ฉัตรสุมาลย์ : การศึกษาศาสนา…ออกจะดี

วันนี้ (21 มิถุนายน 2559) อ่านหนังสือพิมพ์ที่บิ๊กๆ ท่านให้สัมภาษณ์ว่า เรียนศาสนาแล้วจะไปทำงานอะไร ควรจะไปเรียนวิชาที่จะประกอบอาชีพได้เป็นประโยชน์กว่า

ดูเหมือนว่าท่านเจาะจงพูดในบริบทของศาสนาอิสลาม แม้กระนั้น ผู้เขียนก็คิดว่า เรามีช่องว่างในการทำความเข้าใจในเรื่องการศึกษาเรื่องศาสนาอยู่มากทีเดียว

ต้องออกมาปกป้อง เพราะผู้เขียนน่าจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่เรียนทางศาสนา แม้ว่างานวิจัยจะเจาะเรื่องพุทธศาสนาแต่คนที่จะเรียนศาสนาขึ้นไปในระดับปริญญาเอกนั้น ต้องมีฐานความรู้เรื่องศาสนาที่กว้างขวาง นั่นคือต้องเรียนศาสนาหลักๆ ที่มีอยู่ในโลกด้วย

ขออนุญาตท่านผู้อ่าน เล่าถึงเส้นทางการเรียนเล็กน้อย เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันได้

ผู้เขียนเริ่มต้นระดับปริญญาตรีที่อินเดีย โดยเรียนปรัชญาเป็นวิชาหลัก และประวัติศาสตร์เป็นวิชารอง เมื่อไปต่อที่แคนาดานั้น ไปเรียนต่อในวิชาศาสนา

จึงถูกบังคับให้เรียนปี 4 ซ้ำเพราะเปลี่ยนสาขาจากปรัชญามาเป็นศาสนา ปีสี่ในภาควิชาศาสนานั้น เมื่อมองย้อนกลับไปสนุกมาก แต่ตอนที่เรียนอยู่ ไม่รู้สึกสนุก เพราะเป็นของใหม่หมด ตั้งแต่การเรียนศาสนายูดาย (ยิว) ไปจนการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล

ทำไมต้องเรียนศาสนายูดาย เพราะศาสนาคริสต์เกิดขึ้นจากศาสนายูดาย แบบเดียวกับที่เราจำเป็นต้องรู้ศาสนาพราหมณ์เพื่อที่จะเข้าใจศาสนาพุทธ

เวลาที่เรียน อนัตตา นั้น จะต้องเรียนก่อนว่า ที่ศาสนาพุทธปฏิเสธอัตตานั้น อัตตาที่ว่านั้น พราหมณ์เขาว่าอย่างไร เขาสอนกันมาอย่างไร เขาเชื่อกันอย่างไร และศาสนาพุทธปฏิเสธอัตตาที่แบบที่พราหมณ์เชื่อนั่นแหละ

ในการเรียนศาสนาคริสต์ เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า พระเยซูนั้น เป็นยิวตั้งแต่เกิดจนตายนะ การเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ศาสนาคริสต์จึงต้องเริ่มที่ศาสนายูดาย

เวลามาพูดตอนนี้ ฟังดูสนุกนะคะ แต่ตอนที่เป็นนักศึกษา ไม่สนุกค่ะ เพราะจับต้นชนปลายไม่ถูก นักเรียนที่เรียนไปจากโรงเรียนคาทอลิก อาจจะมีภาษีกว่า แต่ผู้เขียนจบ ม.8 ไปจากโรงเรียนไทยที่นั่งพับเพียบประมาณนั้น ไม่เคยจับพระคัมภีร์เลย

พอไปเข้าชั้นเรียนอ่านพระคัมภีร์ งงเป็นไก่ตาแตก อาจารย์ที่สอน หน้าตาเหมือนพระเอกหนัง เป็นคนอเมริกัน ทุกอาทิตย์ที่มาสอนต้องขับรถข้ามมาจากฝั่งอเมริกา เพราะมหาวิทยาลัยที่เรียนนั้น แม้อยู่ในแคนาดา แต่ใกล้กับน้ำตกไนแอการ่าค่ะ

เวลาสอน อาจารย์ก็เดินไปเดินมาหน้าชั้น เปิดพระคัมภีร์ แล้วบอกว่า “แมทธิว หนึ่ง สิบเอ็ด”

ผู้เขียนยังไม่รู้เลยค่ะว่าอาจารย์หมายถึงอะไร แปลว่า พระวรสาส์น ฉบับแมทธิว บทที่หนึ่ง วรรคที่ 11 ค่ะ

