ราชกิจจาฯประกาศ จนท.รัฐ 31 หน่วย ต้องยื่นทรัพย์สินป.ป.ช. “บิ๊กสีกากี-ทหาร”อื้อ

เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน 2561) เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ 2 ประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 2 ฉบับ 1. ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมที่ต้องยื่นกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่แล้ว เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง เช่น ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา เป็นต้น

ทั้งนี้กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเลขาธิการในองค์กรอิสระต่าง ๆ รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ยังนับรวมไปถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพ กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นต้น

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 102 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ตามประกาศฉบับดังกล่าวนั้น นอกจากจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้ประชาชนทั่วไปรับทราบข้อมูลด้วย

ฉบับที่ 2 คือ เรื่องการกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 พ.ศ.2561 ซึ่งทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2561 สำหรับ มาตรา 103 คือการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งประกออบด้วยหน่วยงานทั้งสิ้นจำนวน 31 หน่วยงาน