ปริศนาโบราณคดี : โลซานน์ : สถานศึกษาขององค์ยุวกษัตริย์ (4)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับที่แล้วได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโลซานน์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีแทน ทรงมีพระปรมาภิไธยว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” หรือต่อมาคือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

ภายหลังจากที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489 แล้ว ยุวกษัตริย์พระองค์ใหม่ ขณะนั้นเจริญพระชนมพรรษาเพียง 18 ชันษา จากเดิมเมื่อเดือนตุลาคม 2488 ของปีกลาย ก่อนการติดตามสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย เพิ่งลงทะเบียนเรียนในแผนกวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ไปหมาดๆ

จำต้องเบนเข็มทิศชีวิตใหม่ หันไปทรงเลือกศึกษาในวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์แทน เพื่อให้เป็นประโยชน์เหมาะสมแก่การเป็นพระประมุขของประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์แห่งเดิม

อนึ่ง การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของยุโรปหลายแห่งในยุคนั้น โดยมากมักเป็นหลักสูตรปริญญาตรีควบต่อปริญญาเอกได้ทันทีเลย โดยไม่ต้องผ่านระดับปริญญาโท (ปัจจุบันระบบการศึกษาแบบนี้ยังมีอยู่ในอีกหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร)

ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาจึงใช้ชื่อว่า Licencie et Doctorat es Sciences Sociales

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%af-2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%af-3%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%a1

เปิดห้องมหาวิทยาลัยโลซานน์

ปีนี้มหาวิทยาลัยโลซานน์มีอายุครบรอบ 479 ปี นั่นหมายความว่าปีหน้า พ.ศ.2560 หรือ ค.ศ.2017 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็จะมีอายุครบ 40 รอบนักษัตร หรือ 480 ปีพอดี ซึ่งทราบจากวงในมาว่าทางมหาวิทยาลัยจะมีการเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองวาระชาตกาลครั้งใหญ่อย่างเอิกเกริก

Universite de Lausanne ใช้ตัวอักษรย่อว่า UNIL อ่าน “อูนิล” เห็นคำนี้ที่ไหนเป็นที่รู้กันทั่วยุโรปว่าหมายถึง มหาวิทยาลัยโลซานน์

มหาวิทยาลัยโลซานน์ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1587 หรือ พ.ศ.2130 เมื่อเทียบกับห้วงเวลาในประวัติศาสตร์สยามแล้ว ก็จะตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 หรือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา

สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโลซาน์แห่งแรกสุด อยู่ใจกลางเมืองบนเนินเขาสูงพอประมาณ จัดอยู่ในกลุ่มอาคารปราสาทหินยุคกลางที่สร้างเมื่อ 5 ศตวรรษที่ผ่านมา ใกล้กับมหาวิหารกลางเมือง (Cathedrale de Lausanne) สามารถมองเห็นความโดดเด่นเป็นสง่าได้จากทั่วทุกทิศของมุมเมือง

ในช่วงสองศตวรรษแรก สาขาที่เปิดสอนได้แก่ สาขาวิชาเทววิทยา ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์สายฝรั่งเศส ปรัชญากรีก ภาษาฮีบรู และศิลปศาสตร์ เป็นห้าสาขาวิชาแรกสุดที่เปิดหลักสูตร

ต่อมาปี ค.ศ.1771 จึงขยายอาคารไปยังคุกเก่ากลางเมืองที่เคยกุมขังนักโทษ จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารใหม่ เปิดสอนวิชาแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และเภสัชศาสตร์เพิ่มขึ้นมา

กระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การผลักดันของสภาคริสตจักรคาทอลิกแห่งกรุงวาติกัน ทำให้ต้องเพิ่มการเรียนการสอน สาขาวิชาศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอทิกเข้ามาอีกหนึ่งสาขา ถือเป็นสาขาใหม่ที่แตกต่างไปจากวิชาศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิต (สายคาทอลิกเหมือนกัน) ที่เปิดสอน ณ มหาวิทยาลัยฟรีบูร์ก และลูเซิร์นกันอยู่แล้ว

นำมาซึ่งการกระทบกระทั่ง เกิดการคานอำนาจกันกับสายโปรเตสแตนต์ที่เคยเปิดสอนมานานตั้งแต่สองศตวรรษก่อน ผลักดันให้ผู้บริหารเห็นว่า ควรมีการแบ่งแยกสถานศึกษาออกเป็นสองส่วน (แต่ยังคงใช้ชื่อมหาวิทยาลัยเดียวกันคือมหาวิทยาลัยโลซานน์)

ส่วนแรก สาขาวิชาดั้งเดิมที่เคยเปิดสอนมานานนม ยังคงให้ตรึงพื้นที่อยู่ข้างบนเนินเขา ใกล้กับมหาวิหารยุคกอทิก ซึ่งเป็นศาสนสถานในนิกายโปรเตสแตนต์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือสายโรมันคาทอลิก ให้ย้ายลงมาใช้อาคารหลังใหม่ด้านล่าง ณ บริเวณที่เรียกว่า Place de la Ripponne (ลานจัตุรัสใหญ่กลางเมือง) สำหรับตัวอาคารที่เป็นมหาวิทยาลัยนั้นชื่อ Palais de Rumine (ปาเล่ เดอ รูมีน)

ถือเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และสถาปัตยกรรม มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะได้ขยายความเนื้อหาในฉบับหน้า


หนังสือพิมพ์ 24 Heuers ลงข่าว “องค์ยุวกษัตริย์”

ขอย้อนกลับมายังองค์ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสาขานิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์นั้น อาคารมหาวิทยาลัยที่ทรงศึกษาในช่วงปี 2489-2471 ก็คือ Palais de Rumine ด้านล่างของมหาวิหาร มีบันไดเชื่อมต่อขึ้นไปยังเนินเขาด้านบนที่มีมหาวิหารยุคกลาง

ในระหว่างนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงแยกพระองค์ไปอภิเษกสมรสและทรงพระครรภ์ มีพระธิดาองค์น้อย คือท่านผู้หญิงทัศนาวลัย (ศรสงคราม)

สมเด็จพระบรมราชชนนีศรีสังวาลย์ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังคงประทับ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ตำบลปุยยี่ ที่เดิม

เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ชื่อดังที่สุดของเมืองโลซานน์ ชื่อ “24 Heuers” (อ่าน แวง การ์ท เทรอ แปลว่า 24 ชั่วโมง) ฉบับวันที่ 22-23 ตุลาคม 2554 ในคอลัมน์ Histoire d “Ici (แปลว่า “ที่นี่ประวัติศาสตร์”) คอลัมนิสต์ชื่อ Gilbert Salem (จิลแบร์ ซาเล็ม) ได้โปรยหัวบทความว่า “Quand le Roi de Thailande Etudiait a Lausanne” แปลว่า “เมื่อกษัตริย์สยามทรงเคยศึกษา ณ เมืองโลซานน์”

โดยคอลัมนิสต์ผู้นี้ได้นำข้อมูลมาจากสองส่วนมาวิเคราะห์และนำเสนอคือ ส่วนแรกจากหนังสือของ เมอซิเยอร์ ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส (Lysandre C. Seraidaris) ผู้เป็นบุตรชายของพระอาจารย์ส่วนพระองค์ ที่ทรงสอนหนังสือในลักษณะที่เรียกว่า “ติวเตอร์” ถวายแด่สององค์ยุวกษัตริย์ ตั้งแต่ในชั้นประถมและมัธยม ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงในฉบับที่แล้ว

อีกส่วนหนึ่งได้มาจากหนังสือ “Un Roi en Suisse” (พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์”) เขียนโดย Olivier Grivat (โอลิวิเยร์ กรีวาต์) ผู้ได้เดินทางมาเก็บข้อมูลที่ประเทศไทยถึงสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อปี 2551 มาพร้อมกับ นาย Daniel Brelaz ผู้แทนคณะมนตรีกรุงโลซานน์ ในครั้งนั้นได้นำพวงมาลาไปกราบถวายบังคมพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

และอีกครั้ง หนึ่งปีถัดมา คือ พ.ศ.2552 Grivat ร่วมเดินทางมากับผู้แทนคณะรัฐบาลสมาพันธรัฐสวิส นำโดย M. Guillon ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสัมภาษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ วังไกลกังวล หัวหิน

เป็นอีกหนึ่งข้อมูลด้านเอกสารจดหมายเหตุที่ผู้สนใจเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่าง “สยาม-สวิส” ผ่านองค์ยุวกษัตริย์ ควรมีเก็บไว้ในแฟ้มความรู้