ศัลยา ประชาชาติ : ถึงเวลาดอกเบี้ยขาขึ้น เอกชน-เอสเอ็มอี อ่วมแน่

เมื่อเข้าสู่โค้งท้ายปีจอ ภาพที่ได้เห็นจนคุ้นตาก็คือ บรรดาแบงก์ต่างๆ ปล่อยโปรดักต์ “เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ” กันมากขึ้น ท่ามกลางเสียงสัญญาณการเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งชัดเจนและถี่ขึ้นทุกทีในระยะใกล้นี้

โดยระยะใกล้สุดที่ตลาดคาดกัน ก็อาจจะเกิดขึ้นในรอบสุดท้ายของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 19 ธันวาคมปีนี้ ขยับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% ก็เป็น 1.75%

 

นั่นทำให้ล่าสุดกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างก็เคลื่อนไหวในจังหวะนี้เช่นกัน ด้วยการออกโปรดักต์เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ แม้แต่แบงก์ใหญ่ๆ อย่างธนาคารกรุงเทพที่เพิ่งออก “เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ 9 เดือน” อัตราดอกเบี้ย 1.625% ต่อปี และเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ 7 เดือน อยู่ที่ 1.375%

ส่วนแบงก์กสิกรไทยก็มีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ 15 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.5% ฝั่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเงินฝากพิเศษระยะยาว 15 เดือน ดอกเบี้ย 1.5%

นอกจากนี้ก็มีแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ออกไปก่อนหน้านี้กันแล้ว อย่างแบงก์สีส้ม “ธนชาต”, ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นต้น

นับเป็นการระดมเงินฝากกันอีกระลอกของเหล่าแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐในช่วงเดือนเศษๆ ก่อนปิดเป้าสิ้นปี 2561 นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องของการวางแผนการบริหาร “สภาพคล่องและต้นทุน” ทางการเงินด้วย

 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ปัจจุบันที่ธนาคารต่างๆ เริ่มออกแคมเปญดอกเบี้ยฝากพิเศษกันมากขึ้น เพื่อรองรับเงินฝากประจำล็อตเดิมที่กำลังจะหมดอายุ เพื่อรักษาสัดส่วนเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม

แต่อย่างไรก็ตาม การออกแคมเปญเงินฝากเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ว่าจะมาใช้รองรับการปล่อยสินเชื่อในอนาคต เพราะว่าปัจจุบันในระบบแบงก์มีสภาพคล่องสูงมากถึง 3.65 ล้านล้านบาท อีกทั้งหากเอกชนที่เกี่ยวกับก่อสร้างจะมีการลงทุน ก็สามารถระดมเงินทุนโดยตรงได้เอง เช่น ออกหุ้นกู้ ไม่จำเป็นต้องมาขอธนาคาร หรือถ้ากู้ก็จำนวนไม่มาก

“เชื่อว่าไม่มีใครอยากรีบระดมเงินฝากกันตอนนี้ เพราะจะทำให้ต้นทุนเงินฝากเพิ่มขึ้นทันที ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปัจจุบันก็ไม่ได้สูง คืออยู่ราว 3% อย่างไรก็ตาม ปีหน้าเทรนด์การออกแคมเปญเงินฝากพิเศษก็จะเห็นมากขึ้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการเติบโตของสินเชื่อด้วย”

นายนริศได้คาดการณ์ว่า จะเห็นผลประชุม กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบเดือนธันวาคมนี้ และปีหน้าอาจปรับขึ้นอีกหนึ่งครั้ง แม้ว่าภาพเศรษฐกิจจะไม่เอื้อก็ตาม ซึ่งจะทำให้สิ้นปีหน้า ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2% และคาดการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ 5.8% จากปีนี้โตที่ 6.3% โดยจะมีแรงขับเคลื่อนจากแนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตได้ดี จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่ คาดจะโตได้ 4.8% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการ EEC

