กว่าจะเป็นร่วมสมัยใต้สังคมจารีต (3) : ทศกัณฐ์ไร้หัวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

กลางเดือนกันยายน ความขัดแย้งระหว่าง “เก่ง ธชย” และครูโขนเป็นข่าวใหญ่ของประเทศระดับยึดหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์และช่วงไพรม์ไทม์ของทุกสถานีข่าว

คลิป “เที่ยวไทยมีเฮ” เป็นประเด็นที่คนแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง

จนเป็นความขัดแย้งทางสังคม เพราะครูโขนบอกว่าคลิปนี้ควรถูกแบน

ส่วนคนที่เห็นต่างก็ล่ารายชื่อได้เจ็ดหมื่นกว่าในเวลาเพียงสองวัน

แม้เรื่องนี้เหมือนเป็นหนึ่งในดราม่าที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

แต่ถ้าทบทวนให้ดี ความขัดแย้งเรื่องนี้มีตัวละครและข้อถกเถียงที่สะท้อนถึงมุมมองที่แตกต่างกันต่อโขนและวัฒนธรรมอย่างมหาศาลสองเรื่อง

เรื่องแรก คือสถานะของโขนและ “วัฒนธรรม” ในสังคมไทย

และเรื่องที่สอง คือทรรศนะต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยระหว่างสังคมกับระบบราชการ

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน ข่าวนี้มีทุกอย่างถือว่าเป็น “ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรฒ”

 

ใครที่เคยดูงานของ เก่ง ธชย จะเห็นว่างานของเขาใน “เที่ยวไทยมีเฮ” ไม่มีอะไรน่าสนใจ

ยิ่งหากนำโฆษณานี้ไปเทียบกับโฆษณาแนวเที่ยวไทยที่มีมาก่อน งานนี้ยิ่งไม่มีอะไรตื่นเต้นมากขึ้น

เพราะเป็นการผลิตซ้ำ “ขนบ” วิธีที่โฆษณาท่องเที่ยวทำมาหลายสิบปี

เพียงแต่เอาทศกัณฐ์มาเป็นตัวละครในคลิปเท่านั้นเอง

ภายใต้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยหลัง พ.ศ.2530 โฆษณาเที่ยวไทยจำนวนมากเกิดขึ้นโดยเล่าเรื่องวนไปมาสามเรื่อง เรื่องแรก คือโบราณสถานของไทย เรื่องที่สอง วัง-วัด และความหรูหราแบบราชสำนัก เรื่องที่สาม คือตลาดและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ส่วนตัวละครมักเป็นนักท่องเที่ยวชายกับความ “สนุก” ที่ได้จากความอ่อนช้อยและแฟนตาซีที่นำเสนอผ่านผู้หญิงไทย

พูดสั้นๆ เที่ยวไทยมีเฮเล่าเรื่องเมืองไทยเหมือน “เวลคัมทูไทยแลนด์” ของคาราบาว หรือ “เที่ยวเมืองไทย” ของ หรั่ง ร็อคเคสตร้า และขนบการเล่าเรื่องนี้ก็สืบทอดมาถึง “ไทยเที่ยวไทย” ของ แจ๊ส ชวนชื่น และหนัง “กาลครั้งหนึ่ง เมื่ออารมณ์พาไป” ของ ททท.

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น คงต้องใช้โอกาสอื่นเพื่ออภิปรายว่าทำไมโฆษณาเที่ยวไทยมีเรื่องและวิธีเล่าซ้ำซากภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง/ชาย แบบนี้ แต่ที่พูดได้ตอนนี้คือโครงเรื่องและวิธีเล่าที่ซ้ำซากนั้นมาพร้อมกับการเปลี่ยน “ซับเจ็กต์” หรือคนเล่าเรื่องให้สมสมัย และเฉดของความซ้ำซากนั้นปรับแก้ได้ตามวัตถุประสงค์ของงานว่ามุ่งขายคนต่างชาติหรือคนไทย

 

ในบริบทของงานโฆษณา ทศกัณฐ์มีสถานะเป็นพรีเซ็นเตอร์ของงานเหมือน แอ๊ด คาราบาว, ติ๊ก เจษฎา หรือ แจ๊ส ชวนชื่น

และการแปลงทศกัณฐ์เป็นแคแร็กเตอร์ในสินค้าวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องที่มีมาพักใหญ่

