บทวิเคราะห์ : ลุ้นชะตา ก๊วนสามมิตร ในกำมือ “พลังประชารัฐ” 4 รมต.ฝ่าแรงเสียดทาน เปิด 3 เงื่อนไข-ลาออก

หลังจัดงานแกรนด์โอเพนนิ่งเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน ก่อนเข้ายื่นจดจัดตั้งพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา

พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแกนหลักขับเคลื่อน ได้แก่

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าที่รองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ว่าที่โฆษกพรรค รวมถึงนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ว่าที่กรรมการบริหารพรรค ก็มีการเคลื่อนไหวเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างคึกคัก

ไม่ว่าจัดงาน “ระดมสมองพลังคนรุ่นใหม่” วันที่ 5 ตุลาคม จัดกิจกรรม “ขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนฐานราก ตลาดน้ำคลองลัดมะยม” วันที่ 15 ตุลาคม แถลงจัดตั้ง “สถาบันปัญญาประชารัฐ” วันที่ 17 ตุลาคม การร่วมกิจกรรม “สร้างเครือข่าย SME ต่อยอดธุรกิจเกษตร” ที่เลม่อน มี ฟาร์ม จ.นครปฐม วันที่ 21 ตุลาคม

รัฐมนตรีแกนนำพรรคอ้างว่า กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นการระดมสมอง เปิดรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่และเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำนโยบายพรรค ไม่ใช่การหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าแต่อย่างใด

ขณะที่กลุ่มสามมิตร นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แม้จะแสดงทีท่าเปิดเผยว่าต้องการนำสมาชิกกลุ่มเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

แต่กลับเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ไม่แสดงความชัดเจนว่าต้องการให้กลุ่มสามมิตรเข้ามาร่วมงานหรือไม่ นำมาซึ่งกระแสข่าวหนาหูในระยะหลังว่ากลุ่มสามมิตรเริ่มมีปัญหาไม่ลงรอยกับพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งในเรื่องภาพลักษณ์ของกลุ่ม ที่ถึงแม้จะโชว์ “พลังดูด” กวาดต้อนอดีต ส.ส.จากหลายพรรคเข้ามาร่วมได้จำนวนมาก แต่สังคมกลับมองว่าที่ดูดเข้ามานั้นล้วนเป็นนักการเมือง “รุ่นเก่า” ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ทางกลุ่มพยายามโปรโมตว่าเป็นอดีต ส.ส.ประเภท “ดาวฤกษ์” ก็ตาม

รวมถึงปัญหา “พื้นที่ทับซ้อน” ในการวางตัวผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

ตลอดจนปัญหาหวาดระแวงว่าอาจมีรายการ “ตลบหลัง” กันเกิดขึ้น เนื่องจากแกนนำสำคัญของกลุ่มต่างเคยร่วมทำงานใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในสมัยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก่อนอวตารมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็น 2-3 ปัญหาดังกล่าว อาจเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสามมิตรกับพรรคพลังประชารัฐ ถึงยังคลุมเครือไม่ชัดเจน

ในขณะที่การเลือกตั้งขยับใกล้เข้ามาทุกที

 

นายอุตตม สาวนายน ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันความพร้อมในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทันตามกรอบเวลาโรดแม็ปที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

โดยจะไม่มีปัญหาเรื่องการส่งผู้สมัครไม่ทัน เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วันก่อนเลือกตั้ง

หลังจากได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นพรรคการเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว จะเดินหน้าคัดสรรผู้สมัครลงเลือกตั้งในทันที โดยจะส่งครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พรรคพลังประชารัฐตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.ผ่านการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับกระแส “พลังดูด” อดีต ส.ส. ที่มีการระบุถึงตัวเลข 40-50 ล้านเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งสองประเด็นที่ว่า ได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากนายอุตตมว่า ไม่เป็นความจริง

ถึงแม้อีกด้านนายชวน ชูจันทร์ ว่าที่กรรมการบริหารพรรค จะเปิดเผยยืนยันการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในส่วนของพรรคพลังประชารัฐเพียงคนเดียวก็ตาม

อย่างไรก็ดี ก้าวแรกของพรรคพลังประชารัฐก็ยังต้องเจอกับแรงเสียดทานหนักจากพรรคการเมืองฝ่ายคู่แข่ง ที่พยายามจุดกระแสเรียกร้องกดดัน 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรค

แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล เพื่อลบล้างเสียงครหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง การเอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเรียกร้องที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ

ทั้ง 4 รัฐมนตรีเลือดสุพรรณ มาด้วยกัน ไปด้วยกัน ต่างยืนยันจะอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป ไม่ใช่ไม่มีสปิริต แต่เพื่อให้การทำงานบริหารประเทศมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

และจะลาออกเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

“ต้องรอให้ กกต.รับรองความเป็นพรรคก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มไหนอย่างไร พรรคเราเปิดกว้าง ส่วนจะลงตัวหรือไม่ต้องรอให้ถึงเวลา และยังบอกไม่ได้ว่าจะมีอดีต ส.ส.มาสังกัดพรรคจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากต้องรอดูทุกกลุ่ม รวมถึงการจัดลงในพื้นที่ด้วย”

นายอุตตมยังได้กล่าวตอบสื่อมวลชนที่ซักถามถึงกรณีโฆษกกลุ่มสามมิตรออกมาระบุยืนยัน แกนนำกลุ่มจะยกขบวนสมาชิกมาเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ว่าที่เลขาธิการพรรค เคยตอบคำถามเกี่ยวกับกลุ่มสามมิตรว่า “ยังไม่รู้เลย” พร้อมย้อนถามกลับผ่านสื่อ

“เขาจะตั้งพรรคหรือเปล่า”

 

กระแสข่าวกลุ่มสามมิตรแตกคอกับพรรคพลังประชารัฐนั้นมีการจับสังเกตมาตั้งแต่การเปิดตัวทีมผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่มีชื่อแกนนำกลุ่มสามมิตรได้เข้าร่วม ยกเว้นตัวแทนคือนายอนุชา นาคาศัย

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าว ผู้ใหญ่พรรคพลังประชารัฐไม่ปลื้มกับพฤติการณ์โชว์ “พลังดูด” ของกลุ่มสามมิตร ที่ดำเนินการอย่างโจ๋งครึ่ม จนทำให้พรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล คสช.ได้รับผลกระทบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายไปด้วย

ประกอบกับการมีภาพลักษณ์นักการเมืองรุ่นเก่ายังขัดแย้งกับแนวทางพรรค ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นสถาบันการเมืองของคนรุ่นใหม่

เรื่องพื้นที่ทับซ้อนในการวางตัวผู้สมัคร ส.ส. ก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน

กลุ่มสามมิตรพยายามเสนอทางออกจากปัญหาไปยังพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการทำโพลสำรวจแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้สมัคร ส.ส. และเพื่อคัดกรองให้ได้ผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุด

แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับข้อเสนอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร ปฏิเสธกระแสข่าวการแตกคอ พร้อมยืนยันนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มย้ำชัดเจนว่า

กลุ่มสามมิตรจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐแน่นอน โดยสมาชิกกลุ่มที่จะไปร่วมมีประมาณ 70 คน แบ่งเป็นอดีต ส.ส.ประมาณ 30 คน นักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ คนรุ่นใหม่อีกราว 40 คน

“กลุ่มมีอดีต ส.ส.จำนวนมาก เป็นประเภทดาวฤกษ์ แกนนำกลุ่มทั้งนายสุริยะและนายสมศักดิ์ ต่างก็มีความรู้ความสามารถในเวทีการเมือง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นคนคิดนโยบายสร้างความอยู่ดีกินดี สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศดีมาก หากนำนโยบายของกลุ่มสามมิตรไปร่วมด้วย เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะครองหัวใจพี่น้องคนไทยทั้งประเทศแน่นอน” โฆษกกลุ่มสามมิตรกล่าวด้วยความมั่นใจ

ล่าสุด นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ว่าที่รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยยืนยันรัฐมนตรีทั้ง 4 คนจะลาออกเพื่อไปทำงานให้พรรคแบบเต็มตัว

เมื่อสถานการณ์ครบ 3 องค์ประกอบคือ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.รับรองการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ เมื่อมีการ “ปลดล็อก” ทางการเมือง และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

จากการคาดการณ์ทั่วไป 3 เงื่อนไขน่าจะมาบรรจบสิ้นสุดในราวกลางเดือนธันวาคม หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ

หลังจากนั้นพรรคพลังประชารัฐจะเริ่มเปิดรับสมาชิกพรรค จัดทำนโยบายพรรค คัดกรองคนรุ่นใหม่ กลุ่มการเมืองและอดีต ส.ส.ที่จะมาร่วมงาน ลงสมัครรับเลือกตั้ง

รวมถึงพิจารณาชี้ชะตากลุ่มสามมิตรว่ายังจำเป็นสำหรับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่