ลูกผีหรือลูกคน l นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ลูกผีหรือลูกคน (จบ)

คลิกอ่านตอนต้น

นักวิชาการญี่ปุ่นรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อสมัยเป็นเด็ก ท่านถูกกล่อมเกลาให้รักชาติสุดหัวใจจากโรงเรียน จึงนำทัศนคติอย่างนั้นมาสนับสนุนนโยบายรุกรานเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นในเวลาอาหารเย็น ท่านสังเกตว่าคุณพ่อค่อนข้างอึดอัด แต่ก็ไม่ได้แสดงความเห็นคัดค้านตรงๆ เพียงแต่เตือนให้มีสติและใช้ความคิดอย่างรอบด้านหน่อยเท่านั้น

ผมกลับมาคิดว่า เคยมีเรื่องอะไรในเมืองไทยที่คนไทย (แอบ) พูดกันเองไม่ได้บ้าง ตลอดชีวิตผมยังไม่เห็นมีสักเรื่อง อำนาจของรัฐไม่เคยแข็งแกร่งพอจะแทรกเข้ามากำกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลได้เลย

เมืองไทยไม่เคยขาดเผด็จการหรือคนที่ใช้กำลังอำนาจเข้ายึดการปกครองของประเทศไปไว้ในมือแต่ผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว แต่เผด็จการไทยไม่เคยสามารถเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อำนาจของเผด็จการจำกัดอยู่เหนือกลไกของรัฐ พอเลยมาถึงสังคม เขาก็กลายเป็นตัวตลกไปทุกที

ที่มาที่ไปทางสังคมของเราไม่อำนวยให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ กระบวนการเข้าสู่ความทันสมัยของไทยไม่โน้มนำให้เกิดปฏิวัติกระฎุมพี และไม่เกิดปฏิวัติชาวนา

อีกทั้งกระฎุมพีและชาวนาก็ไม่เคยร่วมกันผลักดันความเปลี่ยนแปลงอะไร ที่จะทำให้ระบอบเก่า (ancien regime) ล่มสลายลงโดยสิ้นเชิง (อย่างที่เกิดในปฏิวัติฝรั่งเศส, รัสเซีย หรือจีน)

ชาวนาไทยนั้นไม่เคยสบาย ไม่ว่าภายใต้ระบอบอะไรก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ชาวนาไทยก็ไม่ถึงกับข้นแค้นเท่าชาวนาฝรั่งเศส, รัสเซียหรือจีน ในช่วงที่ไทยแรกเข้าสู่สมัยใหม่ ผู้ปกครองสนับสนุนให้ชาวนาเอกชนรายย่อยเข้าถึงที่ดินขนาดเล็กได้อย่างเสรี นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า ผู้ปกครองเอาชาวนารายย่อยเป็นพันธมิตรเพื่อกีดกันมิให้เกิดชนชั้นเจ้าที่ดินขึ้นในหมู่ขุนนางและพ่อค้า

จะอย่างไรก็ตาม เกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ที่เกิดและขยายตัวขึ้นในประเทศไทย มีชาวนาเอกชนรายย่อยเหล่านี้แหละที่เป็นผู้รับความเสี่ยงในเบื้องต้น และอาจเป็นฝ่ายเดียว (กู้ยืมทุนในการเปิดที่นาและทำนารายปีในอัตราดอกเบี้ยที่สูง) อีกทั้งต้องขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศ ซึ่งไม่เรียกร้องคุณภาพมากนัก (เปรียบเทียบข้าวซึ่งส่งออกไปเลี้ยงแรงงานในอาณานิคมอังกฤษ กับขนแกะซึ่งเจ้าที่ดินอังกฤษส่งขายในตลาดยุโรปก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม)

ดังนั้น จึงไม่มีการพัฒนาการผลิต (ดังที่กล่าวแล้วในตอนก่อน) และไม่ดึงให้กระฎุมพีเข้ามาลงทุนในการผลิต ตลาดภายในขยายตัวอย่างช้าๆ เพราะภาคการพาณิชย์และอุตสาหกรรมในประเทศขยายตัวช้ามาก ยิ่งทำให้ชาวนาขาดแรงจูงใจอย่างชาวนาญี่ปุ่นที่จะเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

แม้ประสบความยากลำบากนานัปการ จนบางครั้งต้องอพยพครอบครัวหลบหนีเจ้าหนี้ไปเปิดที่นาใหม่ในตำบลห่างไกล ชาวนาไทยก็ยังเลือดตาไม่กระเด็น เมื่อเทียบกับชาวนาจีนหรือพม่าตอนล่างและเวียดนามตอนกลางและล่าง กบฏชาวนาที่เกิดขึ้นมักแยกออกได้ยากระหว่างปฏิกิริยาของชนชั้นนำตามประเพณีในท้องถิ่นต่อการรวบอำนาจของส่วนกลาง หรือการแข็งข้อของชาวนาต่อการเก็บภาษีเป็นตัวเงิน