ตัวอย่างเช่น ประภาส ชลศรานนท์ ใช้ทศกัณฐ์และหนุมานแปลงเป็นตัวละครในอะนิเมชั่นเรื่องยักษ์ในปี 2555 ภายใต้โครงเรื่องที่ต่อยอดจากรามเกียรติ์จนเป็นเรื่องใหม่ไปเลย

มองภาพกว้างขึ้นไป “เที่ยวไทยมีเฮ” คือมุขแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นจับนายกฯ แต่งชุดซูเปอร์มาริโอในพิธีปิดโอลิมปิก

สองเรื่องนี้เหมือนกันตรงความพยายามแปลงวัตถุดิบทางวัฒนธรรมในสังคมให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ประเทศในวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย

และแน่นอนว่าความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งความต้องการสร้างภาพตัวแทนของชาติให้ต่อติดกับโลกปัจจุบัน

ในแง่นี้ “เที่ยวไทยมีเฮ” โดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมไทยตรงๆ เพราะสิ่งที่งานชิ้นนี้ทำคือหยิบตัวละครในนาฏศิลป์ไทยไปดัดแปลงเป็นแคแร็กเตอร์ในวัฒนธรรมป๊อป เก่งในคลิปนี้จึงถอดหัวโขนทศกัณฐ์เพื่อแสดงให้เห็นชัดๆ ว่าทศกัณฐ์ในบริบทนั้นไม่ใช่โขนแบบนาฏศิลป์ไทย

แต่คือมนุษย์ผู้ชายใส่เครื่องทรงโขนโดยปราศจากหัวโขนเพื่อถ่ายโฆษณา

 

เพื่อที่จะปลุกปั้นความเป็นไทยให้ต่อติดกับโลก “เที่ยวไทยมีเฮ” เอาทศกัณฐ์ไปนำเสนอคล้ายยอดมนุษย์สายพันธุ์ไทย และถ้าคลิปนี้ผลิตโดย Marvel/DC หรือ โตเอะ เราอาจเห็น Iron Man, ซูเปอร์แมน หรือก๊อตซิลล่าทำแบบทศกัณฐ์ก็ได้ เพราะอย่าลืมว่าผู้กำกับฯ คลิปนี้คือ บัณฑิต ทองดี ซึ่งเป็นคนแรกที่ปลุกปั้นซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยในหนัง “มนุษย์เหล็กไหล” เมื่อสิบปีที่ผ่านมา

ด้วยการแปลงวัตถุดิบทางวัฒนธรรมแบบนี้ ทศกัณฐ์ถูกย้ายจากปริมณฑลนาฏศิลป์สู่ปริมณฑลใหม่ซึ่งเปลี่ยนแคแร็กเตอร์ทศกัณฐ์ไปจากเดิม ไม่มีใครสนใจทศกัณฐ์รูปโขนในพื้นที่นี้ และเมื่อสลัดหัวโขนออกไป ทศกัณฐ์กลับเข้าถึงมวลชนมากขึ้น อันเป็นสัญญาณชี้ชัดว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่มีคนจำนวนมากขานรับการกลายพันธุ์ของ “วัฒนธรรม” จากแบบจารีตประเพณี

ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นโดยปราศจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจสังคม และพลังของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เกี่ยวพันกับการรื้อทอนความเป็นโขนของทศกัณฐ์โดยตรง เพราะโครงการนี้เกิดจากนักธุรกิจต้องการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศด้วยภาพความเป็นไทยแผนใหม่แทนภาพซึ่งช้ำไปหมดอย่างปางช้าง, หญิงชุดไทย, เกาะตาปู, พระปรางค์วัดอรุณ ฯลฯ

อนึ่ง คำว่าตลาดการท่องเที่ยวในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่การทำให้ “ฝรั่ง” หรือ “คนต่างชาติ” มาเที่ยวไทย แต่หมายถึงการทำให้คนไทยควักเงินเที่ยวไทยให้มากขึ้น ภาพความเป็นไทยแบบใหม่จึงจำเป็นเพื่อรองรับ “รุ่น” และรสนิยมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เพราะไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ช้าง/วัง/ผู้หญิง/ชายหาด จะทำให้คนมาเที่ยวไทยไม่เปลี่ยนแปลง

 

อย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 2530 จนปัจจุบัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตจนยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 3,482,958 ล้านคน เป็น 29,881,098 ล้านคน ส่วนรายได้เข้าประเทศพุ่งจาก 50,024 ล้านบาท เป็น 1,118,763 ล้านบาท เท่ากับยอดคนเพิ่มขึ้น 10 เท่า ส่วนยอดเงินเพิ่มขึ้น 20 เท่า และหลักประกันของการเติบโตที่ดีที่สุดคือการเข้าใจนักท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองพวกเขาต่อไป

