บทวิเคราะห์ : “ไอคอนสยาม” (ICON SIAM) รถไฟฟ้าสาย “สีทอง” ดูแลให้สะท้อนความยิ่งใหญ่แท้จริง

ไอคอนสยาม (ICON SIAM) ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน ถนนเจริญนคร กรุงเทพฯ

ก่อเกิดขึ้นมาพร้อมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสาย “สีทอง” ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท

“คุณชฎาทิพ จูตระกูล” ของกลุ่ม “สยามพิวรรธน์+เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)+คุณทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ แห่งแม็กโนเลีย (บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่)” เคยให้สัมภาษณ์ว่า รถไฟฟ้าสาย “สีทอง” จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอีกหลายสาย อาทิ สายสีเขียว สีแดง และสีม่วงในอนาคต ซึ่งมีผู้ตั้งคำถาม ไม่น่าจะเป็นไปได้

บอกว่าเชื่อมต่อเพื่อรองรับกับการจราจร การสัญจรทางน้ำ ทางเรือ และทางรางที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นจริงมากกว่า

ซึ่ง “ไอคอนสยาม” ในฐานะฝ่ายได้ประโยชน์คงต้องช่วยอธิบายเพื่อความสบายใจ และคิดว่าน่าจะอธิบายได้

 

รถไฟฟ้าสาย “สีทอง” มีเส้นทางระยะสั้นๆ ไม่ถึง 2 กิโลเมตร

จะขนผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) เชิงสะพานตากสิน (สถานีกรุงธนบุรี) บนถนนกรุงธนบุรี เจริญนคร ผ่านสู่ “ไอคอนสยาม” ไปสุดทางตรงหน้าโรงพยาบาลตากสิน ใน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน

ตรงความต้องการของ “ไอคอนสยาม” ที่จะให้บริการในเรื่องการเดินทางมาเที่ยว มาพักในโรงแรม หรือมาซื้อห้องชุดในโครงการ เพราะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ดังกล่าว

ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึง “ไอคอนสยาม” ว่าไม่ได้สร้างความแออัดเรื่องการจราจรระหว่างทำการก่อสร้างเกินไปนัก เพราะยังไม่ได้รับผลโดยตรง

ถึงวันนี้ขอเปลี่ยนคำพูด ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร เฉพาะอย่างยิ่งกับการปิดการจราจรบนถนนเจริญนคร ถนนกรุงธนบุรี กระทั่งถึงถนนตากสิน เพื่อลงมือทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย “สีทอง”

เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับชีวิตประจำวันของผู้คนในละแวกดังกล่าว

โดยเฉพาะกับธุรกิจห้องแถวซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในบริเวณนั้น

ดังเช่นการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งได้รับผลกระทบมากมายจริงๆ ขณะทำการก่อสร้างมานานนับ 10 ปี บ้านเรือนที่พักอาศัย ร้านค้าขายประเภทตึกแถวสองข้างทางทำมาค้าขายไม่ได้อีกต่อไป

บางร้านต้องปิดหนีไปอยู่ที่อื่นถ้ามีหนทางไปและมีกำลังพอ แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมย่อมต้องรับไปเต็มๆ

ผู้ที่พอจะได้รับผลพวงจากการก่อสร้างบนถนนเส้นดังกล่าวบ้าง คงหนีไม่พ้นพวกทุนใหญ่ ประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม

ทำอย่างไรเราจะลดผลกระทบตรงนี้ลงบ้าง

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลทางกายภาพบนเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย “สีทอง” กับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงไม่มีทางเชื่อมต่อกันได้เลย รถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย อยู่ทางทิศตะวันออกตามแนวทางรถไฟ รถไฟฟ้าสายสีทองอยู่ทางทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างกันมากกว่า 10 กิโลเมตร

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางซื่อไปยังเขตราษฎร์บูรณะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน จะโผล่ขึ้นมาเป็นรางยกระดับบริเวณดาวคะนอง ห่างจากรถไฟฟ้าสาย “สีทอง” ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้าราว 4-5 กิโลเมตร จึงไม่มีทางเป็นไปได้สำหรับการเชื่อมต่อ ไม่มีใครเชื่อว่ากรุงเทพมหานครไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าสายนี้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นอกจากรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ดังกล่าวเท่านั้น

ซึ่งก็คงต้องรอดูว่า ผู้ที่รับผิดชอบจะสามารถหาทางเชื่อมต่อกันได้อย่างไร และด้วยวิธีไหน ซึ่งก็น่ามีทางออกได้ อย่างกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2537 กำหนดให้โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางในบริเวณ 25 ตารางกิโลเมตร และควรเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ 87 ตารางกิโลเมตร