ยังไม่รู้เลยว่า คัมภีร์ไบเบิลนั้น มีสองส่วน พระคัมภีร์เก่า และพระคัมภีร์ใหม่ ในส่วนของพระคัมภีร์เก่านั้น เป็นของศาสนายูดาย (ยิว) ในส่วนพระคัมภีร์ใหม่เป็นของศาสนาคริสต์ พูดอย่างนี้ก็ไม่ถูกทีเดียว ศาสนาคริสต์รับทั้งพระคัมภีร์เก่าและใหม่ แต่เรื่องราวของพระเยซูจะอยู่ในส่วนพระคัมภีร์ใหม่ค่ะ

การศึกษาศาสนาในมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาแบบวิชาการ ไม่ใช่ศึกษาให้เป็นผู้เชื่อในศาสนานั้น การศึกษาศาสนาอื่นทำให้เราเข้าใจศาสนิกอื่นมากขึ้น และที่สำคัญทำให้เราเข้าใจศาสนาของเราเองลึกซึ้งมากขึ้น

ไม่ว่าศึกษาในศาสนาใด ก็ทำให้เรามีความคิดความเข้าใจในวิธีคิด และบริบทสังคมของศาสนานั้นๆ ดีขึ้น

การศึกษาศาสนาอิสลามก็เช่นกัน

เมื่อผู้เขียนกลับมา ได้เขียนหนังสือประกอบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เรื่อง ศาสนาอิสลาม เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เป็นหนังสือที่ดีนะ เพราะได้รับฟีดแบ็กจากชาวพุทธว่า ทำให้เข้าใจศาสนาอิสลามมากขึ้น

แต่ปรากฏว่า ถูกมุสลิม (บางคน) ในเมืองไทยโจมตีว่า เป็นชาวพุทธจะมาเขียนหนังสือเรื่องศาสนาอิสลามได้อย่างไร

ผู้เขียนเลยเลิกความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพุทธและมุสลิม ตรงนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ศาสนิกเองต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในศาสนาของตน ถ้าพูดกับชาวมุสลิมก็ต้องบอกว่า อย่าไปจำกัดพระอัลลอฮ์ว่า สำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น

มีชาวคาทอลิกที่มาที่วัตรทรงธรรมฯ มากันเป็นกลุ่มใหญ่ในโครงการศาสนสัมพันธ์ ตอนแรกก็รู้สึกเก้อเขิน เพราะท่านธัมมนันทาต้อนรับท่านในพระวิหารที่มีรูปพระประธานองค์ใหญ่ ท่านธัมมนันทาทำให้หายเก้อเขิน ภาษาอังกฤษเรียกว่า break the ice โดยการตั้งคำถามตรงๆ ว่า “คุณเชื่อไหมว่า พระเจ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่งจริงๆ” (omnipresent) เพราะถ้าเชื่อเช่นนั้น ก็ต้องเชื่อด้วยว่า แม้ขณะที่เรานั่งอยู่นี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ใด พระเจ้าก็อยู่กับเราด้วย

พูดเสร็จ พี่น้องคาทอลิกคลี่คลายลงเยอะเลย

การศึกษาศาสนาจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจศาสนาอื่นได้ดีขึ้น เข้าใจศาสนิกของเขามากขึ้น บางครั้ง เมื่อเราไปเผชิญหน้ากับความเชื่อของศาสนาอื่นที่ไม่สอดคล้องกับคำสอนในศาสนานั้นๆ เราก็จะบอกได้เลยว่า การทำเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องศาสนา เพียงแต่เขาเอาศาสนามาอ้างต่างหาก

ทหารและตำรวจที่ต้องทำงานกับศาสนิกต่างศาสนาควรเข้าหลักสูตรศาสนาต่างๆ นะ จะได้มีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการศึกษาศาสนามากขึ้น

อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับการฝึกฝนจากการเรียนศาสนา คือเวลาที่เรียนศาสนาอื่นที่เราไม่ได้เป็นศาสนิก เราต้องถอดแว่นตาสีของเราออก จะได้เข้าใจประเด็นของศาสนานั้นๆ ได้ ตราบเท่าที่เราใส่แว่นตาของชาวพุทธ แล้วพยายามทำความเข้าใจเรื่องความศรัทธาในศาสนาคริสต์ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงความศรัทธาอย่างที่ชาวคริสต์เข้าใจ

ศาสนาคริสต์ พูดถึง leap of faith ก้าวกระโดดแห่งศรัทธา ถ้าเรามีจุดยืน และมองจากจุดยืนของชาวพุทธ ไม่มีทางเข้าใจศรัทธาในความคิดของชาวคริสต์

ชาวคริสต์และชาวพุทธ อาจจะรวมไปถึงชาวมุสลิมด้วย เรามักมีความเชื่อทางศาสนาตามประเพณีนิยม เชื่อตามๆ กันมา ไม่รู้จริง ถ้าจะพูดถึงมุสลิม ก็รู้แต่เพียงว่า มุสลิมไม่กินหมู แต่ไม่มีความพยายามที่จะเข้าใจในคำสอนของศาสนาอิสลามที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น

