นงนุช สิงหเดชะ : “ในหลวง” กับความยั่งยืนทางธุรกิจ ในสายตานักการเงินต่างชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน​ไป​ยัง​โครงการ​ชั่ง​หัวมัน ตาม​พระราชดำริ ต.​เขา​กระปุก อ.​ท่า​ยาง จ.​เพชรบุรี เมื่อ​วัน​ที่ 1 มกราคม 2557

การจะถ่ายทอดสิ่งใด เรื่องราวใดให้ตรงกับความเป็นจริง ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการไปอยู่ในสถานที่นั้นและสัมผัสทุกอย่างด้วยตัวเอง

เช่นเดียวกับ เคนเนธ คิม หัวหน้านักยุทธศาสตร์การเงินของ EQIS Capital ซึ่งเป็นบริษัทรับบริหารจัดการสินทรัพย์ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนด้านการเงินในมหาวิทยาลัยมากว่า 20 ปี ก็ใช้วิธีนี้ในการถ่ายทอดเรื่องราวของความรักเทิดทูนที่ชาวไทยมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

ข้อเขียนของเขาปรากฏอยู่ในนิตยสารฟอร์บส์ ภายใต้หัวข้อ “คิงภูมิพลแห่งประเทศไทยกับความยั่งยืนทางธุรกิจ”

คิมบอกว่าตัวเขาเองนั้น มาเมืองไทยบ่อยๆ และยังทำงานอยู่ที่นี่ด้วย มีโอกาสเห็นด้วยตาตัวเองถึงความรักเคารพ เทิดทูนที่คนไทยมีให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9

ดังนั้น เมื่อมีคนพูดว่าคิงภูมิพลเป็นที่รักของประชาชนจึงไม่ใช่การกล่าวเกินจริง เพราะถึงแม้ตำแหน่งของกษัตริย์จะค่อนข้างไปในทางเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์

แต่ก็มีหลายครั้งที่พระองค์ทำให้ประชาชนหันมาสามัคคีกันและนำพาพสกนิกรของพระองค์ท่านให้ก้าวผ่านห้วงเวลาที่วุ่นวายปั่นป่วน

“ในแง่การเมือง ผมคงพูดได้ว่าตามประวัติศาสตร์แล้วส่วนใหญ่ประเทศไทยมีความแตกแยกและปัญหา แต่สิ่งเดียวที่คนไทยมีเหมือนกันคือความรักและเทิดทูนต่อกษัตริย์ของพวกเขา”

untitled-2
เคนเนธ คิม

คิมระบุว่า แต่น่าเศร้าที่เมื่อเร็วๆ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต แต่เรื่องนี้แทบจะไม่ถูกเอ่ยถึงในสื่ออเมริกา อาจเป็นเพราะคู่ชิงชัยประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ดึงความสนใจจากสื่อส่วนใหญ่ไป

แต่ในประเทศไทยนั้นคนทั้งประเทศโศกเศร้าอาลัยต่อการจากไปของกษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์มานาน 70 ปี

ผู้เขียนออกตัวว่า ปกติแล้วสิ่งที่เขาเขียนลงในฟอร์บส์ มักเกี่ยวกับตลาดการเงินเอเชียและตลาดการเงินโดยทั่วไป

ดังนั้น เมื่อพยายามจะอธิบายถึงมรดกยอดเยี่ยมหลายอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทยพระองค์นี้ทิ้งไว้เบื้องหลัง เขาก็จะขอเอ่ยถึงเพียงเรื่องเดียวในคอลัมน์ของเขา นั่นก็คือเรื่องที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจต่างๆ จะทำความดีและสร้างกำไรไปพร้อมๆ กัน”

เขาบอกว่าหลังเกิดวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 หรือต้มยำกุ้งซึ่งมีจุดเริ่มต้นในประเทศไทย นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต่างชี้นิ้วว่าต้นตอเกิดจากการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง

กษัตริย์ของไทยก็ได้สนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหลัก 3 ประการคือ ความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน (มีความพร้อมในการรับความเปลี่ยนแปลง)

พระองค์เชื่อว่า ถ้าธุรกิจต่างๆ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืน

 

คิมตั้งคำถามว่ามีหลักฐานอะไรไหมที่แสดงว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาถูกทาง

แม้บางคนจะรู้สึกว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนั้น แต่หลักฐานที่ดีที่สุดคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

ซึ่งคิมได้อ้างอิงข้อมูลการสำรวจบริษัทไทยหลายแห่งดำเนินการโดยทีมนักวิชาการของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ ที่สำรวจเพื่อหาคำตอบว่าบริษัทที่รับเอาปรัชญานี้ไปใช้ยังสามารถทำกำไรได้หรือไม่ คำตอบคือใช่

พวกเขาพบว่าบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงน้อยลง แต่กำไรไม่ลดลง

