มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/ มองเมืองฮานอย

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

มองเมืองฮานอย

ฉบับที่แล้ว พาไปมองเมืองฮานอย ฉบับนี้ขอพาไปมองบ้านเรือนของคนฮานอย หรือที่จริงอาจรวมถึงเมืองอื่นในเวียดนาม

พื้นฐานเดิมของบ้านเรือนในเวียดนาม คงจะได้รับอิทธิพลจากจีน เป็นบ้านชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยอาคารหลายหลังสร้างต่อเนื่องกัน แต่จะเว้นว่างให้เป็นลานระหว่างอาคาร

ซึ่งที่จริง รูปแบบดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเวียดนามเท่านั้น หากเกิดขึ้นทั่วทั้งประชาคมอาเซียน อดีตสมัยที่มีคนจีนอพยพเข้าไปทำมาหากิน

แบบแผนดังกล่าว ถ้าอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์ จะกลายเป็นมรดกสถาปัตยกรรม โดยกำหนดคำเรียกขานขึ้นใหม่ว่า ชิโนโปรตุเกส ที่รัฐบาลเขาฉลาด นำไปต่อยอดทางการท่องเที่ยว

เช่นเดียวกับในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อาคารแบบนี้ยังได้รับความนิยมจนถึงวันนี้ มีการเสริมเพิ่มเติมต่อจนสูงหลายชั้น จนใหญ่โต จนสวยงามทันสมัย

 

ส่วนในเมืองไทย มีการดัดแปลงและย่นย่อเหลือเฉพาะส่วนหน้าติดถนน และนิยมสร้างต่อเนื่องกันหลายคูหา

ในยุคแรกจะสร้างด้วยไม้หรือครึ่งตึกครึ่งไม้ เรียกว่า เรือนแถวหรือห้องแถว

ต่อมามีการก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า ตึกแถว

เสียดายว่าตึกแถวที่เริ่มสร้างมาแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง และเจริญรุ่งเรืองทั่วทั้งประเทศ ระหว่างสงครามเวียดนาม เป็นที่รังเกียจของข้าราชการ โดยเฉพาะนักวิชาการนักเรียนนอก จึงออกกฎระเบียบขัดขวางการสร้างใหม่

ตึกแถวค่อยๆ เสื่อมความนิยม ในขณะที่อาคารเก่าถูกรื้อถอน หรือปล่อยให้ทรุดโทรม จากการแบ่งเป็นห้องเช่าราคาถูก

 

แต่ในฮานอย อาคารแบบนี้ยังคงได้รับความนิยม มีการปรับแต่งสภาพให้เหมาะกับบ้านเมืองปัจจุบัน

เริ่มจากการสร้างแยกเป็นหลังๆ ไม่ได้ต่อเรื่องกันเป็นแถว ตามการถือครองที่ดิน จึงไม่อาจเรียกว่าตึกแถวได้

อาคารแต่ละหลัง แม้จะกว้างเพียงสามสี่เมตร แต่จะลึกเข้าไปหลายสิบเมตร

จากเดิมที่สร้างแยกเป็นหลังๆ มีลานระหว่างอาคาร เมื่อสมาชิกในครอบครัว และกิจการค้าเจริญ มีการเติมเพิ่มต่อจนเต็มพื้นที่ รวมทั้งซ้อนสูงหลายชั้น

เกิดเป็นรูปแบบพิเศษไม่เหมือนใคร ที่มีผู้เรียกขานว่า บ้านท่อบ้าง หรือตึกหลอด tube house บ้าง

การต่อและเติมดังกล่าว เมื่อต่างคนต่างต่อ ต่างเวลา ต่างเงิน และต่างรสนิยม ทำให้ตึกหลอดที่เรียงรายสองฝั่งทุกถนน มีสภาพความสูง รูปลักษณ์ และการใช้สอยต่างกัน เป็นที่ฉงนและน่าสนใจ

เป็นภูมิทัศน์เมืองเฉพาะถิ่นของฮานอยหรือเวียดนาม

ที่สำคัญ ต่างไปจากการสร้างอาคารชุดพักอาศัยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตเมืองเก่า

อาคารเหล่านั้นจะมีรูปแบบเหมือนอาคารในกรุงเทพฯ ในจีน หรือในเมืองอื่น

แม้จะเป็นระเบียบ มีที่ว่างอยู่บ้าง แต่ทว่าไม่น่าสนใจ

ฮานอยที่พบเห็นวันนี้ จึงประกอบด้วยหมู่ตึกหลอดและกลุ่มตึกสูง อยู่รวมกันเป็นอาคารบ้านเรือนที่หนาแน่น สับสน วุ่นวาย และไร้ระเบียบ

ต่างไปจากแบบแผนเมืองในยุโรป และระบบเมืองในอเมริกา

แต่น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คน ที่สามารถหาที่ว่าง หาช่องหายใจ หาทางสัญจรได้อย่างแยบยล

อีกทั้งดำเนินชีวิตสันติสุข ตามมาตรฐานคนอาเซียน อันเป็นอัตลักษณ์ที่แปลกต่างไปจากโลกตะวันตกอย่างมาก และต่างไปจากโลกตะวันออกเล็กน้อย

จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับผู้บริหารบ้านเมือง ที่ต้องคิดหาวิธีการพัฒนาเมืองอย่างเหมาะสม

และเป็นเรื่องยากสำหรับสถาปนิก นักผังเมืองที่ไม่คิดจะลอกตำราฝรั่งหรือญี่ปุ่น