คนของโลก : “คาร์ลอส กอส์น” ยักษ์ใหญ่โลกยานยนต์

คาร์ลอส กอส์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ ผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นบุคคลทรงอิทธิพลของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเวลานี้ต้องสะดุดขาตนเอง เมื่อต้องเผชิญกับคดีความผิดเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบและแจ้งรายได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ในประเทศญี่ปุ่น

ปัญหาของคาร์ลอส กอส์น ผู้ที่ตกเป็นข่าวคราวใหญ่โตระดับโลก ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง เมื่อหุ้นของบริษัทรถยนต์ในฝรั่งเศส อย่าง “เรโนลต์” รวมไปถึง “นิสสัน” และ “มิตซูบิชิ” ในญี่ปุ่น หุ้นร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

กอส์นเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตรถยนต์ มีพนักงานรวม 470,000 คน ขายรถยนต์ได้จำนวนมากถึง 10.6 ล้านคัน จากโรงงานผลิต 122 แห่งทั่วโลก เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

 

“เลอ คอสต์ คิลเลอร์” ในความหมายของนักตัดลดต้นทุนมือฉมัง เป็นฉายาที่ใช้เรียก “กอส์น” ผู้มีบ้านเกิดที่ประเทศบราซิล

กอส์น ลูกชายครอบครัวชาวเลบานอน ฉายแววความรู้ด้านรถยนต์ตั้งแต่มีอายุเพียง 5 ขวบ สามารถแยกแยะรถยนต์ชนิดต่างๆ ได้ด้วยการฟังเพียงแค่เสียงแตรรถยนต์เท่านั้น

กอส์นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์โปลีเทคนิคของฝรั่งเศส เริ่มงานที่แรกที่บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์อย่าง “มิชลิน”

นักธุรกิจความสามารถสูง ไต่เต้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในเวลาอันรวดเร็วด้วยผลงานเปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในอเมริกาเหนือไปอย่างสิ้นเชิง

ในปี 1996 กอส์นถูกบริษัท “เรโนลต์” ดึงตัวเข้าร่วมงานเพื่อทำงานเคียงข้าง “ลูอิส ชไวต์เซอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทรถยนต์จากฝรั่งเศส และช่วยให้เรโนลต์กลับมาทำกำไรอีกครั้งด้วยฝีมือการจัดการปรับโครงสร้างบริษัทให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3 ปีต่อมา กอส์นถูกส่งไปบริหารกลุ่มบริษัทนิสสันที่โรโนลต์เพิ่งซื้อกิจการมาโดยมี “เป้าหมาย” ในแบบเดียวกันภายใน 2 ปี

และกอส์นก็ทำสำเร็จในเวลาเพียงแค่ “ปีเดียว”

 

ผลงานอันโดดเด่นทำให้กอส์นได้รับการยกย่องในฐานะ “ฮีโร่” ของวงการธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น และมีนักธุรกิจไม่กี่คนที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือการ์ตูนของประเทศที่วรรณกรรมการ์ตูนฝังรากลึกในสังคม

หลังนำเรโนลต์และนิสสันกลับมาสู่เส้นทางการเงินที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องผ่านกระบวนการอันเด็ดขาดด้วยการ “ตัดลดตำแหน่งงานนับพันตำแหน่ง” ในแต่ละบริษัท กอส์นผู้ที่ถือสัญชาติฝรั่งเศสอยู่ในเวลานี้ ก็เริ่มเดินหน้าไปสู่อนาคตด้วยการมุ่งพัฒนา “รถยนต์ไฟฟ้า” อย่างเต็มที่

และในเวลานี้ “กอส์น” ที่กำลังอยู่ในเส้นทางฟื้นคืนบริษัท “มิตซูบิชิ” หลังจากนิสสันเข้าซื้อหุ้น 34 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2016

ทว่าต้องมาถูกจับกุมเสียก่อนฐานไม่รายงานค่าตอบแทนที่แท้จริงที่ได้รับจากการบริหารนิสสันให้ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นรับทราบ

 

ปัญหาเกี่ยวกับ “ค่าตอบแทน” ของผู้บริหารต่างชาติในญี่ปุ่นผู้นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ กอส์นเคยต้องออกมาปฏิเสธกระแสข่าวกรณีกลุ่มบริษัทพันธมิตรวางแผนที่จะเปิดบริษัทในเนเธอร์แลนด์เพื่อจ่ายโบนัสลับๆ ให้กับกอส์นเมื่อปี 2017

ขณะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการฝรั่งเศสซึ่งถือหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทเรโนลต์ กดดันให้กอส์นตัดลด “ค่าตอบแทน” ที่ได้เมื่อปี 2017 สูงถึง 7.25 ล้านยูโร หรือราว 273 ล้านบาทต่อปี ลง 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นรายจ่ายที่มากจนเกินไป

ปัญหาใหญ่ที่กอส์นต้องเผชิญดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นผลมาจากการสร้างศัตรูในวงการธุรกิจของญี่ปุ่น

หนึ่งคือ การ “เหยียบย่ำ” วัฒนธรรมการบริหารงานเดิมๆ ของญี่ปุ่น

และสองคือ ระดับค่าตอบแทนที่สูงจนทำลายมาตรฐานค่าตอบแทนของซีอีโอบริษัทในญี่ปุ่นอย่างย่อยยับ

ยิ่งกว่านั้นค่าตอบแทนที่สูงเทียมฟ้านั้นถูกมองว่าอาจส่งผลให้เกิดการอิจฉาริษยา โดยเฉพาะเมื่อกอส์นจัดงานฉลองสมรสกับภรรยาคนที่สองอย่างหรูหราที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ด้วยธีมงานแบบ “มารี อองตัวเนตต์”

ยิ่งกว่านั้นนักวิเคราะห์ยังมองไปถึงว่า กรณี “คาร์ลอส กอส์น” ครั้งนี้จะส่งผลให้โฉมหน้าการดำเนินธุรกิจในญี่ปุ่นโดยมีผู้บริหารเป็นชาวต่างชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง