สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง / มีดีที่สำโรง

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

มีดีที่สำโรง

มีอำเภอและตำบลชื่อสำโรงอยู่ในหลายจังหวัดของไทย

ที่ดูจะคุ้นเคยสำหรับชาวกรุงเทพฯ ก็ที่ตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทก็มีสถานีสำโรงอยู่ด้วย

ในอดีต การตั้งชื่อหมู่บ้านหรือตำบลมักจะนำเอาต้นไม้ที่ขึ้นจำนวนมากในละแวกนั้นมาเรียกขาน เช่น บ้านนาป่าติ้ว เป็นต้น

ชื่อสำโรงก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีต้นสำโรงอยู่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งหลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่า สำโรงคือต้นไม้ชนิดหนึ่งที่จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว

มีสรรพคุณยาสมุนไพรมากมาย

 

สําโรงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sterculia foetida L. โดยทั้งชื่อสกุลและชื่อชนิดมีความหมายว่า “กลิ่นเหม็น”

คนตั้งชื่อเช่นนี้น่าจะได้กลิ่นดอกตอนบานเต็มที่ ที่มีกลิ่นไม่หอมเอาเลย

หรืออาจกล่าวได้ว่า ชื่อนี้มาจากชื่อของเทพเจ้าที่ชื่อว่า สเตอควิลินัส (Sterquilinus) ซึ่งเป็นเทพแห่งปุ๋ย (fertilizer or manure)

อาจเนื่องมาจากเป็นต้นไม้ที่มีใบดกหนามาก เมื่อร่วงหล่นลงมาจึงกลายเป็นปุ๋ยจำนวนมาก

สำโรงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ bastard poon tree, java olive tree, hazel sterculia, and wild almond tree

เป็นพืชในวงศ์ชบา มีการกระจายพันธุ์ได้ทั้งในแอฟริกาตะวันออก อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงออสเตรเลีย

 

ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นมีพูพอนต่ำๆ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน เรียงเวียนตอนปลายกิ่ง ใบย่อย 5-7 ใบ รูปรีหรือรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม

ดอกสีแดงหรือสีแสดและมีกลิ่นเหม็น ดอกกำลังออกในช่วงเวลานี้เลย คือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ผลเป็นแบบแห้งแตกเปลือกแข็ง สีแดงปนน้ำตาล ผลออกช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน

แม้ดอกสำโรงไม่ชวนดม แต่ภูมิปัญญาการใช้สำโรงมีประโยชน์ในหลายประการ

เช่น

 

เปลือกต้น มีรสฝาดสุขุม ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยากล่อมเสมหะและอาจม ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ช่วยแก้โลหิตและลมพิการ และช่วยแก้ไส้เลื่อนได้

ในตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ว่า ให้ใช้เปลือกต้นสำโรง (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาฝนกับฝาละมีหรือกระเบื้องดินเผาและผสมกับน้ำปูนใส (ปูนขาวหรือปูนแดงที่ใช้กินกับหมากพลู) โดยให้ฝนจนเป็นน้ำข้น แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาลูกอัณฑะบริเวณที่บวมที่เริ่มเป็นไส้เลื่อน

ให้ฝนทาวันละหลายๆ ครั้ง จะช่วยทำให้ถุงอัณฑะหดตัว ให้ทาติดต่อกันประมาณ 30 วัน ได้ผลดี

เมล็ด นำมากินได้เหมือนกินถั่ว รสชาติคล้ายโกโก้แต่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ

เนื้อในเมล็ดมีกรดไขมัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อโรค เชื้อราที่ผิวหนัง และมีการใช้เป็นสมุนไพรกำจัดแมลง น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้

ส่วนยางเหนียว (gum) จากลำต้นมีการพัฒนาเป็นโพลิเมอร์ธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นวัสดุธรรมชาติที่ช่วยนำพาตัวยาเมื่อเรากินเข้าไปแล้วให้สามารถยึดติดเยื่อบุเมือกของร่างกายได้

เปลือกหุ้มเมล็ด มีสรรพคุณช่วยแก้กระหายน้ำ

ใบ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลในเลือดและลดความอ้วน และมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้

ผล มีรสฝาด เป็นยาแก้ท้องร่วง

ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

 

