คำ ผกา : รอ

คำ ผกา

การจำนำข้าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกล่าวให้ถึงที่สุด นโยบายแทรกแซงราคาข้าว การพยุงราคาข้าว การช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกร ชาวนา เป็นนโยบายของทุกรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่แต่เพียงข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐไม่เคยปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดอยู่แล้ว

กล่าวให้สุดไปอีกขั้นหนึ่ง การทุจริตคอร์รัปชั่นในขั้นตอนดำเนินนโยบายเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลแรก

แต่ยิ่งลักษณ์ก็จะเป็นอดีตนายกฯ คนแรกที่อาจโดนทั้งคดีอาญา และการถูกยึดทรัพย์จากการดำเนินนโยบายจำนำข้าว

พร้อมกับที่ยิ่งลักษณ์กำลังสู้คดีนี้ ข่าวราคาข้าวตกต่ำเป็นประวัติการณ์พร้อมกับเสียงร้องทุกข์ของเกษตรกร ชาวนา และตลอดทั้งปี เราก็ได้อ่านข่าวชะตากรรมอันน่าเห็นใจของชาวนาอยู่เนืองๆ

ตั้งแต่หน้าแล้งที่ต้องขอร้องไม่ให้ชาวนาทำนา

พอน้ำท่วมก็ขอร้องให้ชาวนายอมให้น้ำท่วมนาข้าวบ้าง

และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็บังเกิดราคาข้าวตกต่ำ ต่ำจนคนเอาไปเทียบกับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง ราคาอาหารสุนัขบรรจุถุงบ้าง

 

“ข้าว” ในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างไร ฉันจนใจที่จะรู้ รู้แต่ว่า เราซื้อข้าวสารแพง แต่ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาถูกอยู่ตลอดมา ยกเว้นแต่ว่ารัฐจะเข้ามาแทรกแซงด้วยการจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าว

รู้อีกอย่างหนึ่งคือ ทั้งๆ ที่เมืองไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นหนึ่งของโลก แต่การได้กินข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงตามร้านข้าวแกงในเมืองไทยแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

อาหารสำเร็จรูป ข้าวแกง อาหารตามสั่งที่คนจนในเมืองกิน ล้วนแต่เป็นข้าวสวยที่หุงจากข้าวสารคุณภาพต่ำราคาถูกทั้งสิ้น

และถึงที่สุด จะเข้าใจเรื่องข้าว คงต้องรู้ว่า ข้าวทั้งหมดที่ผลิตในเมืองไทยนั้น จำแนกออกเป็นกี่สายพันธุ์ มีสายพันธุ์ไหนถูกบริโภคในประเทศในฐานะข้าวเท่าไหร่ ส่งออกเท่าไหร่ ถูกนำไปแปรรูปเป็นแป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวเหนียวเท่าไหร่ ข้าวพันธุ์ไหนเหมาะสำหรับเอาไปทำแป้ง แล้วเหล้าขาวที่ทำจากข้าวในเมืองไทยนั้นใช้ข้าวพันธุ์ไหน คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของผลผลิตข้าว ไปจนถึงคนไทยกินข้าวปีละกี่กิโลกรัม กินมากขึ้นหรือน้อยลง

นี่ยังไม่พูดถึงอุตสาหกรรมโรงสี และการส่งออกข้าวอันสลับซับซ้อนเกินสติปัญญาของฉันจะติดตามและเข้าใจ

นอกเหนือจากมิติทางเศรษฐศาสตร์ของข้าว มิติทางวัฒนธรรมของข้าวกับคนไทยก็มีพลวัตที่น่าสนใจ

เรามักถูกสั่งสอนให้กินข้าวโดยสำนึกในบุญคุณของชาวนา

แต่สิ่งที่ย้อนแย้งอยู่ในตัวของเหล่าชนชั้นกลางคือ ชาวนาที่พวกเขาสำนึกในบุญคุณ เป็นชาวนาในจินตนาการ เพราะในชีวิตของชนชั้นกลางเราแทบจะไม่รู้จักชาวนาตัวเป็นๆ แม้แต่คนเดียว

ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะรู้ไหมว่า ชาวนาภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ มีลักษณะทางสัมคม เศรษฐกิจที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

และเราแทบไม่สนใจว่า แท้จริงแล้วตอนนี้เรามีชาวนาเป็นร้อยละเท่าไหร่ของจำนวนประชากร

ชาวนาเหล่านั้น เป็นชาวนาเต็มเวลาหรือทำอาชีพอื่นๆ ด้วย

รายได้ของครัวเรือนชาวนา มาจากการทำนาเป็นหลัก หรือแท้จริงแล้วต้องพึ่งพิงรายได้จากแหล่งอื่น

มีชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินกี่ราย เป็นชาวนาที่ต้องเช่าที่นากี่ราย

ในจินตนาการของชนชั้นกลาง เวลาพูดคำว่า ชาวไร่ชาวนา มักจะมีคำว่า ผู้ยากไร้ ห้อยท้ายมาด้วยเสมอ

จากนั้นก็เป็นภาพของชนบท ก่อนจะตามมาด้วยภาพของตาสีตาสา

เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งคนชั้นกลางก็รู้สึกว่า “ชาวนา” คือผู้มีพระคุณ (ในเชิงวาทกรรม)

อีกด้านหนึ่ง ก็เห็นชาวนาตัวเป็นๆ ในฐานะคนบ้านนอกคอกนา ยากจน มอมแมม ทั้งไม่อยากรู้จักนับญาติและน่าสงสารระคนกันไป

ขณะเดียวกัน ชนบทและท้องนาสำหรับชนชั้นกลางก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “ไทย” แบบหนึ่ง

ในจินตนาการอีกนั่นแหละ วิถีชีวิตชาวนาอันเรียบง่าย ผู้คนชนบทโอบอ้อมอารี การหาอยู่หากินแบบพอเพียง ไม่ละโมบ

การกลับไปหาธรรมชาติ จับปลาในหนอง ปลูกข้าว เก็บผักบุ้ง ผักกระเฉด ใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ นั่นคือวิถีชีวิตของชาวนาอันสวยสดงดงาม

และหากชาวนาไม่โลภ ชาวนาจะไม่ลำบากเลย แต่จะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข

 

ด้วยจินตนาการเช่นนี้ จึงมีคนใน “เมือง” จำนวนมาก มุ่งหน้าสู่ชนบท ถอดสูท ละทิ้งชีวิตหรูหรา เก๋ไก๋ในเมือง เพื่อไปเป็น “ชาวนา”

พวกเขาต้องการพิสูจน์ว่า การกลับไปใช้ชีวิตแบบชาวนาในอดีต ที่ปลูกข้าวแค่พอกิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่โลภ ไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี คือทางรอดของชีวิตชาวนา

โดยนัยนี้ “คนเมือง” ที่พากันออกไปทำนา มีข้อสมมุติฐานว่า หายนะแห่งชีวิตชาวนาที่ลืมตาอ้าปากไม่ได้ ก็เพราะชาวนาไปติดกับดักทุนนิยม ละทิ้งการปลูกข้าวเพื่อกิน ไปสู่การปลูกข้าวเพื่อขาย และต้องการกำไรมากๆ

ชาวนาจึงต้องใช้เทคโนโลยีแทนการใช้ควายที่กินหญ้าก็ไปใช้รถไถ รถเกี่ยวข้าวที่กิน “น้ำมัน” ต้องกู้หนี้ยืมสิน ต้องซื้อปุ๋ย และยาฆ่าแมลงในราคาแพง

ชาวนายังทะเยอทะยาน จะส่งลูกหลานไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องใช้เงินมาก

ชาวนาอยากได้รถยนต์ รถเครื่อง อยากได้โทรศัพท์

เหล่านี้คือปิศาจของทุนนิยม และบริโภคนิยมที่มาล่อหลอกชาวนาให้หันเหไปจากวิถีชีวิตพออยู่พอกินอันเปี่ยมสุขแบบที่เคยมีในอดีต

ชาวนาทำลายระบบนิเวศน์

พวกเขาจึงสูญเสียแหล่งอาหารทั้งปลาธรรมชาติ ดอกโสน ผักบุ้ง ฯลฯ

เมื่อชาวนาเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อขาย ชาวนาจึงตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการกู้เงินมาทำนา เป็นหนี้ ข้าวราคาต่ำ เดือดร้อน ยากจน กู้เงินใหม่ และทะยานอยากในบริโภควัตถุ กินเหล้า เล่นการพนัน สนุกในมหรสพ ไม่เจียมตัว

จึงช่วยไม่ได้ที่จะยากจน และตกเป็นเหยื่อนักการเมืองที่เข้ามาหาเสียงและใช้นโยบายช่วยเหลือชาวนามาล่อหลอกชาวนาต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในจินตนาการของ “คนเมือง” ชาวนาจึงมีสองประเภท คือ ชาวนาผู้อยู่ในศีลในธรรมงดงามในทุ่งข้าวสีทอง มีความสุขเพราะไม่ละโมบ

กับชาวนาผู้โง่เขลา ยากจน ดิ้นรน เป็นหนี้ ติดกับดักทุนนิยมและบริโภคนิยม เป็นชาวนาผู้หลงผิด

จึงมี “คนเมือง” จำนวนหนึ่งลงไปทำนา แบบ “พออยู่พอกิน” อวดอ้างการเป็นนาอินทรีย์ นาคุณธรรม นาปลอดอบายมุข

นา “คนเมือง” เหล่านี้ กลายเป็นที่สนใจของ “คนเมือง” และคนมีการศึกษาด้วยกัน โทรทัศน์มาถ่ายทำสารคดี นิตยสารมาสัมภาษณ์ จากนั้นพากันพาดหัวว่า เศรษฐี ดารา นักเรียนนอก ทิ้งชีวิตสะดวกสบายไปเป็นชาวนาที่แสนจะมีความสุข

ในบทสัมภาษณ์ ชาวนาเหล่านี้มักจะบรรยายถึงภาวะการรู้แจ้งว่า การได้กลับมาสู่ธรรมชาติคือความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องแข่งขัน ทำนาตามธรรมชาติ แบ่งข้าวให้นกกากิน ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แค่มีข้าวพอกินก็สุขใจ

ก่อนจะสำทับว่า ความทุกข์ของชาวนาที่เราเห็นนั้นเกิดจากความเขลา และความละโมบ

จากนั้นก็จะมีธุรกิจ Farm Stay แปลงนาสาธิต ลูกคนมีสตางค์ โรงเรียนหรูๆ ในกรุง ก็จะพาเด็กนักเรียนไปลองขี่ควาย ทำนา ต้องนาโยนนะ ไม่ใช่นาหว่านนาดำ ไปลองทำอาหารออร์แกนิก กินข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ เพื่อสุขภาพ

แหม ชีวิตชาวนามันแสนสุขใจจริงเอย

การเป็นชาวนาช่างสวยงาม ทุ่งข้าวสีทองช่างหอมหวน

ความเป็นไทยที่แท้จริงก่อนถูกทุนนิยมทำลายมันดีอย่างนี้นี่เอง

แต่สิ่งที่เราไม่เคยรู้คือ “คนเมือง” ที่ออกมา “ทำนา” เหล่านี้ มีหุ้นอยู่ในตลาดหุ้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ มีทรัพย์สิน สิ่งของ บ้านช่อง มรดกเท่าไหร่ มีความ “ฟุ่มเฟือย” สักเท่าไหร่ กับการจะออกมาทำนาเป็น “ของเล่น”

หรือแม้กระทั่งการเป็นนักธุรกิจที่มีทุนหนา พอจะเนรมิตทุ่งนาแบบดิสนีย์แลนด์ เป็นธีมปาร์ก เพื่อทำธุรกิจขายฝัน ให้คนเมืองได้มาสัมผัสชีวิตชาวนา fake fake – โดยได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ

ไม่ใช่จากการขายข้าวในนา แต่มาจากธุรกิจทุ่งนาดิสนีย์แลนด์ผสมโฮมสเตย์และการขายฝันแฟนตาซีชีวิตชนบทให้คนเมือง

ในขณะที่มีชาวนาตัวจริง ต้องขายข้าวเปลือกกิโลละห้าบาท

ถูกห้ามทำนาปรังในฤดูแล้ง หรือมีนาถูกน้ำท่วมในฤดูฝน

ในห้างสรรพสินค้า กลับเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ข้าวในแพ็กเกจจิ้งแฟนตาซี สวยงาม ขายกิโลละเฉียดๆ ร้อยบาท พร้อมอ้างสรรพคุณการเป็น “ข้าวคุณธรรมศีลธรรม”

สังเกตหรือไม่ว่า การคิดชื่อแบรนด์ของข้าว “ทางเลือก” เกือบทั้งหมด ต้องกลับไปอ้างอิงคุณค่าของคุณงามความดี ธรรมะ ความรักในธรรมชาติ ชนบท ความพออยู่พอกิน ความสมถะ ราวกับว่า “ข้าว” คือสัญลักษณ์ของ “ศีลธรรม”

การซื้อข้าวแบบ “ธรรมๆ” จึงเท่ากับการได้ส่งเสริมความดี ข้าว “ธรรมๆ” จึงประกาศความไม่ละโมบโลภมาก ไม่เหมือนข้าวชาวนา ที่เป็นเหยื่อทุนนิยม ชีวิตมีแต่กู้หนี้ยืมสินกินเหล้า

แต่ข้าวที่อวดอ้างคุณธรรม ไม่โลภ พออยู่พอกินนี่แหละ กลับขายข้าวของตัวเองในราคาต่อหน่วยแพงกว่าข้าว “ทุนนิยม” ไม่ต่ำกว่าสองเท่า-แพงกว่า

เพราะเป็นคนดีกว่า-ใครจะทำไม?

 

เว็บไซต์ขายข้าวออนไลน์เว็บหนึ่งที่ฉันเข้าไปดู ถึงกับสมมุติชาวนาเป็นเจ้าบ่าว ลูกค้าเป็นเจ้าสาว เจ้าของเว็บเป็นแม่สื่อ ลูกค้าจะสั่งข้าว ต้องลงชื่อสมัครเป็น “เจ้าสาว” – การขายข้าวในตลาด เฉพาะทางของไทยนั้นจึงน่าสนใจมากว่ามันเป็นส่วนขยายของ “ข้าว” ในฐานะที่เป็นตัวแทนของความดี ธรรมะ ความสมถะ และสายใยผูกพันของครอบครัว ในรูปของข้าวอินทรีย์จากชาวนาที่พยายามออกจากกับดักของทุน

สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคกลุ่ม “ย่อย” ที่คิดว่าการสนับสนุนสินค้า fair trade สินค้าปลอดสาร เกษตรกรรายย่อย คือการประกอบคุณงามความดีและการช่วยเหลือสังคม แถมยังได้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพ

แต่ในขณะเดียวกันคนที่สนับสนุนสินค้าแฟร์เทรด ข้าวอินทรีย์ ก็สามารถเป็นสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มประชาธิปไตยได้ด้วย

แต่ประเด็นคือ ผู้บริโภคกลุ่ม “ย่อย” นี้ดูแล้วมีกระหยิบมือเดียว และไม่น่ามีพลังพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาราคาข้าวของชาวนา ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในระบบ “ทุนนิยม” และไม่อินทรีย์ทั้งสิ้น

มิหนำซ้ำ พวกเขาไม่ได้ปลูกข้าวหอมมะลิที่คนชั้นกลางที่มีสตางค์ชอบกินด้วย

การทำตลาดขายข้าวออนไลน์ เพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลางนั้นดีแน่

แต่ดีสำหรับผู้บริโภค ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จากการได้ซื้อข้าวในราคาถูกจากชาวนาโดยตรงแถมส่งถึงบ้าน

แต่คำถามคือ มีชาวนาสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ปลูกข้าวพันธุ์ที่ขายให้ผู้บริโภคกลุ่มที่ซื้อข้าวออนไลน์กิน

และกลุ่มผู้ซื้อข้าวออนไลน์นั้นบริโภคข้าวต่อปีต่อคนสักกี่กิโลกรัมกันในยุคที่คนชั้นกลางกินข้าวน้อยลงเรื่อยๆ เพราะกลัวอ้วน

กลับไปที่คำถามว่า ผลผลิตข้าวของไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นข้าวที่บริโภคในประเทศแค่กี่เปอร์เซ็นต์? การเอาข้าวมาขายตรงให้ผู้บริโภคช่วยตัดกำลังพ่อค้าข้าวรายใหญ่จริงหรือไม่?

ถึงที่สุดแล้ว การช่วยเหลือชาวนาที่ดีที่สุดก็ต้องกลับไปที่ “ชาวนา” ในฐานะกลุ่มประชาสังคมกลุ่มหนึ่งสามารถบังคับ ผลักดัน กำกับให้รัฐบาลมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ชาวนา เช่น นโยบายอุดหนุนราคาข้าว ได้หรือไม่

สามารถผลักดันให้รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีมาพยุงอาชีพชาวนาได้หรือไม่ และจะต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ ได้อย่างไร

เช่น ต้องไปถกเถียงว่า ทำไมรัฐต้องเอาเงินมาช่วยชาวนา ไม่ใช่กรรมกร หรือชาวประมง หรือชาวสวนยาง?

เป็นเพราะทุกภาคประชาสังคมของไทย ได้สิ้นสูญไปแล้วจากการเมืองไทยปัจจุบันใช่หรือไม่ ที่ทำให้เราต้องมาขายข้าวออนไลน์

ฆ่าเวลา และสร้างความหวังหล่อเลี้ยงกันและกันไปวันต่อวัน

เพื่อรอ…ซึ่งฉันเองก็ไม่รู้หรอกว่าเรารออะไร