แม้ผู้เกี่ยวข้องจะไม่อธิบายว่าทำไมถึงเลือกดัดแปลงโขนให้กลายพันธุ์เพื่อเข้าถึงรสนิยมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป แต่การตัดสินใจแบบนี้ก็สะท้อนว่าสังคมเปลี่ยนจนนักธุรกิจรู้ว่าทศกัณฐ์แบบดัดแปลงนั้นขายดีกว่าทศกัณฐ์ที่ยึดติดจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด

ในแง่นี้ “เที่ยวไทยมีเฮ” จึงเป็นยิ่งกว่าคลิปทศกัณฐ์แนะสถานที่ท่องเที่ยว เพราะมันคือพยานว่าสังคมมองจารีตสำคัญน้อยลง

โปรดสังเกตว่ากระบวนการแปลงทศกัณฐ์ใช้วิธีถอดเศียรก่อนทำกิจกรรม “แนวราบ” อย่างแคะขนมครก, นั่งรถกะป๊อ, ไปตลาด ฯลฯ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงรื้อ “ฐานานุศักดิ์” ของทศกัณฐ์สองครั้ง

ครั้งแรก โดยถอดเศียรซึ่งเป็นอวัยวะศักดิ์สิทธิ์แม้แต่ของมนุษย์

ครั้งที่สอง คือให้ทศกัณฐ์ดำเนินวัตรแบบคนรากหญ้า

ซึ่งทั้งสองอย่างไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ ในมือโขนแบบจารีตประเพณี

 

หนึ่งในข้อโต้แย้งของครูโขนต่อ “เที่ยวไทยมีเฮ” คือโขนเป็นของมีครู แม้แต่ผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์ก็ต้องเข้าพิธีครอบครูและอัญเชิญศีรษะโขนครอบหัวเพื่อให้ “องค์” สถิตในร่างก่อนแสดงทุกครั้ง

การรื้อฐานานุศักดิ์ของทศกัณฐ์จึงเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และดูหมิ่นครูผู้สืบสานพลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเวลาเดียวกัน หรืออย่างต่ำก็คือความไม่รู้ว่าโขนที่แท้จริงต้องปฏิบัติกับทศกัณฐ์อย่างไร

อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาของคนในสังคมต่อคลิปคือการบอกว่าความเชื่อของครูโขนนั้นเป็นแค่ลัทธิ

คนในสังคมที่ไม่ได้สมาทานลัทธินี้มีเยอะ ทศกัณฐ์สำหรับคนกลุ่มนี้เป็นเพียงตัวละครในวรรณคดีหรือ “นิยาย” ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ของทศกัณฐ์ในฐานะเทพเป็นเรื่องซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่รับรู้ด้วย จึงไม่จำเป็นที่คนนอกลัทธิต้องปฏิบัติต่อเทพแบบที่ผู้สมาทานลัทธิต้องการ

เห็นได้ชัดว่าทรรศนะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ทำให้จารีตประเพณีเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล และในสังคมที่ประเพณีเป็นฐานทางวัฒนธรรมของอำนาจหลายแบบ การขยายตัวของทรรศนะนี้ย่อมคุกคามระบบที่ได้ประโยชน์จากคติเรื่องประเพณีศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เพราะมันบอกว่าคนในสังคมร่วมสมัยไม่ต้องเชื่อเรื่องอำนาจและฐานทางวัฒนธรรมเหมือนกันทุกกรณี

ถึงตรงนี้ กระบวนการแปลงทศกัณฐ์เป็นตัวละครจึงต้องยุติลง ครูโขนต้องชนะในการบอกว่าประเพณีสำคัญที่สุด รัฐต้องขานรับคำวินิจฉัยของสถาบันวัฒนธรรมอย่างครูโขน กระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องสั่งแก้คลิป อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโฆษณาจึงต้องพ่ายแพ้ และคนเจ็ดหมื่นกว่าที่ต้านครูต้องยอมรับว่าตนไร้ค่ากระทั่งในเรื่องเล็กแบบนี้โดยสิ้นเชิง

จะกล่าวถึง “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น” กับการก่อวัฒนธรรมร่วมสมัยนอกการควบคุมของรัฐในตอนต่อไป