ส่องพระเครื่อง : เหรียญพระพนัสบดี รุ่นแรก-ปี พ.ศ.2517 วัตถุมงคลพนัสนิคม

พระพนัสบดี

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

เหรียญพระพนัสบดี รุ่นแรก-ปี พ.ศ.2517 วัตถุมงคลพนัสนิคม

“อําเภอพนัสนิคม” เป็นเมืองเก่า เคยรุ่งเรืองเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว

ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระบรมราชโองการสถาปนาเมือง “เมืองพนัสนิคม” เมื่อปี พ.ศ.2371 และให้มีผู้สำเร็จราชการประจำ

จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่เป็น มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เมืองพนัสนิคม เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.2447

ในปี พ.ศ.2474 ผู้ขุดพบพระพุทธรูป “พระพนัสบดี” ในบริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นพระพุทธรูปจำหลักจากศิลาดำเนื้อละเอียด ขนาดสูง 45 เซนติเมตร ครั้งเมื่อพระยาพิพิธอำพล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี

นักโบราณคดีระบุว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี พระพุทธรูปที่มีลักษณะเช่นพระพนัสบดีนี้ ยังมีอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครหลายองค์

มีพุทธลักษณะแปลกกว่าพระพุทธรูปอื่น คือ เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนบนดอกบัว ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ จีบพระองคุลีพระหัตถ์ทั้งสอง เช่น พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา บนฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองมีลายธรรมจักร เบื้องพระปฤษฎางค์มีประภามณฑล

เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพนัสนิคมเคารพสักการะ

เหรียญพระพนัสบดี (หน้า)

 

พระพนัสบดีจำลอง สร้างเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2517 จำลองให้ขนาดใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า ประดิษฐาน ณ หอพระพนัสบดี ถนนเมืองเก่า ด้านทิศตะวันตกที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองพนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

ส่วนพระพนัสบดีองค์จริง กรมศิลปากรอายัดไว้เมื่อปี พ.ศ.2474

เป็นพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่สมัยทวารวดี มีอายุประมาณ 1,200-1,300 ปี แกะสลักจากศิลาเนื้อละเอียดสีดำ เป็นพระพุทธรูปในท่าประทับยืนบนดอกบัวที่วางอยู่บนหลังสัตว์ประหลาด

สร้างขึ้นจากจินตนาการ เรียกว่า “พนัสบดี” (ผู้เป็นใหญ่ในป่า) แก้มเป็นกระพุ้ง จะงอยปากใหญ่งุ้มแข็งแรง คล้ายปากหงส์ ปลายจะงอยปากจากบนลงล่าง มีรูทะลุคล้ายกับจะแขวนกระดิ่งได้ มีเขาทั้งคู่บิดเป็นเกลียวงอเข้าหากันคล้ายเขาโคตั้งอยู่เหนือตา โคนเขามีหูสองหูอย่างหูโค มีปีกสองข้างใหญ่สั้นที่กำลังกางออก ขาทั้งสองข้างพับแพนบทรวงอกยกเชิดขึ้นอย่างขาของครุฑที่กำลังเหินลม

ด้านหลังองค์พระมีประภามณฑล (ลายเปลวเพลิง) เป็นรูปกลมรีรูปไข่ รอบประภามณฑลมีลวดลายงดงามมาก จากพื้นล่างสุดถึงยอดประภามณฑลมีลวดลายงดงามมาก จากพื้นล่างสุดถึงยอด ประภามณฑลสูง 45 เซนติเมตร จากฐานล่างถึงพระบาทสูง 15 เซนติเมตร ส่วนกว้างที่สุดของประภามณฑล 20 เซนติเมตร

ส่วนกว้างจากปลายปีกทั้งสองข้าง 24 เซนติเมตร

เหรียญพระพนัสบดี (หลัง)

 

อําเภอพนัสนิคม สร้างเหรียญรุ่นแรกพระพนัสบดี เมื่อปี พ.ศ.2517 เพื่อเป็นที่ระลึกการสร้างหอพระพนัสบดี

ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดหน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2517 มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธฯ เป็นประธานจุดเทียนชัย

มีพระคณาจารย์เข้าร่วมพิธี อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ, หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง, หลวงปู่เหมือน วัดกำแพง จ.ชลบุรี, หลวงปู่โต วัดบ้านกล้วย จ.นครราชสีมา, หลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จ.จันทบุรี, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อวิเชียร วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อวรรณ วัดพลับ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อทองหยิบ วัดโบสถ์ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อม่น วัดเนินตามาก จ.ชลบุรี, หลวงพ่อแร่ วัดเซิดสำราญ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อเที่ยง วัดกลางทุมมาวาส จ.ชลบุรี ฯลฯ เป็นต้น

วัตถุมงคลที่จัดสร้างในครั้งนั้น ประกอบด้วย

  1. พระพนัสบดีขนาดบูชาใหญ่สูง 45 เซนติเมตร
  2. พระพนัสบดีขนาดบูชาเล็กสูง 30 เซนติเมตร
  3. เหรียญพระพนัสบดีรูปไข่
  4. เข็มกลัด แจกกรรมการ กะไหล่ทองลงยา
  5. พระร่วงหน้าพระธาตุ ลักษณะประทับยืนยกพระหัตถ์ขวา เนื้อตะกั่ว

 

เหรียญพระพนัสบดี เป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง จำนวนการสร้าง 15,000 เหรียญ จัดสร้างทั้งหมด 3 เนื้อ คือ เนื้อทองแดง มีทั้งผิวไฟ กะไหล่ทองและกะไหล่นาค

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปองค์พระพนัสบดีทรงยืน ด้านล่างเขียนคำว่า “พระพนัสบดี”

ด้านหลัง ข้างบนเป็นอักขระขอมคำว่า “อุ” ใต้ล่างเขียนว่า “ที่ระลึกงานพุทธาภิเษกพระพนัสบดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ๑๑พ.ค.๑๗” ด้านล่างตัวอักษรเป็นลายกนก

ผ่านพิธีพุทธาภิเษก โดยพระคณาจารย์ชื่อดังที่ล้วนแต่มีวิทยาคมอันเข้มขลัง ทำให้เหรียญวัตถุมงคลรุ่นนี้มีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมด้วยอำนาจพระพุทธคุณที่จะคุ้มครองป้องกันภัยและบันดาลความสำเร็จ

เป็นเหรียญยอดนิยมของชาวเมืองพนัสนิคม

ปัจจุบัน เหรียญรุ่นนี้แทบหาพบได้ยากมาก แม้แต่ในพื้นที่เมืองชลเองก็ตาม

ในตลาดพระเครื่องภาคตะวันออก คาดการณ์ว่า ราคาเช่าหาบูชาเหรียญพระพนัสบดีรุ่นปี 2517 มีโอกาสขยับสูงขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน