ในประเทศ / ชทพ.ปรับทัพ ชู ‘กัญจนา’ นั่งหัวหน้า ปรับลุครับ ‘สะสมทรัพย์’ ร่วมทีม

ในประเทศ

 

ชทพ.ปรับทัพ

ชู ‘กัญจนา’ นั่งหัวหน้า

ปรับลุครับ ‘สะสมทรัพย์’ ร่วมทีม

 

ยิ่งใกล้ถึงวันประชุมใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยิ่งมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ออกมาเรื่อยๆ

เพราะนอกจากจะได้ตระกูล “สะสมทรัพย์” ยกทีมอดีต ส.ส.นครปฐม พรรคเพื่อไทย เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาแล้ว ยังจะมีการปรับลุคจูนโมเลกุลภายในพรรคกันใหม่อีกด้วย

จากที่เดิมเคยประกาศกร้าวอย่างเสียงแข็งว่า ถึงเวลาของเจเนอเรชั่นใหม่

ด้วยการวางตัว “เสี่ยท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา ให้นำทัพสู้ศึกเลือกตั้งครั้งแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยมี “เสี่ยโต้ง” สิริพงษ์ อังคสิริพงษ์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ นักธุรกิจหนุ่มอสังหาริมทรัพย์แห่งอีสานใต้ เคียงคู่เข้ามาเป็นเลขาธิการ

พร้อมๆ กับผู้อาวุโสจะสลับฉากให้ทีมงานคนรุ่นใหม่ลูกหลานนักการเมืองของชาติไทยที่เป็น “เลือดแท้” ขึ้นมาเป็นหัวหอกนำทีมนั้น จึงมีเหตุให้ต้องพับเก็บเอาไว้ก่อน

และเพื่อเป็นการให้เกียรติตระกูลสะสมทรัพย์ ผู้ใหญ่จากภายนอกที่จะย้ายเข้ามา

จึงต้องชูทีมบริหารแบบไฮบริด หรือลูกผสมระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “ผู้อาวุโส” แทน

 

ล่าสุดยกทีมไปเปิดตัวแล้วกลางงานเบิร์ธเดย์ 75 ปี “เฮียจอง” จองชัย เที่ยงธรรม

นั่นคือ “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา อดีต รมช.ศึกษาธิการ พี่สาวคนโตของครอบครัวศิลปอาชา ที่ก่อนหน้านี้ทำท่าว่าจะขอวางมือทางการเมือง ถูกวางให้ขึ้นแท่นหัวหน้า ชทพ.หญิงคนแรก โดยให้ผู้อาวุโส “ประภัตร โพธสุธน” พ่อบ้านคู่ใจนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษา ชทพ. สมัยพรรคชาติไทย เข้ามาขนาบข้างในตำแหน่งเลขาธิการแทน

พร้อมๆ กับการเพิ่มสัดส่วนที่นั่งในคณะกรรมการบริหารจากเดิมที่มีเพียง 15 คน จะเพิ่มโควต้าสูงสุดไว้ถึง 29 คน เพื่อรองรับกลุ่มการเมืองต่างๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่มิอาจควบคุมได้จากภายในอย่างที่ชาติไทยเคยเจอในอดีต

โดยเฉพาะปัญหาจาก “มุ้งทางการเมือง” ที่อาจจะไหลเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต

หลังจากประกาศเชิญชวนให้กลุ่มการเมืองต่างๆ มาหลบร้อนกับ ชทพ. สถานที่เย็นๆ จากสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกได้ อย่างที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการ ชทพ.ระบุ

“ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ สำทับกับท่าทีของกองทัพด้วย จึงทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวล แต่ความกังวลนี้กลับเป็นประโยชน์ต่อเรา เพราะ ชทพ.ไม่ทะเลาะกับใครเพื่อชิงที่ 1 อยู่แล้ว เป้าหมายของพรรคเป็นการเมืองแบบเพียงพอที่ 30 ที่นั่งเท่านั้น”

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าก่อนที่สะสมทรัพย์จะย้ายมา ชทพ.ดูไม่ค่อยจะครึกครื้นเท่าไหร่นัก

เพราะนับตั้งแต่การจากไปของนายบรรหาร ศิลปอาชา จะพยายามชูภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่เป็นพรรคแรกๆ ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย แม้จะถูกจัดว่าเป็นพรรคขนาดกลางที่ได้เปรียบสุดๆ ในระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” แต่กลับถูกสบประมาทถึงขนาดว่าจะเป็นพรรคต่ำ 10 ที่นั่งในการเลือกตั้งที่จะถึง

เพราะเมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปิด วันที่กระแสข่าว “พลังดูด” ร้อนแรง ชทพ.ก็เป็นอีก 1 พรรคที่ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย

“เมื่อเขามาช้อปเรา เราก็จะช้อปเขาบ้าง มีออกก็ต้องมีเข้าแน่นอน” นายวราวุธย้ำเช่นนี้เสมอ

แม้แกนนำพรรคจะมองว่าเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง 30 ปีชาติไทยมาจนถึงชาติไทยพัฒนาเจอมาหมดแล้วทุกรูปแบบ แต่เมื่อวันที่มีการคลายล็อกให้ตามคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 จากเรื่องการย้ายพรรคที่เป็นแค่กระแสข่าวก็กลายเป็นรูปธรรมขึ้น

แม้แต่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะไม่มีกรณีที่ภูมิใจไทยไปดึงคนของ ชทพ.มากลางงานบุญครบ 2 ปีการจากไปของนายบรรหาร ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร แต่เมื่อวันที่ภูมิใจไทยเปิดตัวผู้สมัครกลับมีอดีต ส.ส.ชทพ.รวมอยู่ด้วย

โดยเฉพาะ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” อดีต ส.ส.อุทัยธานี “เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร” อดีต ส.ส.พระนครศรีอยุธยา และทีมพิจิตรที่ติดสอยห้อยตาม “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์มา ทั้งนายศิริวัฒน์ ลูกชาย รวมไปถึงตระกูลภัทรประสิทธิ์ก็มีข่าวว่าจะย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น จากเขตเลือกตั้งที่ลดลง สุพรรณบุรีเมืองหลวงของพรรคมีปัญหาขึ้น

การพยายามดันให้ “ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ” อดีต ส.ส.สุพรรณฯ ขึ้นบัญชีรายชื่อ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้พี่น้องตระกูลประเสริฐสุวรรณที่ถือเป็นเลือดแท้ชาติไทยตีจากไปซบพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยเสียอีก

ที่ยิ่งไปกว่านั้น ชทพ.ยังต้องเผชิญกับดักของกติกาที่ว่าด้วย ขั้นต่ำของสมาชิกพรรคจำนวน 100 คนขึ้นไปที่แต่ละพรรคจะต้องมีในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ไว้ใช้สำหรับการส่งผู้สมัครในแต่ละเขต ทำให้จากที่เคยมั่นใจว่าจะสามารถส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขตได้ก็เริ่มเสียงอ่อย

เพราะนั่นเท่ากับว่า โอกาสในการเก็บคะแนนในแต่ละเขตเพื่อนำไปคิดรวมเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ลดน้อยลงไปอีก ไหนอดีต ส.ส.เขตที่หมายมั่นกับพรรคย้ายออกไป ทำให้นายวราวุธ ศิลปอาชา ผู้ที่ถูกวางตัวให้รับไม้ต่อออกปากยอมรับและเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“เข้าใจดีว่า ในวันที่นายบรรหารไม่อยู่แล้ว หลายคนคงตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ผมเพิ่งก้าวเข้ามาได้เพียง 2-3 ปี การเลือกตั้งสมัยนี้อาจเป็นผู้นำพรรคสมัยแรก ชทพ.อาจจะเล็กลงก็เป็นเรื่องปกติ แต่เชื่อมั่นว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปจะสร้าง ชทพ.ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่งได้ เพียงแต่ขอเวลาและโอกาสพิสูจน์สักระยะ ดังนั้น จึงเข้าใจคนที่ออก และเคารพการตัดสินใจของทุกท่าน เพราะทุกคนเป็นพี่เป็นน้องกันหมด ไปแล้วอาจจะกลับมาอีกก็ได้”

 

แม้ว่าที่ผ่านมากระแสของ ชทพ.อาจจะไม่หวือหวาเหมือนพรรคอื่นๆ อาจจะต้วมเตี้ยมเหมือนเต่าที่เดินช้า แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การที่ตระกูลสะสมทรัพย์ยกทีมอดีต ส.ส.นครปฐมเข้ามาอยู่ด้วย พร้อมๆ กระแสข่าวว่าคนเก่าก็จะมีกลับมา ขณะที่คนใหม่ก็มีติดต่อเข้ามาอีก

จึงทำให้ในทัศนะของแกนนำ ชทพ.ถือว่า งานยังเดินไปตามเป้าหมายไว้ที่ 30 ที่นั่ง เพราะยังถือว่าได้สิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป

นี่จึงทำให้ “สปอตไลต์” จับตามอง ชทพ.ในฐานะอีก 1 พรรค “ตัวแปร” อีกครั้ง

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ที่มี 2 แนวรบตระกูล “พลัง” กับ “เพื่อ” ทำสงครามตัวแทนเอาไม่เอา คสช.ผ่านพรรคการเมืองกันอย่างเข้มข้น

ทั้งฝ่ายพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ หรือพรรคพลังชาติไทย โดยมีพรรคพลังประชารัฐ ที่มี 4 รัฐมนตรี คสช.เป็นแกนนำ

หรือฝ่ายพรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นหัวหอก

และด้วยสายสัมพันธ์ที่ ชทพ.มีกับทั้ง 2 ฝ่าย นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่แหลมคมที่จะต้องนำผู้อาวุโสมาผสมร่วมทีมบริหาร ชะลอความห้าวของคนรุ่นใหม่ลงบ้าง

เพื่อเป็นการกำหนดท่าทีให้ชัดเจน และกลับมาอยู่ในตามเกมที่ตนเองถนัด

   เพราะสำหรับ ชทพ. ผลภายหลังจากการเลือกตั้งเท่านั้น จึงจะเป็นตัวชี้ว่าพรรคจะเอาหรือไม่เอา คสช.นั่นเอง