วิเคราะห์ : เจาะสเต็ป พล.อ.ประยุทธ์ ล้างภาพ “บิ๊กตู่” หัวหน้า คสช. ขอเป็น “ลุงตู่” ลุยการเมือง

อีกเพียงไม่กี่อึดใจที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศอนาคตทางการเมืองเพิ่มอีกขั้น หลังประกาศว่า “ผมสนใจงานการเมือง”

ซึ่ง “ช็อตต่อไป” คือการลงในนามพรรคใด หลัง “บิ๊กตู่” ได้ปรึกษา “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมาย คสช. แล้วพบว่า ยังไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกพรรคการเมืองใดก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปิดช่องไว้ว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ได้

ว่ากันว่า “บิ๊กตู่” จะประกาศอนาคตตัวเองชัดๆ อย่างช้าคือช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 หรือมกราคม 2562 หลังจาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้

ทั้งนี้ พรรคการเมืองจะต้องเสนอชื่อ “นายกรัฐมนตรี” ให้ กกต.ทราบ หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ ประกาศใช้ภายใน 25 วัน

ในช่วงเวลานั้นเอง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มีความชัดเจนที่สุด จนยากจะปฏิเสธว่าจะไม่ไปเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เพราะทุกอย่างถูกปูทางโดย 4 รัฐมนตรีใน “ครม.ประยุทธ์” ที่ทุ่มสุดกำลังทำทั้งงานในตำแหน่งและงานการเมือง ลงพื้นที่ต่างจังหวัด คล้องมาลัย-ผ้าขาวม้า พบประชาชนเรียกคะแนนเสียง

อีกทั้งได้รีแบรนด์ตัวเองใหม่สลัดภาพ “รัฐมนตรี” ออกไป ใช้คำว่า “พี่” นำหน้าชื่อ ทั้ง “พี่อุตตม” อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค “พี่สน” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาฯ พรรค “พี่สุวิทย์” สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และ “พี่กอบ” กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์กำหนดกลยุทธ์ในการลงสู่สนามการเมือง ด้วยชื่อ “ลุงตู่” ที่ฟีเวอร์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยหวังผลในการสื่อสาร ลดภาพความเป็น “อดีตผู้นำทหาร” ลงไป

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศ “ผมสนใจงานการเมือง” ด้วยเหตุผลอยากสานต่องานที่ทำมา 4 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็มีท่าทีไม่ “ปิดประตู” ตัวเอง ว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในอนาคต แต่พูดในลักษณะ “แทงกั๊ก” ไม่ประกาศชัดหรือพยายามพูดให้คลุมเครือไว้ เพื่อให้นำไปตีความต่อ

หากย้อนกลับไปถึงปี 2557 จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะย้ำว่าตนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้น การกล่าวว่า “ผมสนใจงานการเมือง” ก็เท่ากับว่าได้ “ปลดล็อกตัวเอง” ออกมาจากการไม่ได้เป็นนักการเมืองแล้ว

เพื่อมิให้เกิดปัญหาหรือถูกมองว่า “ตระบัดสัตย์” ได้ในภายหลัง

“มีคนบอกว่าผมเป็นนักการเมืองแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่ ผมยังเป็นนักการทหาร เพียงแต่เข้ามาทำหน้าที่นักการเมืองบริหารงานของภาครัฐเท่านั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ผมเป็นผู้ใหญ่และเป็นทหาร เลยขี้โมโหไปหน่อย ผมไม่ใช่นักการเมือง อย่าหวังว่าผมจะพูดเพราะ พูดเพราะแล้วโกหก ผมไม่ทำ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หากพิจารณาถึงจังหวะก้าวในการ “ปลดล็อกตัวเอง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเกิดขึ้นใน 2 ช่วง โดยช่วงแรก ต้นปี 2561 ที่เข้าปีโค้งสุดท้ายโรดแม็ป คสช. ที่เชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ลงหลังเสือง่ายๆ มาพร้อมกระแสข่าวการตั้ง “พรรคทหาร” ที่จะปูทาง พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. เคยกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 เมื่อถูกสื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่า คสช.จะไม่ตั้งพรรค ไม่เล่นการเมือง

ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็กล่าวว่า “ทำไมจะต้องยืนยันล่ะ ก็ คสช.ไม่ยุ่งการเมืองอยู่แล้ว แต่ถ้าจำเป็น ต้องตั้ง ก็ต้องตั้ง ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องตั้ง”

จริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็หยั่งท่าทีในการเป็น “นักการเมือง” มาตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่ถูกกระแสต้านจนต้อง “กล่าวกลับไปกลับมา” ทำให้เกิดความสับสน เพราะในอีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็กล่าวพาดพิงนักการเมืองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

จนมาถึงเหตุการณ์ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า “บิ๊กตู่” มาแน่งานนี้

