พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู : ข้าวเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

หลังจากได้รับทราบเรื่องข้าวมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลจากเจ้าของโรงสีแห่งหนึ่ง ที่เป็นผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศด้วยมากพอที่จะมาเล่าให้ฟัง เพิ่มเติมด้วยข้อมูลของผู้เขียนจากนั้นจะขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวในกรอบแนวคิดใหม่

เริ่มแรกเลยก็ถูกบอกว่า เรื่องข้าวเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นอาหาร อาหารเป็นความมั่นคงของมนุษย์ ต่อไปจะมีการแย่งอาหารกัน แต่เพราะรายได้จากการเกษตรต่ำ หากปล่อยไปไม่ช้าคนจะทิ้งภาคการเกษตรไปและสุดท้ายจะเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างมาก เรื่องนี้สหประชาชาติได้กำหนดให้มีความมั่นคงด้านอาหารมาหลายปีแล้วเพราะมองเห็นปัญหานี้ สำหรับไทยเราหากปล่อยให้มีการซื้อที่ดินจากภาคการเกษตรมากไปกว่านี้ จะเกิดปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพของดินที่เหมาะกับเรื่องผลิตผลที่จะไม่ได้มาตรฐานตามมา ส่งผลให้หมดขีดความสามารถในการผลิตไปตลาดกาลเวลา (ฝั่งธนบุรีซึ่งดินดีที่สุดกับสวนผลไม้หมดไปนานแล้ว) ส่วนชาวญี่ปุ่น ข้าวถือเป็นชีวิต

เมื่ออาหารเป็นเรื่องสำคัญ ต่างประเทศจะมีการจ้างให้คนของเขาทำการผลิตอาหารเพื่อที่จะไม่ต้องเผชิญกับการไร้เสถียรภาพด้านอาหาร แต่เนื่องจากข้อตกลงองค์กรการค้าโลกการอุดหนุนด้วยเงินโดยตรงต่อเกษตรกรจึงทำไม่ได้ หลายประเทศก็มีวิธีการต่างออกไป ส่วนมากเป็นการให้ซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นเครื่องจักรในราคาถูกโดยรัฐออกให้เป็นส่วนมากเช่นร้อยละ ๖๐ ส่วนไทยเนื่องจากปัจจัยการผลิตตกอยู่ที่บริษัทใหญ่แล้วจึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือแบบนั้นได้ (ซึ่งก็คงเดาได้ว่าเกิดจากอะไร) จึงมาช่วยที่ปลายเหตุคือราคาสินค้ามี ประกันราคาหรือจำนำ แล้วแต่กรณี

เปรียบเทียบการประกันราคากับการจำนำไม่ว่าแบบใดโรงสีข้าวได้กำไรไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ % อยู่แล้ว ถ้าประกันราคาโรงสีก็ได้มากหน่อย ถ้าจำนำโรงสีก็ได้น้อยหน่อย แต่กำไรแน่นอน แม้ว่าราคาตลาดโลกตอนนี้จะตกต่ำก็ตาม

หากถามว่าทำไมรับซื้อถูก ก็จะได้คำตอบว่ามาจากการกำหนดราคากลางที่ได้ประกาศออกมา ทุกโรงสีก็ต้องทำตาม แล้วราคากลางมาจากไหน ใช่ราคาตลาดโลกหรือไม่ คำตอบก็คือถ้าเป็นคนอยู่ในแวดวงข้าวหรือรู้เรื่องเศรษฐกิจดี ก็จะรู้ว่า ราคาตลาดข้าวโลกนี้คือราคาข้าวอินเดีย ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าของไทยอย่างมาก ถามต่อว่าข้าวล้นตลาดหรือไม่ คำตอบก็คือถ้าเป็นข้าวไทยไม่เคยมีปัญหาเรื่องตลาด เพราะทางตะวันออกกลาง จีน สหรัฐฯและยุโรปต่างนิยมข้าวไทย

แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน คำตอบสั้นๆจากโรงสีคือ ราคากลางกำหนดมาจากพ่อค้าส่งออกและทำราคาข้าวให้ต่ำเอง เหตุผลก็คือ เมื่อราคาตลาดโลกลดลง ด้วยปริมาณการผลิตของข้าวอินเดีย เวียดนามและที่อื่นอีกเล็กน้อย ทำให้ราคาข้าวโดยเฉลี่ยลดลง แต่ความต้องการข้าวไทยยังมีอยู่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ส่งออกเอง แต่เพราะผู้ส่งออกต้องการรักษาปริมาณกำไรที่เคยได้ตอนที่ปริมาณข้าวโดยรวมน้อยและราคาเฉลี่ยสูง (รวมข้าวทุกประเภท) จึงกดราคา

ก่อนจะไปต่อควรทำความเข้าใจเล็กน้อยว่าในข้าวที่เหมือนกันข้าวไทยเป็นที่ต้องการมากกว่าแม้ว่าราคาจะแพงกว่าก็ตาม เหมือนกระเป๋าแบรนด์เนมถึงแพงกว่าคนบางกลุ่มก็สรรหามาใช้ ข้าวไทยก็เป็นแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่อาจเอาราคาตลาดโลกมาใช้กำหนดเหมือนเอาราคากระเป๋าทำเองมาเป็นราคาของกระเป๋าแบรนด์เนมได้เช่นกัน

ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทำให้ชาวนาไทยยากลำบาก น้ำตาตก และบางคนอาจจำเป็นต้องละทิ้งที่นา หรือกลายเป็นผู้เช่านาส่งผลให้หมดกำลังใจในการผลิตทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะเกิดปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารถ้ายังปล่อยให้เอกชนผู้ส่งออกกำหนดราคาข้าวอิงราคาข้าวอินเดียอยู่เช่นทุกวันนี้โดยที่ราชการไม่มีความเท่าทันหรือเอาแต่ฟังพ่อค้าอยู่อย่างเดียว

หันมาดูในเรื่องหลักการพัฒนาที่ได้เคยนำเสนอไปแล้ว สิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาคือการสะสมทุน หมายถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ทำการผลิตอยู่ต้องมีกำไรส่วนเกินเพียงพอที่จะนำมาปรับปรุงการผลิตด้วยการซื้อเครื่องจักร เครื่องมือมาทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงให้มากที่สุดเมื่อเทียบกับราคาตลาด แต่ถ้าทั้งแรงงานและเกษตรกร มีรายได้เพียงแค่ประทังชีวิต ก็ไม่ต่างจากยุคเกษตรกรรมที่ไพร่ติดที่ดินทำนาไปแบบอาศัยฟ้าฝน ไม่อาจทำการผลิตเกษตรแบบประณีตได้ ยิ่งราคาปัจจัยการผลิตสูงและผูกขาดเช่นประเทศไทย โอกาสที่คนธรรมดาสามัญจะสร้างธุรกิจของตนเองนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งหมายถึงไม่เกิดการพัฒนาขึ้น แม้ว่าจะเกิดคนรวย ก็จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยมีชีวิตหรูหรา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจน ไร้อนาคตกันหมด ดังนั้นทั้งค่าแรงงานและราคาผลผลิตที่มีส่วนเกินมากเพียงพอเท่านั้นจึงจะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาได้

เมื่อพบปัญหาและนำหลักการพัฒนามาพิจารณาประกอบกันแล้ว จึงสมควรที่จะมีการแทรกแซงจากทางราชการ (ถ้าไม่ไปเข้ากับนายทุนเสียหมดแล้ว) ทั้งในด้านปัจจัยการผลิตและราคาผลิตผลในลักษณะที่เรียกว่า”ความรับผิดชอบร่วมกัน”หรือ (mutual-burden) คือการรับภาระร่วมกัน