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณหลายแบงก์เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาคิดดอกเบี้ยกู้คงที่ 3 ปี ซึ่งเมื่อต้นทุนขยับขึ้น หลายธนาคารจึงต้องปรับดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นตาม แต่ส่วนของออมสินยังไม่ได้ปรับขึ้น จะรอดูดอกเบี้ยนโยบายปรับก่อน จึงจะปรับตาม

 

ขณะที่ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นประธาน กนง. กล่าวยอมรับว่า การใช้ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่า ปกติจะมีความจำเป็น “น้อยลง” แล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ขยายตัวต่อเนื่องและขยายตัวได้ในอัตราที่ดีด้วย

“หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ ในช่วงต่อไป เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อพูดว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 4% ต้นๆ และปีหน้าอยู่ที่ 3% ปลายๆ หรือ 4% ต้นๆ แต่การปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำนานๆ ก็จะสร้างผลข้างเคียง อาจเป็นปัญหาระยะยาวได้ และไทยก็เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ” ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าว

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ได้ประเมินผลกระทบกรณีมีการขึ้นดอกเบี้ยว่า หากดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น ในสภาพที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีสภาพคล่องสูงมาก ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทันที เพราะยังมีช่องในการปรับลดดอกเบี้ยของลูกค้ารายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่สูงขึ้น และในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์ก็จะได้เปรียบเพราะอัตราดอกเบี้ยฝากจะขึ้นตามระยะเวลาฝาก 3 เดือน 6 เดือน รายจ่ายดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จึงไม่ได้ปรับขึ้นทันที แม้มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแล้วก็ตาม

โดยล่าสุด (28 พฤศจิกายน 2561) ธปท.ออกรายงานผลประชุม กนง.รอบวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุถึงประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไป ได้แก่ พฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน ที่ถือว่าอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ยังมีการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนใช้มาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ จะเริ่มใช้ 1 เมษายน 2562 สินเชื่อรถยนต์ที่เริ่มเห็นความเข้มงวดปล่อยกู้ลดลงเพราะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ฝั่งภาคธุรกิจ ก็ยังมีความเป็น “ห่วง” กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ยังคงมีหนี้เสีย “เพิ่มขึ้น” อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ธุรกิจโรงสีข้าว ธุรกิจค้าปลีก

ส่วนกลุ่ม “ธุรกิจขนาดใหญ่” มีการระดมทุนมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ ทั้งจากสินเชื่อของธนาคารและการออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้) เพื่อใช้ขยายการลงทุนทั้งในกิจการเดิมและกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก รวมทั้งกิจการในต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่เห็นผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยชัดเจนขึ้น ผู้ประกอบการในจีนเริ่มลดปริมาณสินค้าคงคลังและการนำเข้าวัตถุดิบ และยังมีแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร็วขึ้นอีก ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ กนง.สั่งติดตามอย่างใกล้ชิด

รวมทั้งคณะกรรมการ กนง.ก็ได้อภิปรายถึงเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต

 

หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการขึ้นดอกเบี้ย กนง.เร็วขึ้นคือ โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคมจะออกมาดูดีต่อเนื่องหรือไม่ หากว่าเศรษฐกิจโตกระจายตัวดีขึ้นกว่าเดิม และค่าเงินบาทอ่อนตัว ก็จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.เร็วขึ้น

นับถอยหลังอีกเพียงเดือนเศษๆ ก็จะได้ลุ้นว่า เสียงมติคณะกรรมการนโยบายการเงินจะเพิ่มอีก 1 เสียง ทำให้มี 4 เสียงต่อ 3 เสียง พลิกโหวตปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แทนการคงดอกเบี้ยของรอบที่แล้ว หรือจะไปรอปรับขึ้นต้นปีหน้าแทน

เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กรายกลางและพวกลูกหนี้รายย่อยมีเวลาหายอกหายใจได้อีกหลายเดือน