คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : วงประโคมพระราชพิธีสยาม กับวงประโคมของเทวสถานในเกรละ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมนึกจะเขียนเรื่องวงดนตรีประโคมในพระราชพิธีพระบรมศพ พอดี คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนลงในมติชนอย่างเรียบร้อยดีงาม

ท่านว่า ของพวกนี้เรารับจากอินเดียมานานแล้ว แต่เดิมนั้นเป็นของสำหรับแห่ทวยเทพ และยังมีใช้มานมนานดังปรากฏในหลักฐาน เช่น ในภาพสลักของบุโรพุทโธและวรรณคดีต่างๆ ของเราเอง

ผมเห็นด้วยกับคุณสุจิตต์ ทุกประการครับ แต่เนื่องจากความสนใจอะไรแขกๆ จึงพยายามไปเสาะไปหาดูว่า แขกมีวงดนตรีอะไรคล้ายๆ อย่างนี้ไหม

ดังนั้น บทความชิ้นนี้ จึงเป็นการนำเสนอเสริมจากสิ่งที่คุณสุจิตต์เขียน พร้อมกับเสนอข้อสันนิษฐาน ที่เบื้องต้นมากถึงมากที่สุด

 

ดนตรีประโคมในอินเดีย ใช้ในเทวสถานเป็นหลัก แต่เดิมคงใช้ในพระราชวังด้วย ตามคติ “ปฏิบัติต่อเทพเหมือนกษัตริย์ ปฏิบัติต่อกษัตริย์เหมือนเทพ” พระราชพิธีและเทวพิธีจึงคล้ายกัน ศึกษาเปรียบเทียบกันได้

แต่ในปัจจุบันอินเดียไม่มีระบบกษัตริย์ (ในความหมายว่าเป็นประมุขของประเทศ) มีแต่ “เจ้านาย” ที่สืบราชสกุลลงมาและมีชีวิตคล้ายๆ คนสามัญ ดังนั้น พระราชพิธีจึงหายไปมาก ยากที่จะศึกษาเปรียบเทียบกับของเราได้

จึงต้องศึกษาเทียบกับ “เทวพิธี” โดยเฉพาะในเทวสถานสำคัญในอินเดียใต้ ที่มักรักษาความเคร่งครัดขนบสืบทอดกันมาไม่ขาดสายถึงปัจจุบัน

 

การประโคมสำหรับเทวพิธีนั้น มีอยูjสองลักษณะ คือประโคมในเทวสถานกับ ประโคมนอกเทวสถาน

ประโคมในเทวสถานนั้น เมื่อเทพเจ้าจะ “เสด็จออก” เช่น เมื่อตื่นพระบรรทมและทำบูชาเช้าสรงสนานแต่งองค์เสร็จแล้ว พราหมณ์จะเปิด “ม่าน” ให้คน “ทัศนา” เทวรูป ระหว่างนั้นจะประโคมดนตรี

รูปแบบเช่นนี้ เหมือนกับการเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีของเราทุกประการ

ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า เราใช้เทวพิธีในราชพิธีอย่างอินเดียอยู่

การประโคมเช่นนี้ทำทุกครั้งที่เทพเจ้าเสด็จออกให้เฝ้า กับการประโคมอีกอย่างคือ ประโคม “ย่ำสนธยา”

“สนธยา” คือช่วงเชื่อมต่อหรือเปลี่ยนผ่านเวลา ได้แก่ กลางคืนเป็นกลางวัน (อรุณ) และกลางวันเป็นกลางคืน (โพล้เพล้) ต้องประโคมขับไล่สิ่งอวมงคล และมักจะทำพิธีบูชาประจำวันในช่วงเวลานี้ไปพร้อมกัน

ประโคมทั้งสองอย่าง อย่างต่ำมีสังข์กระดิ่งหรือระฆังกังสดาล อย่างกลางมีย่ำกลองประจำเทวสถานเพิ่มเติมเข้าไป อย่างสูงมีวงดนตรีปี่กลองพร้อมเครื่องประโคมทั้งหมด

ส่วนการประโคมนอกเทวสถาน ใช้เมื่อเทพเจ้าจะเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้า ทำนองเดียวกับเสด็จเลียบพระนคร จึงใช้ดนตรีสำหรับแห่แหน การแห่แหนแบบนี้เรียกว่า “โศภณยาตรา”

 

นอกจากแห่เทพเจ้าแล้ว สามารถใช้แห่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ก็ได้ และคงได้ใช้สำหรับการออกศึกสงครามในสมัยโบราณด้วย เพราะท่วงทำนองเต็มไปด้วยความแข็งแรงชวนให้ฮึกเหิม

ในตำราการสถาปนาเทวรูปประจำเทวสถาน ท่านว่า โศภณยาตราให้แห่ผ่านพระเทวสถานอื่นๆ อย่างน้อยสามเทวสถาน

วงดนตรีสำหรับแห่และประโคม โดยมากคือใช้วงปี่กลอง “ปัญวาทยัม” หรือวงเครื่องห้า โดยมากเป็นกลองขึงหนังสองด้าน กลองตีด้วยไม้ กลองขึงหนังหน้าเดียว เครื่องกระทบโลหะและปี่ บางตำราอาจมีรูปแบบอื่นๆ แต่หลักๆ ประกอบด้วยกลอง เครื่องโลหะ และปี่

“ตีพาทย์ดังพิณฆ้องกลอง “ปี่สรไน” พิสเนญชัย ทะเทียดกาหล แตรสังข์มาน กังสดาลมารทงค์ดงเดือด เสียงเลิศ เสียงก้อง ฯลฯ” (จารึกวัดพระยืน)

“ปี่ไฉน” ในวงประโคมของเรานั้น แขกเรียก สรไน ศหไน (ออกเสียงชห์ไน) เชไน สไน ฯลฯ หมายถึงปี่ทำนอง มีทั่วทุกภูมิภาคของอินเดีย ในภาคใต้เขาถือว่าเป็นปี่ประเภทเดียวกับ นาทสวรัมของฑมิฬ และ กุซัห์ลของเกรละ และใช้ในวงประโคมของเทวสถานเช่นเดียวกัน

ผมพบว่า ในอินเดียมี มีวงดนตรีประโคมที่มีความคล้ายคลึงกับ “วงปี่ไฉนกลองชนะ” ในพระราชพิธีของเรามากที่สุด คือวง “เชนทะ เมลัม” (chenda melam) ของรัฐเกรละ (kerala)

 

เชนทะ (chenda) หมายถึงกลองชนิดหนึ่ง ขึงหนังสองด้าน มีสายสำหรับสะพาย ใช้ตีด้วยไม้หนึ่งด้าน (เหมือนกลองชนะ) มีหลายขนาด ส่วน เมลัม (melam) หมายถึงวงเครื่องประโคมหรือเครื่องกระทบ

เชนทะ เมลัม มีเครื่องดนตรีหลักๆ คือ กลองเชนทะ, เอลตาลัม (elathalam) คล้ายฉิ่งผสมฉาบขนาดใหญ่, กุซัห์ล (kuzhal) หรือปี่ไฉน, กัมพุหรือกัมปุ (kombu) หมายถึงแตรงอนหรือเสนง (แตรโลหะเลียนแบบเขาสัตว์ แต่มีขนาดใหญ่และโค้งกว่า มีทรงรูป C และ S)

ในการผสมวง จำนวนกลองจะมีมากที่สุด ส่วนเครื่องเป่าหรือเครื่องทำนองจะมีน้อยที่สุด (คล้ายวงปี่ไฉนกลองชนะ)

นอกจากนี้ ในการผสมวงแบบต่างๆ ยังมีการใช้ มธาลัม (madhalam) กลองสองหน้าตีสองมือ (เหมือนเปิงพรวด), ติมิลา (timila) กลองเอวขอดคล้ายบัณเฑาะว์แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก, อิทักกะ (idakka) กลองสั้นซึ่งใช้ไม้ตี ฯลฯ

 

เชนทะเมลัมมีรูปแบบหลักๆ สี่แบบ

แบบแรก “ตรยัมพะกะ” หรือ “ดนตรีองค์สาม” มีเพียงกลองเชนทะสองชนิดจำนวนไม่มาก และฉิ่งเอลตาลัม แต่เดิมใช้ในเทวสถานขณะบูชาค่ำแต่ภายหลังแพร่ออกไปยังชาวบ้าน

“ปัญจวาทยัม” (เบญจพาทย์) หรือ “ดนตรีมีองค์ห้า” ใช้กลองมธาลัม, กลองติมิลา, กลองอิทักกะ, ฉิ่งเอลตาลัม และแตรงอนกัมพู ก่อนเล่นจะต้อง “เป่าสังข์” ก่อนจึงเริ่มประโคม

แบบที่สาม ปัญจารี เมลัม (panchari melam) ใช้ประโคม “ภายในกำแพงเทวสถาน” มีกลองเชนทะ ปี่ แตรงอน และฉิ่งเอลตาลัม

แบบที่สี่ ปันที เมลัม (pandi melam) ใช้ประโคมและแห่แหน “นอกเทวสถาน” เครื่องดนตรีใช้แบบเดียวกับปัญจารีเมลัม แต่มีท่วงทำนองลีลาต่างกัน

จำนวนกลองเชนทะในวงปัญจารี เมลัม และปันที เมลัม จะขึ้นอยู่กับความยิ่งใหญ่ของงานและเทวสถานนั้นๆ มีตั้งแต่จำนวนไม่กี่เครื่องไปจนถึงจำนวนนับร้อยๆ

 

วงเมลัมที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน คือ อิลันชิตร เมลัม (Ilanjithara melam) วงประจำเทวสถาน วทักกุนนาถ (vadakkunnath) มีเครื่องประโคมถึง 250 เครื่อง เฉพาะกลองเชนทะมีถึง 100 ตัว

แม้ว่าการประโคมดนตรีในเทวสถาน โดยเฉพาะวง “มีองค์ห้า” จะเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในอินเดีย แต่วงประโคมโดยกลองจำนวนมากๆ คือ เชนทะ เมลัม มีเฉพาะในรัฐเกรละเท่านั้นครับ ไม่มีที่อื่นเลย

เมลัมเป็นของหลวง คือไม่ใช่วงดนตรีชาวบ้าน เพราะมีเครื่องดนตรีจำนวนมากเกินกว่าชาวบ้านจะครอบครองได้และบางเครื่องดนตรีเป็นของสำหรับศึกสงคราม เช่น แตรงอน ในอดีตคงใช้ทั้งในพระราชพิธีและเทวพิธี

ทุกวันนี้การศึกษาเล่าเรียนเมลัมยังใช้ระบบเดิม คือ ต่อกับครู และจะมี “จ่าวง” หรือหัวหน้าวงควบคุมทั้งการบรรเลงและการสอน นับว่าเป็นที่เคารพนับถือเหมือนครูดนตรีของเรา

เมลัมสืบทอดมาหลายร้อยปี และเป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่ช่วงสามร้อยปีที่แล้ว แสดงว่ามีมาก่อนนั้นนานมาก

ปัจจุบันเมลัมยังคงเป็น “สมบัติ” หรือเป็น “ราชูปโภค” ของพระเป็นเจ้าในเทวสถานเท่านั้นครับ

 

ด้วยอะไรต่อมิอะไรข้างต้น ผมจึงอยากเสนอเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า วงประโคมปี่ไฉนกลองชนะของเรา มีต้นเค้ามาจากวงเชนทะ เมลัมในรัฐเกรละนี่เอง โดยเรารับมาและประยุกต์ปรับแต่งให้เข้ากับพื้นเมืองเรา เช่น เอากลองมโหระทึกเข้าไปผสม และเอาไปใช้ในโอกาสงานศพเจ้านายด้วย อันนี้เข้าใจว่าทางอินเดียไม่ทำ ด้วยเพราะคิดกันคนละอย่าง

ผมเข้าใจว่า งานพระบรมศพ หรืองานศพเจ้านายนั้น แต่โบราณมาคงไม่ได้ถือว่าเป็นงานอวมงคลถ่ายเดียว เพราะถือว่าการสวรรคตคือพระเป็นเจ้าเสด็จกลับสวรรค์ ย่อมควรต้องใช้เครื่องประโคมเช่นเดียวกันกับงานมงคลหรือการแห่แหนอื่นๆ

ที่สำคัญ เชนทะ เมลัมแสดงให้เห็นความสำคัญของ “เกรละ” ต่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมไทย อินเดียที่เรายังมีความรู้น้อยมากๆ