ปัญหาความรุนแรงในสี่จังหวัดภาคใต้ ไม่มีใครพูดถึงว่า ชาวพุทธที่ต้องลงพื้นที่ควรที่จะได้เรียนศาสนาอิสลามก่อนนะ ถ้าต้องไปทำงานกับชาวมุสลิมในพื้นที่ ด้วยความรู้เพียงว่า มุสลิมไม่กินหมู ตัวเราเองอาจจะกลายเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาด้วยซ้ำไป

ยิ่งไปกว่านั้น เราชาวพุทธ อยู่ในบริบทใหญ่ที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธ ถือกันมาตามประเพณี ไม่เคยเห็นความสำคัญว่า ทำไมเราต้องเรียนพุทธศาสนา เรียนจริงๆ ไม่ใช่ประเภทท่องจำไปสอบนะ

ปัญหาใหญ่โตของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ก็มาจากตรงนี้แหละ คือ ชาวพุทธ ไม่รู้พุทธ ที่เรียกว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธนั้น เอาเข้าจริงๆ เป็นศาสนาถือผีไปกว่าครึ่ง เป็นความเชื่อที่มาจากอถรรพเวท ของพราหมณ์ ทำเวทมนตร์คาถาให้ผัวรักผัวหลงนั้น จัดอยู่ในประเภทนี้ทั้งนั้น ไปดูแม่ค้าที่ขายของที่แถวท่าพระจันทร์ ควักปลัดขิกออกมาแตะของที่ขาย ให้ขายได้ ให้รวยๆ ก็อยู่ในความเชื่อพื้นบ้านทั้งสิ้น เอาเข้าจริงๆ มีความเชื่อที่เป็นพุทธจริงๆ ที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้สักร้อยละ 10 กระมัง

นี่แหละผลพวงของการไม่ศึกษาศาสนา ทหาร ตำรวจก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้

ในหมู่ของพระภิกษุสงฆ์เอง ก็แบกเอาความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธอยู่มาก

แม้ที่ออกข้อสอบคัดเลือกพระนักศึกษาที่เรียนปริญญาโท ส่วนใหญ่ก็ยังตอบว่า เอกลักษณ์คำสอนของพระศาสนาคือเรื่องกรรม

อันนี้เราพูดถึงระดับวิชาการในระดับมหาวิทยาลัยนะคะ ขออนุญาตเฉลยไว้ตรงนี้ เพราะท่านผู้อ่านอาจจะถามในใจต่อว่า แล้วเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาคืออะไร คือเรื่องอนัตตาค่ะ แต่ขอไม่ลงรายละเอียด เดี๋ยวจะออกนอกประเด็นไปไกล

นับประสาอะไรกับชาวพุทธส่วนใหญ่ในประเทศ ที่เป็นไปตามประเพณีนิยม

ตอนนี้สังคมก็เป็นสังคมของการเสพสื่ออย่างแรง หากผู้นำของประเทศไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาศาสนา หนทางที่พอจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้บ้างก็เลยถูกปิดตาย

สิ่งที่ท่านกลัวในเรื่องการศึกษาศาสนานั้น อาจจะกลัวว่า เป็นการสอนที่ล้างสมอง แต่การเรียนการสอนศาสนาในต่างประเทศเป็นการเรียนการสอนระดับวิชาการที่จรรโลงความรู้ความเข้าใจในศาสนามากกว่า มิใช่เฉพาะศาสนาของตน แต่เข้าใจประเด็นศาสนาอื่นด้วย เป็นเส้นทางที่จะทำให้ศาสนิกต่างศาสนาอยู่ด้วยกันได้ด้วยความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น

การเรียนรู้คำสอนในศาสนานั้น ถ้าเป็นศาสนาอิสลาม คือ ความนอบน้อมต่อพระเจ้า

คนที่เข้าใจพระเจ้าจริงๆ ไม่มีทางที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมได้ จึงต้องสนับสนุนให้เรียนศาสนาอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ช่วยกันปกป้องศาสนา ไม่ให้นักการเมืองเอาศาสนาไปใช้ในทางที่ผิดไปจากคำสอนเดิม

ส่วนที่เรียนศาสนาเพื่อซ่องสุมกำลังพลนั้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาศาสนา แต่เป็นการล้างสมอง ซึ่งปรากฏในสังคมที่ไม่เคารพพระเจ้า ไม่เคารพพระพุทธเจ้าต่างหาก

เรายังต้องการคนที่มีความรู้ทางศาสนาในระดับวิชาการเพื่อจะได้มาสอนทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับวิทยาลัยในประเทศอีกมาก ยังไม่ตกงานดอกค่ะ

ตอนที่ผู้เขียนเรียนปรัชญาศาสนาก็มีคนทักแบบเดียวกัน ว่ากลับไปประเทศไทยจะหางานทำยาก ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เรียนรู้ศาสตร์อันใดก็ขอให้รู้จริง อย่ารู้อย่างงูๆ ปลาๆ จะมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองทั้งนั้น