รัฐธรรมนูญนี้ (ดีไซน์) มาเพื่อใคร l สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

รัฐธรรมนูญนี้เพื่อใคร

วาทะที่กล้าหาญและจริงใจที่สุดของนักการเมืองเก่าชื่อสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ไปพูดให้กำลังใจผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐในวันพานักการเมืองกลุ่มสามมิตรมาร่วมหอลงโรงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 คือ “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ป่านนี้คนร่างรัฐธรรมนูญอาจจะสะดุ้ง หรือได้แต่ตอบอย่างไร้เดียงสาว่า “ตอนร่างไม่รู้ว่าจะมีพลังประชารัฐเกิดขึ้น”

คำถามที่ว่า “รัฐธรรมนูญนี้เพื่อใคร” จึงเกิดขึ้น

การแกะดูรายละเอียดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวบ่งบอกให้ทราบว่าการเขียนรัฐธรรมนูญทั้งหมดนี้ “เพื่อพวกเรา” นั้น หมายถึงใครกัน

ออกแบบเลือก ส.ส.เพื่อใคร

การออกแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างไปจากในอดีตหลายประการ นับแค่การลดจำนวน ส.ส.เขต จาก 375 เขต เหลือ 350 เขต ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 125 คน เป็น 150 คน ซึ่งหากมองชั้นเดียวจะเห็นเพียงแค่การเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้นักการเมืองจากพื้นที่มีน้อยลง ได้นักธุรกิจ ผู้บริหาร นักวิชาการ บุคคลผู้มีชื่อเสียง ที่อยู่ในสัดส่วนของบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

เป็นทิศทางที่น่าจะเป็นการพัฒนาไปในทางที่ดี

แต่เมื่อเอาสิ่งดีนี้ไปผสานกับการออกแบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว เอาคะแนนของผู้ไม่ชนะในเขตมาสะสมเป็นจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี กลายเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ ผสานกับการเลือกตั้งแบบให้เบอร์ของพรรคต่างกันไปในแต่ละเขตเพื่อลดอิทธิพลการหาเสียงของพรรคใหญ่ ผสานกับการออกแบบการโฆษณาหาเสียงที่จำกัดขนาด จำนวน และสถานที่ในการติดป้ายโฆษณาหาเสียง

จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนพลังของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้งสิ้น และผู้ที่ได้รับประโยชน์ในฐานะที่ดีไซน์มาเพื่อ “พวกเรา” คือพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก

พรรคขนาดกลางที่อาจไม่ชนะเป็นที่หนึ่งที่สองในเขตเลือกตั้ง หากมีคะแนนเป็นที่สามที่สี่ ยังสามารถกวาดเอาคะแนนไปสะสมเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคขนาดเล็กแม้ไม่ได้ ส.ส.เขตสักคนแต่หากรวมคะแนนในเขตต่างๆ ได้เขตละร้อยสองร้อยคะแนน ครบเจ็ดหมื่นเมื่อไร เอา ส.ส.บัญชีรายชื่อไป 1 คน

การออกแบบให้เป็นบัตรใบเดียว ยังมีมุมมองที่ซับซ้อนขึ้นคือ พรรคต้องส่งผู้สมัครลงเขตก่อน จึงจะมีคะแนนไปสะสมเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

ดังนั้น การออกแบบดังกล่าวจึงเป็นการออกแบบเพื่อป้องกันการ “ตีกิน” ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบไม่ยอมส่ง ส.ส.เขต เช่น ปรากฏการณ์เมื่อครั้งเป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตรสองใบ ในสมัยนั้นนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตั้งพรรครักประเทศไทยแล้วไม่ส่ง ส.ส.เขตแม้แต่รายเดียว แต่สามารถโน้มน้าวจูงใจให้คนลงบัตรบัญชีรายชื่อจนได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาแบบไม่ต้องเหนื่อยถึง 4 คน

ปัจจัยสำคัญของการจะได้คะแนนจากบัตรใบเดียวไปสะสมเป็นคะแนนรวมของพรรคให้มากคือ ความสามารถในการส่งผู้สมัครเขตให้ครบทุกเขต เพราะส่งมากเขตย่อมได้เปรียบมากกว่าส่งน้อยเขต หลายคนจึงมองไปยังความได้เปรียบของพรรคใหญ่ที่มีศักยภาพในการส่งผู้สมัครลงครบทุกเขตมากกว่าพรรคเล็ก

สิ่งที่นักวิจารณ์การเมืองมองข้ามในระยะแรกคือ การมองข้ามศักยภาพของพรรคกลาง พรรคเล็ก และพรรคใหม่ ที่มองไม่เห็นความสามารถในการส่งผู้สมัครลงครบทุกเขต ลืมคิดว่าไปว่าพลังของ “ทุน” สามารถโยกจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ในพริบตา เพียงแค่ประเมินว่า “ที่ตั้ง” ใหม่สามารถสร้างผลในทางการเมืองได้ ดังนั้น พรรคใหม่ที่เพิ่งตั้ง เช่น พลังประชารัฐ ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ อาจฟู่ฟ่าขึ้นมาในข้ามคืน หากสามารถมี “ทุนใหญ่” สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