“ผมไม่ได้เป็นทหารมาตั้ง 3 ปีแล้ว ตอนนี้ผมเป็นนักการเมือง ที่เคยเป็นทหาร”

“ก่อนหน้านั้นผมถูกสร้างภาพว่าผมเป็นทหาร และมีการสร้างกระแสต่อต้านพรรคทหาร รัฐบาลทหาร พอผมบอกว่าผมเป็นทหาร ก็บอกว่าผมเป็นนักการเมือง พอผมบอกว่าผมเป็นนักการเมือง ก็บอกว่าผมเป็นทหาร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ผมเป็นคนของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะให้ผมเป็นอะไร ที่ทุกคนตั้งให้ ผมก็เป็นได้หมด เพราะวันนี้ผมทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ว่าใครก็ตามที่มายืนตรงนี้ จะมาด้วยวิธีใดก็ตาม ขอให้ดูที่เจตนารมณ์ ความมุ่งหมาย” นั่นคือท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับของ พล.อ.ประยุทธ์

แม้ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์จะมีภาพลักษณ์เป็น “ลุงตู่” มากขึ้น

แต่ภาพความเป็น “บิ๊กตู่” อดีตนายทหารซึ่งครองเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกยาว 4 ปี ในช่วงรอยต่อสถานการณ์การเมืองระอุ โดยเฉพาะในปี 2553 หลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงยุติลง มาถึงปลายปี 2556 ที่กลุ่ม กปปส.ออกมาชุมนุม

ก็ยังเป็นภาพลักษณ์และภาพจำที่ติดตาคนไทยส่วนใหญ่อยู่นั่นเอง

ด้วยความที่ พล.อ.ประยุทธ์เติบโตมาจากครอบครัวทหาร และมีความตั้งใจจะเป็นทหารมาตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าสายเลือดของ พล.อ.ประยุทธ์ คือทหาร นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธการกระทำในแบบนักการเมืองในหลายอย่าง และออกอาการยัวะทุกครั้งที่ใครมากล่าวหาว่าร้ายทหาร

โดยเฉพาะคำถามที่ว่า มีทหารไว้ทำไม?

“ผมเกิดมาเป็นทหาร ถึงตายไปก็เป็นทหาร ถึงเป็นผีก็ยังเป็นผีทหาร ชาติหน้าเกิดใหม่ก็คงเป็นทหารอีก เพราะไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่น”

“วันนั้นเขาถามว่ามีทหารแล้วได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยก็มีทหารได้ก็คือเอาชีวิต ชีวิตเขานี่ทุ่มเทรักษาไอ้แผ่นดินผืนนี้ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร ไว้ให้ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง ผมไม่อยากจะพูดอย่างงี้ วันนี้ผมเบรกไม่อยู่จริงๆ เพราะมันถามผมทุกวันนะ เขาตายไปเท่าไหร่ เขาตายไปเท่าไหร่ เขารักษาแผ่นดินไปเท่าไหร่ มันยังบอกว่ามีทหารไว้ทำอะไร” พล.อ.ประยุทธ์ตอบโต้ด้วยอารมณ์หงุดหงิด

และหากมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นเทคนิคเฉพาะตัวในการ “ปลดล็อก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการพัฒนามาเป็นลำดับ

การเลือกใช้คำพูด ข้อความโต้ตอบ ที่พลิกแพลงได้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ขณะเป็น ผบ.ทบ. เคยออกมายืนยันว่าจะไม่มีการปฏิวัติ

“ไม่ว่าเหตุการณ์ในวันนี้จะเป็นอย่างไร ทหารจะไม่ปฏิวัติแน่นอน หากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกจะเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง เพราะจะทำให้ปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีก…” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 9 ธันวาคม 2556

ทว่าหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับท่าทีมาเรื่อยๆ

“ผมอยากย้ำเตือนทุกพวกทุกฝ่าย ว่าพยายามอย่าก้าวเข้าไปสู่จุดจุด นั้นเลย คนไม่ว่าจะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็มีชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม เขามีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง หากกองทัพออกมาทำรัฐประหาร อาจทำให้เกิดการต่อต้านจากหลายกลุ่มแล้วทำให้เกิดการสูญเสียตามมา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557

และอีกครั้งเมื่อถูกถามเรื่องการปฏิวัติในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

“เป็นคำถามที่ใครเขาก็ไม่ตอบหรอกนะ ผมไม่ตอบอะไรซักอย่าง การรัฐประหารเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ตอนนี้”

และอีก 2 วันหลังการให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้น พล.อ. ประยุทธ์ก็ “ปลดล็อก” ด้วยการทำหน้าที่หัวหน้า คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครอง

น่าสนใจว่า ความพยายามที่จะปลดล็อกตัวเองจากบทบาท “บิ๊กตู่” หัวหน้าคณะ คสช. ไปสู่ “ลุงตู่” ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้น

กระบวนการปลดล็อกและเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นหรือไม่ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป