรรถท้ายบท
(1) Gordon S. Wood, Revolutionary Characters: What Made the Founders Different. NY: Penguin Books, 2007 pp. 5-7.
(2) Ibid., p. 7 and Myron Magnet, The Founders at Home: The Building of America, 1735-1817. NY: W.W. Norton & Co., 2014 pp. 303-320