ในความรู้ของหมอยาพื้นบ้านอีสานมีการใช้สำโรงปรุงเป็นยาอยู่หลายตำรับ ตัวอย่างเช่น

แก้โรคทรางขี้ (มีอาการกินข้าวลงไปก็ถ่าย กินน้ำลงไปก็ถ่าย อาหารหรือน้ำไม่มีเหลือในท้อง) ยาแก้ให้เอาแก่นส้มโฮง (สำโรง) แช่น้ำกิน

แก้ประดง (อาการมึนตึงตามข้อมือ ข้อเท้า เดินไปมาไม่สะดวก) ยาให้เอา แก่นหมากข่าลิ้น (กัดลิ้น) ดูกใส (ขันทองพยาบาท) ต้นหาด (มะหาด) ต้นชะทาง (กล้วยน้อย) ต้นพะอุง (พะอูง) ตาไก้ (กำแพงเจ็ดชั้น) ตากวาง (กำแพงเก้าชั้น) ส้มโฮง (สำโรง) ต้นหมากดูก (มะดูก) ถ่มพาย (กระทุ่มนา) แช่น้ำกิน

แก้โรคสะดวงดาก (ริดสีดวงทวาร) ให้เอารากส้มโฮงมาต้มกิน

แก้โรคสะดวงเข้าข้อ ยาให้เอาแก่นส้มโฮง (สำโรง) แก่นเฮื้อนกวาง (ตับเต่าต้น) แก่นข่าลิ้น (กัดลิ้น) ต้ม 3 เอา 1 ยาหัว (ข้าวเย็นใต้) หนัก 2 ฮ้อย บดใส่กัน ปั้นเป็นลูกกอน (กลอน) ขนาดนิ้วก้อย ตาก 7 หมอก 7 แดด กินเช้า-เย็นวันละ 2 เม็ด

นอกจากนี้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดสำโรงมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับน้ำมันที่ได้จากดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันจากเมล็ดองุ่น ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ ใช้จุดไฟได้ น้ำมันจากเมล็ดสำโรงประกอบด้วย กรดไขมันไซคลอโพรปีน (cyclopropene fatty acids) เช่น 8, 9 methylene-heptadec-8-enoic acid (malvalic acid) และ 9, 10-methylene-ocadec-9-enoic acid (sterculic acid)

น้ำมันจากเมล็ดมีกลิ่นคล้ายกลิ่นโกโก้ แต่ไม่ขมเหมือนโกโก้ รสชาติเหมือนถั่วลิสง น้ำมันจากเมล็ดยังนำมาผสมกับดินขาวใช้เป็นสีวาดภาพ

เมล็ดกินได้ แต่ควรต้ม เผาหรือทำให้สุกเสียก่อน และไม่ควรกินมากไปเพราะจะทำให้ถ่ายท้อง

รากอ่อนก็นำมากินดิบได้มีแป้งคล้ายมันแกว

ประโยชน์อื่นๆ เช่น เปลือกต้นนำมาทำเส้นใยสานกระเป๋า สานเสื่อ ทำกระดาษได้ ยางไม้ (Gum) ที่ได้จากลำต้นหรือกิ่ง ใช้ในการทาสิ่งต่างๆ เช่น สันหนังสือ

เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องดนตรี ของเล่น หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้เช่นกัน

 

เด็กน้อยเด็กโตที่อยู่ในภาคอีสานรู้จักเมล็ดสำโรงดี เพราะรู้ว่ามีน้ำมันเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 40

จึงนิยมนำเอาเมล็ดมาเล่นเป็นบั้งไฟ โดยเจาะรูขนาดเล็กที่ด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด เอาก้านทางมะพร้าวเสียบเข้าไปในรู แล้วจุดไฟที่ก้านทางมะพร้าว

น้ำมันจากเมล็ดเมื่อเกิดการเผาไหม้ก็จะเกิดแรงผลัก พุ่งขึ้นไป

สำโรงเป็นไม้โตเร็ว ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ส่งเสริมให้ปลูกหรือใช้ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมได้ดีมาก

แม้กลิ่นดอกสำโรงไม่ชวนดม แต่ประโยชน์มากมายน่านิยม