ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ / BEL CANTO

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

 

BEL CANTO

‘เสียงสวย’

 

กำกับการแสดง Paul Weitz

นำแสดง Julianne Moore Ken Watanabe Christopher Lambert Sebastian Koch

Tenoch Huerta Ryo Kase Maria Mercedes Coroy

 

เหตุการณ์จริงในโลกเริ่มต้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) ที่เมืองลิมา ประเทศเปรู และกลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์เปรูและประวัติศาสตร์โลก

กลุ่มกบฏกองโจรต่อต้านรัฐบาลนับสิบคนจู่โจมบุกยึดคฤหาสน์ของเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของญี่ปุ่นประจำประเทศเปรู ระหว่างงานเลี้ยงซึ่งประธานาธิบดีเปรูมีกำหนดจะไปร่วม และจับตัวประกันนับร้อยไว้

โดยยื่นข้อเสนอให้แลกกับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในเปรู

ประธานาธิบดีของเปรูขณะนั้นมีเชื้อสายญี่ปุ่น แม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามก็บอกความเป็นญี่ปุ่น คือ อัลเบอร์โต ฟูจิโมริ

ตัวประกันจำนวนนับร้อยที่ถูกจับ เป็นบุคคลในวงการเมืองและวงสังคมชั้นสูง รวมทั้งทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ไปร่วมงานเลี้ยงของสถานทูต

มีการปล่อยผู้หญิงและคนเจ็บจำนวนมากออกมาในวันแรกๆ แต่ตัวประกันจำนวนหนึ่งก็ยังถูกกักตัวไว้ในคฤหาสน์ของสถานทูตที่มีรั้วรอบขอบชิด

การยื่นข้อเรียกร้องทางการเมืองและการเจรจาต่อรองของฝ่ายผู้ก่อการร้ายและฝ่ายรัฐบาลดำเนินต่อเนื่องไปถึงสี่เดือน หรือ 126 วัน โดยยังไม่มีทีท่าจะคืบหน้าไปทางไหน

ไม่มีฝ่ายใดถอยจากจุดยืนของตัวเอง สถานการณ์จึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กลุ่มก่อการร้ายจนมุมอยู่ในที่ตั้ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ขยับตัวทำอะไรได้ยาก เนื่องจากยังมีตัวประกันจำนวนมากถูกจับเป็นประกันอยู่

และแล้วเหตุการณ์ตัวประกันครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงด้วยการที่ฝ่ายรัฐบาลส่งกองกำลังเข้ากอบกู้สถานการณ์และช่วยตัวประกันให้ปลอดภัย โดยที่ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ราบคาบ

ประธานาธิบดีฟูจิโมริได้รับเครดิตไปเต็มๆ และได้รับการสรรเสริญไปทั่วโลก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เป็นเหรียญที่พลิกให้เห็นอีกด้าน

 

หนังสร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของแอนน์ แพตเช็ตต์ ที่เขียนใน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์วิกฤตตัวประกันในเปรูครั้งนั้น และใช้เสียงเพลงอันงดงามสื่อสารจิตวิญญาณอันสูงส่งงดงามของมนุษยชาติ

กว่านิยายจะถูกถ่ายทอดมาในรูปภาพยนตร์ก็ใช้เวลาร่วมยี่สิบปี และสร้างจากฝีมือผู้กำกับฯ พอล ไวต์ซ เจ้าของผลงานเรื่องเบาๆ ชวนหัวอย่าง American Pie และ About a Boy แต่มาคราวนี้เขาทำดราม่าตรงๆ แม้จะมีเรื่องราวความรักอันชวนซาบซึ้งแซมอยู่เป็นแกนกลาง

นักธุรกิจอุตสาหกรรมชาวญี่ปุ่นชื่อโฮโซกาวะ (เคน วาตานาเบ ผู้โด่งดังจาก The Last Samurai) หลงใหลในเสียงเพลงโอเปร่า โดยเฉพาะจากเสียงสวรรค์ของนักร้องโซปราโน่ระดับโลกชาวอเมริกัน ร็อกแซนน์ คอสส์ (จูเลียน มัวร์ นักแสดงหญิงระดับแนวหน้าที่เก่งกาจหาตัวจับยาก)

เราไม่ทราบเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเขามากนักนอกจากเขามีลูกชายวัยรุ่นอยู่ในโตเกียว และเดินทางมาประเทศที่ไม่กำหนดชัดในทวีปอเมริกาใต้ เพื่อหาช่องทางลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

แต่นับแต่เขาบินมาถึง สถานการณ์ในประเทศก็ไม่ชวนให้ลงทุนเลย

ทว่าเขามีประเด็นซ่อนเร้นในการมาครั้งนี้ นั่นคือ การจัดงานเลี้ยงในสถานทูต ซึ่งเชิญนักร้องเสียงสวยคนดังมาแสดง

ตั้งแต่แรกร็อกแซนน์เองก็ไม่อยากมา เธอไม่อยากเดินทางนอกสหรัฐและยุโรปเพื่อร้องเพลงในโลกที่สาม โดยสารภาพความในใจว่าเธอปฏิเสธงานนี้ไปหลายหนแล้ว แต่ค่าตัวเธอก็ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ จนปฏิเสธไม่ลง

 

ระหว่างงานเลี้ยงที่มีทูตานุทูตมากหน้าหลายตาจากประเทศทั่วโลก รวมทั้งเอกอัครราชทูตของฝรั่งเศส (คริสโตเฟอร์ แลมเบิร์ต) และภริยา เมื่อร็อกแซนน์เริ่มร้องเพลงอันงดงาม ก็เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น

นั่นคือกลุ่มกบฏกองโจรหัวรุนแรงที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ บุกเข้ายึดอาคารและจับแขกร่วมงานทั้งหมดไว้เป็นตัวประกัน โดยมุ่งความสนใจไปที่ตัวประธานาธิบดีที่มีกำหนดจะมาร่วมงานด้วย

ก่อนหน้านั้นเผอิญเราได้รู้จากคนใกล้ชิดวงในแล้วว่าประธานาธิบดีตัดสินใจนาทีสุดท้ายยกเลิกไม่มางานเลี้ยงนี้เพราะติดดูละครทีวีอยู่ที่บ้าน

ตรงนี้คนทำหนังตั้งใจให้เป็นเรื่องตลกระดับชาติหรือเปล่าก็ไม่รู้…

 

ดราม่าเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อกลุ่มก่อการร้ายบุกเข้ายึดสถานทูตและจับตัวประกัน โบกปืนที่อยู่ในมือของเด็กหนุ่ม-สาวที่ดูเหมือนปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมว่อนไปทั่ว

หัวหน้ากลุ่มคือเบนจามิน (เตน็อก ฮูเอร์ตา) ผู้มีรอยสักเต็มตัว ท่าทางเหี้ยมโหด ตะคอกและคุกคามโดยไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม

เมื่อตัวประกันคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและต้องการการห้ามเลือดโดยด่วน หาหมอหรือเจ้าหน้าที่แพทย์มาเย็บแผลไม่ได้ ทหารกองโจรวัยรุ่นสาวคนหนึ่งชื่อคาร์เมน (มาเรีย เมอร์เซเดส คอรอย) ก็อาสาเข้ามาเย็บแผลด้วยเครื่องเย็บปักถักร้อยในครัวเรือนให้

ก่อนที่นักเจรจาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นกลางจะก้าวเข้ามาอย่างองอาจ เขาชื่อเมสเนอร์ (เซบาสเตียน คอช) และทำหน้าที่สื่อกลางการเจรจาต่อรองอยู่จนตลอดวิกฤตการณ์

หนังเน้นเรื่องราวเฉพาะที่เกิดในสถานทูตระหว่างกลุ่มก่อการร้ายและเชลยตัวประกัน โดยที่เมสเนอร์เข้าๆ ออกๆ เป็นตัวกลางนำข้อเรียกร้องของกลุ่มกบฏไปบอกฝ่ายรัฐบาลและนำข้อความจากฝ่ายรัฐบาลมาแจ้งให้ทราบ

เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการแรกต่อกลุ่มกบฏ โดยตัดน้ำตัดไฟ เพื่อบีบให้คนในบ้านอยู่ได้อย่างยากลำบาก

ฝ่ายกบฏก็มีมาตรการแบบศิวิไลซ์ด้วยการขอร้องให้ร็อกแซนน์ใช้เสียงสวรรค์ของเธอร้องเพลงให้ผู้คนข้างนอกฟัง เพื่อบีบให้รัฐบาลยอมเปิดน้ำให้ใช้ได้ตามเดิม

 

หนังแสดงให้เราเห็นการตระเตรียมการในลักษณะนี้จากคนข้างใน ผู้ก่อการร้ายไม่ได้บังคับ แต่ขอร้องให้ร็อกแซนน์ร้องเพลง ซึ่งในที่สุดเธอก็ตอบตกลง และหานักเปียโนคนใหม่ เนื่องจากนักเปียโนที่เล่นคลอเสียงร้องของเธอเป็นประจำเพิ่งเสียชีวิตไป

มีการจัดหาโทรโข่งกระจายเสียงให้ขณะร็อกแซนน์ยืนอยู่ที่ระเบียงชั้นบน เปล่งเสียงสวรรค์อันงดงามของเธอตามชื่อหนังซึ่งมีความหมายตรงๆ ว่า “เสียงสวย” แถมยังแสดงถึงพลังเสียงอันยิ่งใหญ่ของนักร้องโซปราโน่ที่ไม่ต้องอาศัยไมโครโฟนหรือโทรโข่งเข้ามาปะปนทำให้คุณภาพของเสียงธรรมชาติเสียไป

น่าเสียดายว่าหนังไม่ได้แสดงถึงปฏิกิริยาที่เสียงเพลงอันงดงามสื่อสารถึงจิตวิญญาณและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนทั่วไปเลย เราได้แต่ทึกทักและสรุปเอาเองว่าผู้คนใจอ่อนลงจากเสียงสวยนี้

เช่นเดียวกัน หนังมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์ของผู้ก่อการร้ายและเหยื่อของการก่อการร้าย โดยไม่เบี่ยงเบนไปสู่สถานการณ์คับขันจากสายตาคนทั้งโลก

และในการนี้ เรื่องราวสัมพันธ์รักผลิบานในชายหญิงสองคู่ คือนักร้องเสียงทองและแฟนเพลง กับล่ามหนุ่มและทหารกองโจรหญิง

รวมทั้งแรงบันดาลใจที่เสียงเพลงมีต่อบุคคลคนหนึ่งที่ไร้การศึกษาแต่ซาบซึ้งจับใจกับเสียงร้องอันทรงพลัง

 

จูเลียน มัวร์ เป็นนักแสดงที่เก่งกาจ แต่ไม่ว่าฝึกฝนอย่างไรก็ไม่มีทางมีเสียงสวยร้องเพลงได้ไพเราะขนาดนั้น เสียงโซปราโน่ตัวจริงมาจากเรอเน เฟลมิง ผู้มี “เสียงสวย” ที่สวรรค์ประทานมา

เพลงที่คัดเลือกมาใช้ก็ล้วนเหมาะเจาะกับเหตุการณ์ แต่มีที่ผู้เขียนรู้สึกเสียดายเป็นส่วนตัว เพราะหนังใส่องค์ประกอบบางอย่างเข้ามาให้เกิดความคาดหมาย แต่แล้วก็ไม่ทำให้สมใจอยาก นั่นคือ ตัวละครหลักตัวหนึ่งชื่อคาร์เมน ซึ่งเป็นโอเปร่าที่ประพันธ์โดยบิเซต์ มีเพลงไพเราะและคุ้นหูคนทั่วไป  พอได้ยินชื่อคาร์เมน ผู้เขียนก็นึกเลยว่าเดี๋ยวต้องมีใครร้องเพลงจากโอเปร่าเรื่องนี้บ้างแหละ

แต่คาร์เมนในหนังก็มีอยู่เพียงชื่อ ไม่ได้มีอยู่ในเพลงด้วย

มีอีกตอนที่โดนใจผู้เขียน คือเมื่อร็อกแซนน์พูดถึงโอเปร่าแสนงดงามที่กำลังร้องอยู่ และพูดตามมาอีกประโยคว่า “มันเป็นโอเปร่านะ ดังนั้น ตอนจบทุกคนเลยตายหมด” เหมือนจะเป็นเค้าลางสำหรับเหตุการณ์ต่อไป

แม้จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้เขียนชอบใจ แต่โดยรวมๆ ก็ยังรู้สึกว่าหนังยังมีอะไรดีๆ ที่แอบแฝงอยู่อีกมาก และยังไปไม่ถึงศักยภาพของตัวเอง