ฐากูร บุนปาน : ประเทศกูมี กับ 6ตุลา และ ขาลง

นาทีนี้ ถ้าไม่โหนกระแส “ประเทศกูมี” กับเขาบ้างนี่ต้องเชยแน่ๆ เลย

เพราะเรื่องนี้เรื่องเดียว สะท้อนสารพัดแง่มุมของสังคมไทยปัจจุบันเอาไว้ได้แทบครบถ้วน

ปรารภกับมิตรสหายทั้งหลายเอาไว้ในโลกโซเชียล (ตามกระแส) แล้ว เห็นว่าสนุกดี

ก็เลยขออนุญาตนำมาขาย-ฉายซ้ำ

ประเด็นแรกก่อนเลย

ที่ชอบพูดกันติดปากว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง หรือความเป็นไปของสังคม

อาจจะต้องพิจารณากันใหม่นะครับ

ขนาดนักร้องแร็พ (ซึ่งปกติจะต้องออกแนวแบดบอย ไม่ค่อยสนใจสังคม) และตามข้อมูลของผู้รู้บางท่าน บอกว่าเกือบทั้งหมดเป็นลูกคนมีสตางค์ ยังกระโดดมาแร็พเรื่องสังคม-การเมือง

จะตีขลุมได้อย่างไรว่าคนรุ่นนี้-กลุ่มนี้ไม่สนใจการเมือง

เขาสนใจแบบของเขาต่างหากครับ

บางเรื่องเขาอาจจะเห็นคล้ายกันกับรุ่นพ่อรุ่นแม่

แต่อีกหลายๆ เรื่องก็ไม่

ทีนี้เมื่อเขาแสดงความสนใจในแบบที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจ

แทนที่ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจะเป็นผู้ใหญ่ที่ใหญ่จริงๆ

คือมีพรหมวิหาร 4-เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา-ให้ลูกให้หลาน

ดันผ่าจะใช้อำนาจบีบหรือบังคับให้เขาคิด-เห็น-แสดงออกเรื่องสังคมไทยเหมือนกับตัวเอง

ได้ผลไหม ก็เห็นๆ กันอยู่

ต่อเนื่องกันมา

เมื่อผู้ใหญ่ไม่เป็นผู้ใหญ่ ลูกน้องของผู้ใหญ่ก็เข้าตำรา “นายว่าขี้ข้าพลอย”

และผลของการขี้ข้าพลอยนั้น ยิ่งไปเสริมให้ความอยากรู้หรือปฏิกิริยาทวีความรุนแรงขึ้น

จากระดับแสนกลายเป็นทะลุหลักสิบล้าน-ยี่สิบล้านในชั่วข้ามคืนนี่ไม่ใช่เรื่องปกติแล้วนะครับ

ตรงนี้ขอมีหมายเหตุแทรกหน่อยหนึ่งว่า

ถ้ายูทูบจะกรุณาแจกแจงข้อมูลเพิ่มเติม (เอาแค่เบื้องต้น) มา

ว่าจำนวนผู้ชมระดับ 10-20 ล้านนั้น

เพศ อายุ หลักแหล่ง เป็นอย่างไร

ก็จะเป็นคุณกับผู้ใคร่จะวิเคราะห์สังคมไทย

รวมทั้งจะเป็นคุณอย่างยิ่งกับรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ที่จะได้รู้ชัดๆ ไปว่ากลุ่มไหน ตรงไหนไม่ต้องเหนื่อยไปหาเสียง

ฮา

ประเด็นต่อมา การที่ปฏิกิริยาในโลกโซเชียลถล่มทลายมโหฬารอย่างนี้

ก็ตอกย้ำ (อีกครั้ง) ว่าสถานะของรัฐบาล ของ คสช. และเครือข่าย นั้นเป็นรอง-ล้าหลัง (คู่แข่งทางการเมืองและกลุ่มอื่นในสังคม) ขนาดไหนในโลกออนไลน์

ส่วนประเด็นนี้จะไปโยงกับกรณีที่มีคำสั่งห้ามหาเสียงออนไลน์แค่ไหน

หรือว่าอยู่ๆ ท่านผู้นำก็กระโดดเข้ามาเล่นโซเชียลกับเขาทุกแพลตฟอร์มหรือไม่

อันนี้วิญญูชนทั่วไปสามารถตรองเองได้

เครื่องเคียงหรือน้ำจิ้มจากเรื่องนี้ยังมีอีกสองสามเรื่อง

กรณีแรก คล้ายๆ กับหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปี หรือ 4 ปีที่ผ่านมา (พูดง่ายๆ คือหลังรัฐประหารทั้งสองหน)

นั่นคือ พอมีประเด็นที่จะต้องแสดงจุดยืนหนไหน

ก็มักจะมีบรรดาผู้มีชื่อเสียง (หรือคิดว่าตนเองมีสถานะในสังคม) ออกมา “เปลื้องเปลือยตัวเอง” ให้คนได้ฮา-ได้ถ่มถุยกันทุกเที่ยวไป

ยิ่งงวดนี้ยิ่งฮา

เอาแค่ประเด็นว่าหวง 6 ตุลา เอาไว้เป็นของตัว แล้วเลยพาลมาด่าเด็กด่าเล็กนั้น

ก็ถ้ารัก (6 ตุลา) ขนาดนั้น ทำไมที่ผ่านมาไม่เห็นเคยออกมาผลักดันให้ 14 ตุลา-6 ตุลา มีที่มีทางในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

พอเด็กเอามาใช้ มาด่าเด็กว่าเกิดไม่ทัน

จะรู้เรื่องได้ไง

ถ้าใช้ตรรกะวิบัติแบบนี้ ที่เรียนกันเรื่องเสียกรุง ซึ่งไม่มีใครเกิดทันสักคน

ก็ควรจะลบจากตำราไปด้วยใช่ไหม

กรณีที่สอง

ถามว่านี่คืออาการของ “ขาลง” ใช่ไหม

อะไรที่ควรจะถูกควรจะง่ายๆ ถึงได้ผิดฝาผิดตัวไปหมด

เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีเรื่องก็ทำให้มีขึ้นมา

อย่างเพลงนี้ ถ้าฟังแล้วขำๆ ไป

ป่านนี้ “ประเทศกูมี” ก็คงไม่กลายเป็นหนามตำใจ “กู” ทั้งหลายขนาดนี้

หรือถ้าใช้คนให้ถูกกับงาน ไม่ใช่ประเภทขยันสาดน้ำมันเข้ากองไฟ

ก็คงไม่ “เรียกแขก” ได้มโหฬารมหาศาลเช่นนี้

ซ้ำร้าย มาขาลงเอาช่วงที่ใกล้จะถึงการเลือกตั้ง

เอิ่มมมมม

นี่จะเข้าข่ายธรรมชาติของอำนาจ ที่ยิ่งอยู่นานยิ่งเสื่อม

หรือจริงๆ อย่างเด็กๆ เขาแร็พว่า

ประเทศกูมี…

เสียก็ไม่รู้

ฮา