แต่ต่อมา คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ให้ยกเว้นรถไฟฟ้าสาย “สีทอง” ให้สร้างเป็นรถไฟฟ้ายกระดับได้ ทำให้โครงการนี้เกิดได้มาแล้ว แสดงว่าทุกปัญหาย่อมหาทางออกได้

 

คุณชฎาทิพ จูตระกูล กล่าวถึงการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีทองว่า “เราเล็งเห็นปัญหาของการจราจรบนถนนเจริญนคร จึงทุ่มงบฯ 4,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ให้กรุงเทพมหานคร เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง สีม่วงในอนาคต–”

ซึ่งก็ถือเป็นวิน-วินเกม เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสาย “สีทอง” ความยาว 1.8 กิโลเมตร (3 สถานี) ไอคอนสยามเป็นผู้ได้สัมปทานใช้พื้นสถานีขบวนรถทั้งหมดของรถไฟฟ้าสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเวลานาน 20 ปี ว่ากันว่าระยะเวลาการใช้พื้นที่ดังกล่าวอาจเท่ากัน หรือมากกว่าราคาที่ใช้ในการก่อสร้างก็ย่อมเป็นไปได้

บริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ชนะการประมูลก่อสร้าง และเริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว โดยมีกำหนดเสร็จในเวลา 24 เดือน ซึ่งได้มีการปิดถนน 3 เส้นทางดังที่กล่าวมาแล้ว และสร้างความแออัดเรื่องการจราจรเป็นอย่างยิ่ง

จนกระทั่งเปลี่ยนชีวิตประจำวันของประชาชนในย่านหรือละแวกดังกล่าว พร้อมส่งผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างสำหรับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสัญจรผ่านไปมา

โดยเกี่ยวข้องเชื่อมต่อกันระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ-ธนบุรี บนเส้นทางข้ามสะพานตากสิน

จึงอยากให้คำนึงถึงเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านในทุกวิถีทาง เพื่อให้ไอคอนสยามอยู่ในใจชาวบ้านว่าช่วยดูแลแม้ผลกระทบในทุกด้าน

รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ซึ่งสุดสายริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ (สถานีสะพานตากสิน) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานครที่สถานีกรุงธนบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงรางเดี่ยวเพราะติดขัดเรื่องสะพานตากสิน ถึงเวลานี้ได้ข่าวว่ามีการเสนอโครงการแก้ปัญหาการรอหลีกของรถไฟฟ้าซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยใช้เวลา 3 ปี ขึ้นกับว่าจะมีการอนุมัติ ประมูล และได้ลงมือก่อสร้างเมื่อไร?

ว่ากันว่า ถ้าหากลงมือก่อสร้าง ผู้โดยสารจะต้องมีการต่อรถบัสข้ามไปมาด้วย เพราะรถไฟฟ้าไม่สามารถข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในระหว่างการก่อสร้าง เราจะรับมือกันอย่างไร

 

ต้องขอขอบพระคุณสื่อออนไลน์ซึ่งนำเสนอข้อมูลเรื่องรถไฟฟ้าสาย “สีทอง” ที่ได้นำเผยแพร่ข้อมูลอีกด้าน เพื่อนำไปสู่การดูแลแก้ไขผู้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันธุรกิจก็ดำเนินการไปได้

ถึงอย่างไรคนเรา “ไม่มีทางเท่ากัน” อย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะปกครองในระบอบไหน รวมทั้งระบอบ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศที่เจริญแล้วในทุกๆ ด้าน

ความจริงประชาชนทั่วไปของประเทศนี้ย่อมสามารถยอมรับกับความ “แตกต่าง” ยอมรับได้กับการทำการค้า การลงทุนสำหรับประเทศ “เสรีนิยม” รับได้กับการค้าการลงทุนสำหรับนายทุนใหญ่

ขอเพียงแต่ต้องการเรื่องสิทธิที่จะได้รับการดูแล มี “สิทธิเสรีภาพ” ในการแสดงออก ในการประกอบอาชีพทำมาหากินพอสมควร รวมทั้งต้องการมีส่วนได้เสียกับการบริหารประเทศแบบ “เลือกตัวแทน” เข้าไปเป็นปากเสียงเท่านั้น

ยอมรับกับ “ความแตกต่าง” ไม่ทนกับการถูกปิดหูปิดตาปิดปาก และปิดกั้น “สิทธิเสรีภาพ” อย่างการเมืองตอนนี้