“ผมขอพูดว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเรียนรู้ในยุคนี้ที่บริษัทต่างๆ เต็มไปด้วยความโลภ”

คิมเขียนต่อไปว่า ในอเมริกานั้นเราได้เห็นกันแล้วว่าความโลภของบริษัทขนาดใหญ่สร้างความลำบากให้กับเราอย่างไรบ้างเมื่อเกิดปัญหาฟองสบู่ไอทีแตกในช่วงต้นทศวรรษ 2000

ตามมาด้วยวิกฤตธรรมาภิบาลของบริษัทขนาดใหญ่อย่างเอ็นรอน เวิลด์คอมและอาร์เธอร์แอนเดอร์สัน

ต่อด้วยวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ปี 2008-2009 ซึ่งมีต้นตอมาจากบริษัทแบร์ สเติร์น และบริษัทการเงินอีกหลายแห่งของสหรัฐ

ผลจากวิกฤตสหรัฐครั้งนั้น ทำให้บรรดาสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจได้สอนผู้นำในอนาคตให้คำนึงถึงจริยธรรมการทำธุรกิจ การมีธรรมาภิบาลและความยั่งยืนขององค์กร

แม้บางคนเชื่อว่าการทำตามสิ่งเหล่านี้จะทำให้องค์กรไม่มีกำไร แต่ในประเทศไทยนั้น อย่างน้อยการปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ องค์กรธุรกิจก็ยังสามารถสร้างกำไรได้

“บางทีนั่นอาจเป็นมรดกยั่งยืนที่คิงภูมิพลทรงทิ้งไว้เบื้องหลัง” คิมตบท้ายเอาไว้อย่างนั้น

 

คิมนั้น นอกจากจะเป็นนักยุทธศาสตร์ด้านการเงิน เป็นอาจารย์สอนด้านการเงิน (ปัจจุบันสอนที่ State University of New York) แล้วยังทำงานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเงินอาวุโสให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ในวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย

นั่นเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติมองเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ที่พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างไว้ให้กับแผ่นดินและคนรุ่นหลัง

คุณูปการของรัชกาลที่ 9 นั้นสำหรับผู้มีสติปัญญาและใจสว่างไม่มืดบอด แล้วไม่มีอะไรต้องสงสัย (ข้อเขียนของเขาอาจต่างจากฝรั่งหลายคนที่ชอบไปรับข้อมูลอคติด้านเดียวจากคนไทยบางกลุ่ม อ่านข้อเขียนของฝรั่งอคติพวกนี้จะกี่เที่ยวก็รู้ว่าไปรับข้อมูลจากใคร เพราะเป็นก๊อบปี้เดียวกันหมด)

ยิ่งการที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติ ย่อมเป็นเครื่องรับประกันได้อย่างดี

United States Ambassador to the United Nations Samantha Power speaks during a tribute to the late King of Thailand Bhumibol Adulyadej in the General Assembly at United Nations headquarters in New York, October 28, 2016. REUTERS/Brendan McDermid
ซาแมนธา พาวเวอร์ (REUTERS/Brendan McDermid)

ในบรรดาสมาชิกสหประชาชาติที่ขึ้นกล่าวเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ดูเหมือน ซาแมนธา พาวเวอร์ เอกอัครราชทูตถาวรสหรัฐประจำยูเอ็นจะพูดได้ดีและเก็บรายละเอียดได้เยี่ยมเป็นพิเศษ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากคนไทยจำนวนมากว่าพูดได้ตรงใจ เธอเก็บรายละเอียดขนาดที่ว่าพระบรมราชชนกและราชชนนี (พ่อแม่) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พบกันที่ไหน และเนื่องจากตัวเธอเองนั้นเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งอยู่ใกล้กับจัตรัสภูมิพล (อนุสรณ์สถานที่เสด็จพระราชสมภพของในหลวง) เธอต้องเดินผ่านจัตุรัสนี้ทุกวัน

“ทุกครั้งที่เดินผ่านจัตุรัส เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ดิฉันมักได้เห็นคนไทยมาถวายความเคารพพระองค์ท่านและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วยความศรัทธาภักดี”

ทูตสหรัฐประจำยูเอ็นยังพูดถึงการอุทิศพระองค์เพื่อคนยากไร้ในชนบท ทรงเดินทางไปทุกพื้นที่ไม่หยุดหย่อน ทรงเป็นนักสังเกตเพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ประชาชน สิ่งประดิษฐ์ของพระองค์ท่านล้วนเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ทรงมีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าถึง 40 อย่าง และที่เธอไม่ลืมเอ่ยถึงเลยคือโครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำ

คำกล่าวของ ซาแมนธา พาวเวอร์ อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าเธอทำการบ้านมาดี เอาใจใส่รายละเอียด พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมไทย