Ghost : 2561 ซีรี่ส์การแสดงศิลปะวิดีโอและศิลปะแสดงสด อันแปลกประหลาด สดใหม่ ล้ำสมัย ครั้งแรกในประเทศไทย (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ซีรี่ส์ศิลปะ Ghost : 2561 ยังจัดแสดงในพื้นที่เวิ้งศิลปะ N22 ซึ่งเป็นแหล่งรวมพื้นที่แสดงงานศิลปะอันหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ อาร์ทติส+รัน ที่แสดงผลงานของศิลปินชาวฮ่องกง แซมซัน ยัง อย่าง We Are the World, As Performed by the Hong Kong Federation of Trade Unions Choir (2014)

We Are the World, As Performed by the Hong Kong Federation of Trade Unions Choir(2014),แซมซัน ยัง

วิดีโออาร์ตสุดแสบสัน ที่ตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียมอันเคร่งครัดของดนตรีคลาสสิคและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยภาพและเสียงการแสดงของคณะประสานเสียงของสมาพันธ์แรงงานฮ่องกงผู้สนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังขับร้องเพลง We Are the World ซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษยธรรม ความเท่าเทียม และสันติภาพ ด้วยเสียงกระซิบที่แหบพร่าจนน่าขัน

หรือผลงานในคาร์เทล อาร์ทสเปซ ของนักสร้างหนังสัญชาติฟิลิปปินส์/แคนาดา สเตฟานี โกมิเลง อย่าง Lumapit Sa Akin, Paraiso (Come to Me, Paradise) (2016) สารคดีไซไฟที่นำเสนอภาพชีวิตประจำวันของสาวรับใช้ชาวฟิลิปปินส์สามคนที่มาทำงานและใช้ชีวิตห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอนในฮ่องกง พวกเธอมารวมตัวกันในวันหยุดตามแหล่งพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ ในฮ่องกง

Lumapit Sa Akin, Paraiso (Come to Me, Paradise) (2016),สเตฟานี โกมิเลง

เรื่องถูกเล่าผ่านสายตาของโดรนติดกล้องบันทึกภาพชื่อ Paradise และเสียงบรรยายของแม่ของศิลปินซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ผู้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคนาดาในช่วงยุคทศวรรษที่ 70 โกมิเลงนำเสนอประเด็นของแรงงานพลัดถิ่นชาวฟิลิปปินส์ทับซ้อนกับประวัติศาสตร์ส่วนตัวของมารดาผสมผสานเข้ากับเรื่องราวไซไฟได้อย่างลงตัว

และสร้างความรู้สึกแนบชิดให้ผู้ชมด้วยการปูพื้นและผนังห้องแสดงงานด้วยลังกระดาษที่สาวรับใช้เหล่านั้นใช้ปูรองนั่งยามพักผ่อนหย่อนใจ

และผลงานในด็อกซ่า อาร์ท แล็บ ของศิลปินนักทำหนังชาวไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล อย่าง Golden Spiral (2018) วิดีโอจัดวาง หนังสั้นไซไฟที่เล่าเรื่องราวของ “วงก้นหอย” ในช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าต่างๆ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์, นิยายพื้นบ้าน, การ์ตูนไซไฟ, ในรูปแบบของทฤษฎีสุนทรียศาสตร์, งานศิลปะ, งานสถาปัตยกรรม ไปจนถึงโฆษณาชวนเชื่อที่ล้อเลียนความพยายามในการเอาชนะริ้วรอยและความชราจากกาลเวลาด้วยเมือกหอยทาก

Golden Spiral (2018),จุฬญาณนนท์ ศิริผล

ทั้งหมดถูกเล่าด้วยท่าทีครื้นเครง ตลกร้าย และเสียดสีอย่างเจ็บแสบ โดยขับเน้นความแปลกประหลาดด้วยประติมากรรมรูปก้นหอยสีทองอร่ามขนาดน้อยใหญ่ที่ติดลายพร้อยไปทั่วห้องแสดงงาน

หรือผลงานในแกลเลอรี่เวอร์ของนักทำหนังอาร์ตชาวไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อย่างตะวันดับ (Blue) (2018) วิดีโอจัดวางอันน่าตื่นตะลึง ที่นำเสนอภาพของเจนจิรา พงพัศ ไวด์เนอร์ นักแสดงคู่บุญของอภิชาติพงศ์ ผู้นอนหลับอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งในยามราตรี มีฉากลิเกที่เปลี่ยนไปมาโดยอัตโนมัติเป็นฉากหลัง โดยภาพกองไฟฉายเหลื่อมทับบนทรวงอกของเธอจนดูเหมือนมันกำลังลุกไหม้หัวใจของเธออยู่

ตะวันดับ(Blue) (2018),อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ภาพถูกฉายลงบนกระจกใสที่แขวนอยู่กลางห้อง จนทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นแสงสะท้อนที่ตกกระทบไปทั่วห้องแสดงงานอย่างงดงามน่าพิศวง

ผลงานชิ้นนี้นำเสนอพื้นที่อันไร้ความมั่นคง ที่สะท้อนสภาวะของความหมดศรัทธาในชาติและการล่มสลายของดินแดนในอุดมคติ

ต่อด้วยผลงานที่แสดงในศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ ของเมตาฮาเว่น กลุ่มศิลปินและดีไซเนอร์ชาวอัมสเตอร์ดัมอย่าง Information Skies (2017) วิดีโอแอนิเมชั่นที่ได้แรงบันดาลใจจากการแสดงสดแอนิเมชั่นญี่ปุ่น และสภาวะนามธรรมของโลกดิจิตอล ที่สร้างพรมแดนอันกระจัดกระจายที่น่าดึงดูดและน่าหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน

Information Skies (2017),เมตาฮาเว่น

และผลงานของรักซ์ มีเดีย คอลเลคทีฟ กลุ่มศิลปินและนักปฏิบัติการทางสื่อชาวอินเดีย อย่าง The Capital of Accumulation (2010) วิดีโอจัดวางที่ดำเนินตามรอยโครงสร้างจากงานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของโรซ่า ลักเซมเบิร์ก อย่าง การสั่งสมทุน (The Accumulation of Capital) ที่แสดงถึงการแสวงหาผลกำไรของระบบทุนนิยม

The Capital of Accumulation (2010),รักซ์มีเดียคอลเลคทีฟ

และการที่รัฐจักรวรรดินิยมในคราบของรัฐทุนนิยมพยายามควบคุมประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด กับผลงานของศิลปินอเมริกัน จอน หวัง อย่าง You Belong two Me (2018) วิดีโอจัดวางในพื้นที่เฉพาะ ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ที่ได้แรงบันดาลใจจากประติมากรรม “นัต” (ผีบรรพบุรุษของพม่า)

You Belong two Me (2018),จอน หวัง

งานศิลปะในคอลเล็กชั่นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนำพาเขาไปพบกับร่างทรงวัยรุ่นข้ามเพศในดินแดนพม่าผู้เป็นร่างทรงให้กับวิญญาณภูตผี แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน

ผลงานชิ้นนี้ของเขาสำรวจตัวตนของคนข้ามเพศในวัฒนธรรมการนับถือผี และการปะทะประสานกันระหว่างวัฒนธรรมสมัยเก่าและใหม่ โดยนำเสนอวิดีโอสองจอที่ฉายภาพห้วงขณะที่ทั้งคู่กำลังเข้าทรงจริงๆ

ภาพและเสียงอันเปี่ยมมนต์ขลังภายในบรรยากาศอันขรึมขลังของบ้านไทยโบราณ สะกดความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างทรงพลังราวกับต้องมนต์

ไม่เพียงแต่งผลานวิดีโอจัดวางเท่านั้น แต่ในซีรี่ส์ Ghost:2561 ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อย่างการฉายภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหว และการบรรยายโดยภัณฑารักษ์และศิลปินผู้ร่วมแสดงงาน

และการเล่าเรื่องโดยอาสาสมัครที่ผ่านห้องเรียนนักเล่าเรื่อง ที่ช่วยเปิดมิติเชิงลึกและขยับขยายความเข้าใจในผลงานแต่ละชิ้นได้เป็นอย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้น ในงานยังมีการแสดงสดอันเปี่ยมพลังของศิลปินแสดงสดอย่าง The Retreat : gallery drift ของธนพล วิรุฬหกุล, ผลงานแสดงสดอันน่าตื่นตะลึงของแอชแลนด์ ไมนส์ (โทเทิล ฟรีดอม) และปิดท้ายซีรี่ส์ Ghost : 2561 ด้วย Untitled Lipsync : gana (For Alice) ศิลปะแสดงสดอันสุดขีดคลั่งของบอยไชลด์

ซีรี่ส์ Ghost:2561 จัดแสดงในระหว่างวันที่ 11-28 ตุลาคม 2018 ถึงงานนี้จะจบลงไปเรียบร้อยแล้ว

แต่เราก็รอคอยซีรี่ส์การแสดงศิลปะวิดีโอและศิลปะแสดงสดอันแปลกประหลาด สดใหม่ ล้ำสมัยเหล่านี้ ให้หวนกลับมาอีกครั้งในอีกสามปีข้างหน้าด้วยใจระทึกพลัน!

ขอบคุณภาพจาก Ghost:2561, The Jim Thompson Art Center