สมหมาย ปาริจฉัตต์ : การสอนและการเชื่อมโลกของ “ครู-นักเรียน-เทคโนโลยี”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ห้องเรียนข้ามโลก

หลังครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ของอินโดนีเซียคนที่หนึ่ง คนที่สอง และ ดร.กาโต๊ต ผอ.สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) จบการนำเสนอลงพร้อมเสียงปรบมือของสัมมนาสมาชิก

ครูไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนแรกของมาเลเซียก้าวสู่หน้าเวที รับหน้าที่ผู้นำเสนอคนต่อมา เพื่อที่จะเล่าว่าหลังจากได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แล้วครูทำอะไรต่อไป กับใคร

ครูไซนุดดินยังประจำการอยู่ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เดิมเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียเริ่มให้มีการเรียนการสอนเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีทีในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา

ความที่สัมผัสกับคอมพิวเตอร์ในการทำงานมาตลอด ครูได้รับเลือกเป็นหนึ่งในครู 20 คนแรกให้สอนไอซีทีในโรงเรียนของประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2542

ต่อมาได้รับมอบหมายให้เป็นครูเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที ) เรื่อยมาจนถึงวันนี้ รับหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มไอทีของโรงเรียน

ครูได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ในโลกยุศตวรรษที่ 21 เป็นครูต้นแบบผู้สร้าง Global Classroom อย่างน่าสนใจติดตาม

เงินรางวัลส่วนหนึ่งที่ได้รับนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างครูทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

วีดิทัศน์แนะนำตัวเองนำเสนอเรื่องราวความเป็นมา วิธีคิด วิธีปฏิบัติ สะท้อนความเป็นครูสอนไอซีที ใช้เทคโนโลยี สื่อทันสมัย ฉับไวทั้งภาพและเสียง เร้าใจให้ชวนติดตาม ภายในเวลาหนึ่งนาที ฉายภาพได้ครบถ้วน

เขาย้ำว่า หลังได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ นอกจากการสอนหนังสือ ฝึกอบรม สัมมนา เป็นวิทยากร ร่วมสร้างหลักสูตรการศึกษาด้านไอซีที เขาทุ่มเทให้กับศูนย์การศึกษาเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 (Center for teaching and learning 21 century) ตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างทักษะ 6 ประการให้กับนักเรียนและครู ตลอดจนคนอื่นๆ ที่ต้องการการพัฒนา ได้แก่ ทักษะความร่วมไม้ร่วมมือ (Collaboration) ทักษะการสร้างความรู้ (Knowledge Construction) ทักษะการกำกับดูแลตนเอง (Self Regulation) ความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของโลก การแก้ปัญหาและนวัตกรรม (Real-World problem – Solving&Innovation) ทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Use of Ict for Learning) และทักษะการสื่อสาร (Skillful Communication)

ครูทำโครงการร่วมกับเพื่อนครูในหลายประทศ เป็นเครือข่ายระดับโลก Global Partners ร่วมกับครู 21 โรงเรียนจากประเทศเหล่านี้ โคลอมเบีย โรมาเนีย รัสเซีย คาซัคสถาน เลบานอน ไนจีเรีย เคนยา ศรีลังกา เมียนมา ไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย บรูไน เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น

ผ่านสามโปรแกรมคือ Kudo in classroom, E-mentor E-mentee และ Skype in classroom

 

“ให้นักเรียนทำโครงงานที่พวกเขาสนใจ โดยเด็กจัดการกันเอง เรียนรู้ผ่านเครื่องมือไอซีทีที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการสื่อสาร ที่สำคัญเกิดทักษะการเรียนรู้ผ่านไอซีที”

“ทุกวันนี้ผมสอนหนังสือวันละชั่วโมง เวลาที่เหลือทำงานพัฒนาไอทีให้ครู พัฒนาทักษะ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ พัฒนาคนที่ยังไม่ชำนาญผ่านเครื่องมือ ไอแพด สมาร์ตโฟน เล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ เชื่อมโยงครูระหว่างประเทศ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนกับครูไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และนำไปทำต่อกับเด็ก”

“มีหลายหัวข้อที่เอามาศึกษาสามารถนำไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ หาความรู้ร่วมกันได้ เช่น เรื่องงานฝีมือของแต่ละประเทศ เรื่องพืช ต้นไม้ สัตว์ การทอผ้า วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เอามาให้เด็กเรียนรู้ด้วยกัน เชื่อมโยงกันได้หมด”

“ผลผลิต หัวข้อ หรือสิ่งที่เรานำมาศึกษา เป็นช่องทาง เครื่องมือ เป้าหมายสำคัญคือความเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาทักษะการใช้ไอซีที ทักษะการสื่อสาร ทักษะภาษา” ฟังเขาเล่าแล้วทำให้คิดถึงประโยคที่ว่า ความรู้ไม่สำคัญเท่ากระบวนการเรียนรู้

กับโรงเรียนในประเทศไทย ครูไซนุดดินทำโครงการร่วมกับครูโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนปทุมวิไล จังหวัดปทุมธานี

โครงการ Innovation Asean Young Innovators ร่วมกับกับครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของไทยคนแรก ปัจจุบันเป็นครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ดร.กาโต๊ต ผอ.ซีมีโอบอกว่า ซีมีโอมอบกล้องถ่ายวิดีโอสำหรับถ่ายทอดการประชุมสัมมนา เป็นเครื่องมือช่วยจัดการความรู้ให้กับโรงเรียนของครูเฉลิมพรด้วยอีกหนึ่งแห่ง

โครงการ Asean traditional handicraft ร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ครูไซนุดดิน มาเลเซีย ครูโมนีกา ไซการ์ จากเมืองเมดาน อินโดนีเซีย และครูจารุพร จะนะ โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

“ครูเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กจากโรงเรียนทั้งสามแห่งทำโครงงานแลกเปลี่ยนกัน เด็กแนะนำตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก จับกลุ่มกันเอง ถ่ายคลิปลงยูทูบ เด็กได้เรียนรู้จากกันและกัน แลกเปลี่ยนพูดคุย ทักทายกัน การทำงานด้วยมือ ทำสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ เช่น ทำลูกข่างจากฝาขวดพลาสติก แนะนำให้เพื่อนต่างโรงเรียนต่างชาติได้เห็นภาพกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการทำ การหาวัสดุต่างๆ ผ่านทางหน้าจอ นักเรียนมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย รวม 56 คน ได้ของเล่น 56 ชิ้น

ผมฟังเขาเล่าถึงการสร้างห้องเรียนข้ามโลก ในมุมคิดของครูไซนุดดิน ช่างสะดวก ง่ายดาย สนุกสนาน มีชีวิตชีวา น่าตื่นเต้น แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ในความเป็นจริง เด็กต่างชาติ ต่างภาษา พื้นภูมิหลัง วัฒนธรรม ความเชื่อ ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม แตกต่างกัน ประสบการณ์ไม่เท่าเทียมกัน

การสร้างห้องเรียนร่วมผ่านไอซีทีข้ามโลก ทำให้เด็กเปลี่ยนแปลง พัฒนาอย่างน่าทึ่งถึงขนาดนั้นจริงหรือ

ผมกลับเมืองไทยจะพยายามไปตาม ถามหาคำตอบจากครูไทยที่เขาพูดถึงให้ได้ ครูไทยคนไหน อยู่ที่ใด บอกความจริงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนของครูว่าอย่างไร ไว้เล่าตอนจบ