และด้วยเหตุดังนั้นจึงหาพันธมิตรจากกลุ่มคน “สมัยใหม่” ที่สนับสนุนรัฐรวมศูนย์ไม่ได้

ควรกล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของชาวนา แม้แต่ในสังคมที่ชาวนาถูกกดขี่ขูดรีดจนข้นแค้นแสนสาหัสอย่างไร ก็มักเป็นกบฏชาวนาซึ่งอาจทำความเสียหายให้แก่เจ้าที่ดิน, กระฎุมพี และรัฐได้มาก แต่ไม่นำไปสู่การปฏิวัติที่แท้จริง เว้นไว้แต่ว่าความเคลื่อนไหวของชาวนาได้รับการเชื่อมต่อกับคนภายนอกกลุ่มอื่น ซึ่งมักมีการจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพกว่า และมีอุดมการณ์ที่ครอบคลุมผู้คนได้หลากหลายกลุ่มกว่าความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของกลุ่มตนเอง

อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มผู้เคลื่อนไหวในเขตเมือง ซึ่งผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐของไทยทุกกลุ่ม ไม่เคยมีกลุ่มใดเลยที่หวังจะสร้างพันธมิตรกับชาวนา ยกเว้นแต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งแม้ได้รับความร่วมมือจากชาวนาในท้องถิ่นบางแห่งมากกว่ากลุ่มการเมืองกลุ่มใด แต่ก็ไม่อาจขับเคลื่อนชาวนาโดยทั่วไปให้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวได้

ปราศจากชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นฐานในการปฏิวัติ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลให้โค่นล้มความสัมพันธ์ในการผลิต ระหว่างที่ดิน, ชาวนา, ทุน, รัฐ, ตลาด ฯลฯ จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ อำนาจเผด็จการหากจะเกิดขึ้นในการปฏิวัติ มีฐานสนับสนุนแคบๆ และกลายเป็นกลวิธีแย่งอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นนำ ไม่ใช่เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีผลต่อคนส่วนใหญ่ อันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

สรุปก็คือ เงื่อนไขที่จะเกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จที่นำความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาสู่สังคมไทยนั้นไม่มี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยจะไม่เผชิญกับเผด็จการที่ฆ่าฟันศัตรูของตนเป็นเบือ แต่ก็เป็นความโหดเหี้ยมซึ่งไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากพยายามรักษาอำนาจเผด็จการของตนไว้เท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม เงื่อนไขที่จะให้เคลื่อนไหวไปสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ไม่มีเหมือนกัน

หากใช้ศัพท์ของ Barrington Moore การเข้าสู่ความทันสมัยของไทยก็เหมือนญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศคือเป็น conservative modernization กล่าวคือ นำความทันสมัยเข้าสู่ประเทศโดยพยายามรักษาโครงสร้างสังคมตามประเพณีไว้ดังเดิม ทุนนิยมที่เข้ามาภายใต้นโยบายเช่นนี้จึงไม่ก่อให้เกิดกระฎุมพีหรือเจ้าของทุนที่เป็นอิสระจากรัฐ

กระฎุมพีหรือเจ้าของทุนไทยนั้นนอกจากส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติแล้ว ยังสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากรัฐ สะสมทุนขึ้นจากอำนาจผูกขาดที่รัฐมอบให้ (สุรา, ฝิ่น, บ่อนการพนัน เป็นต้น) หรือทำหน้าที่เจ้าภาษีนายอากรและค้าสำเภาในระบบที่ไม่ใช่การค้าเสรี ยิ่งไปกว่านั้น ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระฎุมพีกลุ่มที่สืบทอดทุนมาจากกิจการแบบเดิมไม่ประสบความสำเร็จในการโอนย้ายทุนของตนเองไปสู่ธุรกิจแขนงใหม่ เมื่อการหากำไรแบบเดิมต้องเลิกไปโดยเงื่อนไขของการเปิดประเทศ จึงส่งบุตร-หลานให้เรียนหนังสือแบบใหม่ เพื่อเข้ารับราชการแทน

กระฎุมพีกลุ่มใหม่หันไปหากำไรกับชาวนาบุกเบิกซึ่งขยายตัวไปทั่วประเทศ โดยอาศัยความสงบเรียบร้อยและกฎหมายที่รัฐส่วนกลางขยายอำนาจเข้าควบคุมดูแลหัวเมืองได้ใกล้ชิดขึ้น โดยไม่ได้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมอย่างจริงจังจนหลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ไปแล้ว

นโยบายของรัฐบาลทหารซึ่งนำการพัฒนาเข้ามาสู่ประเทศ คือให้ข้อได้เปรียบแก่กระฎุมพีอย่างสูง และใช้อำนาจเผด็จการกดขี่มิให้แรงงานและชาวนาลุกขึ้นต่อรองได้ แม้ว่ารัฐบาลทหารชุดนั้นจะถูกโค่นล้มลงในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่นโยบายปกป้องคุ้มครองกระฎุมพีเหนือคนกลุ่มอื่นก็ยังดำรงอยู่สืบมา ด้วยวิธีการที่แยบคายกว่าเผด็จการทหารในยุคแรกเท่านั้น

เหตุดังนั้น กระฎุมพีไทยจึงไม่ใช่ฝ่ายก้าวหน้า ที่เป็นพลังล้มระบอบเก่าลงด้วยประชาธิปไตย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ กระฎุมพีไทยเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับกลุ่มอำนาจเก่า และอำนาจรัฐแบบเก่า ซึ่งจำกัดเจ้าของรัฐไว้ในมือคนเพียงไม่กี่กลุ่มข้างบน

ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางไทยคือคนที่เพิ่งไต่เต้าขึ้นมาจากเกษตรกร, ข้าราชการระดับล่าง, พ่อค้ารายย่อย และคนระดับล่างในเมืองมาไม่กี่ชั่วคน โดยผ่านการศึกษาซึ่งขยายตัวขึ้นตลอดมา และการศึกษานั่นแหละที่กล่อมเกลาให้คนเหล่านี้ค่อนข้างเป็นอนุรักษนิยม พวกเขาอาจเคลื่อนไหวทางการเมืองขนานใหญ่ในนามของประชาธิปไตย แต่ไม่เคยคิดจะถอนรากถอนโคน “ระบอบเก่า” ลงเลย แม้หลังจากได้ชัยชนะแล้ว พวกเขาพอใจเพียงแต่ตนเองได้มีส่วนในการควบคุมรัฐ แต่ไม่เคยใฝ่ฝันจะเปิดพื้นที่ในการควบคุมรัฐให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

แต่ไหนแต่ไรมา นักคิดที่ได้รับความนับถือเชื่อฟังจากคนชั้นกลางไทย ล้วนมีแนวคิดค่อนไปทางอนุรักษนิยมทั้งสิ้น

ด้วยเหตุดังนั้น เงื่อนไขในสังคมไทยที่จะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยจึงมีไม่มากไปกว่ารูปแบบการปกครอง เพื่อการยอมรับของมหาอำนาจทุกฝ่าย ซึ่งเป็นทั้งแหล่งทุน, เทคโนโลยี และตลาดของสินค้าไทย (อย่าลืมว่าจีนไม่เคยแสดงความรังเกียจประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่มหาอำนาจตะวันตกอ้างว่ารังเกียจประเทศที่เป็นเผด็จการ)

ผมจึงเชื่อว่า ลักษณะลูกผีลูกคนระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ (ไม่ถึงกับเบ็ดเสร็จ) จะดำรงอยู่ในเมืองไทยต่อไปอีกนาน

ตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามจากคนกลุ่มต่างๆ หลายครั้งที่จะค้นหาระบอบปกครอง ซึ่งเฉลี่ยส่วนแบ่งระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการให้ลงตัว ที่ประสบความสำเร็จที่สุดน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งถูกใช้ได้นานกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารชุดต่างๆ ซึ่งร่างขึ้นเพื่อเฉลี่ยสองระบอบให้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2491, 2511, 2534 (และน่าจะเป็น 2560 ด้วย) ล้วนถูกล้มเลิกไปในเวลาไม่นาน และที่น่าสนใจก็คือล้มเลิกด้วยอำนาจรัฐประหารคณะใหม่ทั้งสิ้น

แท้จริงแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ยั่งยืนได้เทียบเท่ากับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งก็มีอายุไม่ยาวนัก (เมื่อเทียบกับระบอบรวมศูนย์อำนาจไว้กับพระราชาซึ่งเกิดในสังคมอื่น) ได้สักฉบับเดียว และนี่อาจเป็น “เสน่ห์” อย่างหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามแก่คนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งหาความแน่นอนในรัฐธรรมนูญไม่ได้สักฉบับตลอดชีวิต

เหตุผลที่ความพยายามเช่นนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จได้ยืนนานก็เพราะ สังคม-เศรษฐกิจไทยกำลังเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็เปลี่ยนอย่างรวดเร็วเสียด้วย จึงยากมากที่จะจัดสรรแบ่งปันอำนาจให้แก่คนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างลงตัวเป็นเวลานาน

มองจากมุมนี้ ในประเทศไทย ตัวรัฐธรรมนูญนั่นแหละคือเวทีต่อรองอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ แม้แต่รัฐธรรมนูญที่เผด็จการร่างขึ้น ก็คงมีการต่อรองอำนาจของคนกลุ่มอื่นแฝงเข้ามา ไม่ว่าผู้ร่างจะสำนึกหรือไม่ก็ตาม เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งจึงบอกความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แท้จริงในสังคมได้มากทีเดียว