พลังดูดผู้สมัคร ส.ส.เก่า ที่พร้อมจะย้ายพรรคเมื่อมีข้อเสนอตัวเลขที่จูงใจ จึงทำให้พรรคใหม่โตขึ้นมาในพริบตา

การเลือกตั้ง ส.ส.ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองใดๆ ตามราคาคุยของผู้ร่างกฎหมายแต่ประการใด แต่กลับกลายเป็นวังวนกลับไปสู่การเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่มเช่นเดิม

การออกแบบ

การได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อใคร

การออกแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ยิ่งซับซ้อนซ่อนกลลึกยิ่ง

ในตัวบทเขียนอย่าง ในบทเฉพาะกาลเขียนอย่าง ทำให้คนอ่านสับสน กำหนดบทเฉพาะกาลห้าปีแรกมากมาย ราวกับคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยืนยาวเกินห้าปี

ในตัวบทเขียนให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน มาจากการรับสมัครและคัดกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นหลักประกันว่า มีความหลากหลาย มาจากหลายกลุ่มอาชีพ และได้คนที่ในแต่ละกลุ่มเขาเลือกสรรกันเองจนได้คนมาเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ

ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ห้าปีแรก ส.ว.มีจำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งและเป็นโดยตำแหน่งเสีย 200 คน อีก 50 คนที่แม้จะรับสมัครจากพื้นที่ แต่สุดท้ายก็ต้องมาลงที่ให้ คสช.เป็นคนคัดในรอบสุดท้าย

ส่วนของ 200 คนแรก เป็นการกำหนดมาโดยตำแหน่ง 6 คนซึ่งเป็นระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละเหล่าทัพและตำรวจ อีก 194 คนที่เหลือกลายเป็นขนมหวานสำหรับให้คนจำนวนหนึ่งทำตัวเป็นเด็กดี ที่ต้องมีทัศนคติและพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งที่ คสช.ต้องการ

อดีตองค์กรอิสระ ข้าราชการเกษียณ สนช.ที่มีคุณสมบัติครบ อดีต สปท. ผู้บริหารระดับสูง นักธุรกิจการเมือง ทนาย เอ็นจีโอ ที่มุ่งหวังเป็น ส.ว.ในโควต้าดังกล่าว ย่อมทำตัวเป็นเด็กดีโดยหวังเล็กๆ ว่าจะอยู่ใน 194 คนดังกล่าว

แว่วๆ มาว่า ขนาดเบอร์หนึ่งในสายสำนักงานขององค์กรอิสระแห่งหนึ่งยังอยากมาเป็น ส.ว. จึงทำทุกอย่างตามสิ่งที่ได้รับมอบหมาย โดยมุ่งหวังจะมากินโควต้านี้

ยิ่งมากำหนดหน้าที่ ให้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้มติร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยหัวหน้า คสช.อาจเป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะแข่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย แบบนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรใดๆ เพิ่มว่ารัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ในบทเฉพาะกาลที่ลึกซึ้งพิสดารนี้เพื่อใคร

กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อใคร

ในส่วนของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่ต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญ เป็นการออกแบบบนพื้นฐานแนวคิด ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบง่าย เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมือง

ดังนั้น กลไกต่างๆ ที่ถูกกำหนด เช่น การให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค การกำหนดให้มีสาขาพรรคในระดับภาคและจังหวัด การกำหนดจำนวนสมาชิกที่ต้องมีภายในหนึ่งปีและสี่ปี การให้มีระบบการเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพรมารีโหวตเพื่อรับประกันว่าผู้สมัครของพรรคจะมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในแต่ละพื้นที่ มีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่จัดสรรกลับไปยังพรรคการเมือง

ทั้งหมดดูเหมือนเป็นหลักการที่ดีทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

แต่การไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรม การออกคำสั่ง คสช.ฉบับแล้วฉบับเล่า เพื่อยืดเวลาการดำเนิน การยกเลิกระบบไพรมารีโหวตแบบเดิม ให้เหลือเพียงแค่การรับฟังความเห็นจากตัวแทนพรรคหรือหัวหน้าสาขา เป็นเหมือนคำสั่งที่ให้พรรคการเมืองมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ แต่อีกมุมหนึ่งคือการเอื้อไปยังพรรคใหม่ที่ยังไม่มีความพร้อมในการจัดการจากการติดหล่มของการไม่ปลดล็อกทางการเมืองกันเอง

สองหน้าของการออกกติกาเกี่ยวกับพรรคการเมือง หน้าหนึ่งจึงเป็นหน้าของหลักการที่ดีให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง อีกหน้าหนึ่งเป็นหน้าของการยืดหยุ่นแบบสุดๆ เพื่อให้พรรคใหม่สามารถสู้กับพรรคเก่าได้

ปากที่อ้ามาไม่เพียงแต่เห็นลิ้นไก่ แต่สามารถมองทะลุไปถึงตับไตไส้พุงทีเดียว

ทราบแล้วนะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อใคร