ว่ากันที่ส่วนของปัจจัยการผลิตก่อน เช่นโรงสีขนาดเล็ก เครื่องดำนาและเก็บเกี่ยว รัฐสามารถร่วมซื้อหรือซื้อให้เป็นของให้เช่าประจำตำบลได้ เมื่อเทียบกับการประกันหรือจำนำข้าวแล้วมีประโยชน์กว่ามาก เพราะทำให้เกษตรกรยืนได้อย่างยั่งยืน กองทุนหมู่บ้านสามารถร่วมมือในการสร้างยุ้งฉางได้ รวมถึงการตากข้าวด้วยระบบอาคารปิดเพื่อเพิ่มราคารับซื้อ หรือให้เอกชนนำเครื่องสีข้าวขนาดเล็กมาไว้ตามชุมชนโดยลดภาษีนำเข้าให้เป็นพิเศษ เป็นต้น เพื่อให้ชาวนาขายข้าวเปลือกตรงสู่ผู้บริโภคแล้วนำไปสีเองตามความชอบ ไม่ต้องผ่านระบบร้านสะดวกซื้อใดๆ

ในเรื่องราคาขายข้าวเปลือก รัฐสามารถทำเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์จากปริมาณข้าวของประเทศต่างๆในระยะ ๕ ปีที่ผ่านมาและราคาที่จะเกิดขึ้นจำแนกเป็นราคาข้าวประเภทต่างๆและจากประเทศต่างๆ จากนั้นสร้างองค์กรดูแลราคาข้าวเปลือกขึ้นมาโดยมีชาวนาที่ทำนาจริง ไม่ใช่เศรษฐีหรืออดีตข้าราชการที่ไปทำนาเพราะจะไม่ทราบปัญหาที่แท้จริง เป็นลักษณะจตุภาคี มีทั้งชาวนา ภาครัฐ พ่อค้าส่งออกและโรงสี การตัดสินใจไม่ใช้การออกเสียงแต่เป็นข้อมูลที่ภาครัฐต้องขวนขวายไปหามาจากทั้งในและต่างประเทศ มีเป้าหมายอยู่ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย มีอัตราพิเศษสำหรับตัวแทนชาวนาและภาคเอกชนไปประจำยังกลุ่มประเทศที่นิยมข้าวไทย

การคำนวณให้มีการแบกภาระร่วมกันทุกขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องโดยกำหนดสัดส่วนให้ชาวนาเป็นผู้แบกรับภาระน้อยที่สุด พ่อค้าส่งออกรองลงมาและโรงสีเป็นผู้แบกภาระในสัดส่วนสูงกว่า ทั้งนี้อยู่ที่การตกลงกัน  แตกต่างจากปัจจุบันที่ผู้ส่งออกกำหนดกำไรส่วนต่างไว้ตามที่ต้องการแล้วกำหนดราคากลางให้โรงสี แล้วโรงสีผลักภาระให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรรับภาระราคาแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ระบบราชการต้องมีข้อมูลของตนเองที่สมบูรณ์สามารถเป็นตัวกลางที่เฉลี่ยภาระให้กับทุกฝ่ายได้อย่างเป็นธรรม

ความสำเร็จของแนวทางนี้คือรัฐบาลและระบบราชการต้องตั้งตัวใหม่ว่าตนเองรับเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชนทุกหมู่เหล่า การสร้างความเป็นธรรมและการสร้างกำไรส่วนเกินให้กับประชาชนส่วนล่างสุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาไปเป็นระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแบบประณีตด้วยข่าวสารข้อมูลที่แม่นยำ โดยราคาข้าวเปลือกต้องสูงกว่า ๑๒,๐๐๐ บาทให้มากจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง หากทำได้ก็ไม่ต้องโฆษณาว่าจะทำอะไร (ประเทศไทย 4.0) ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเองโดยต่อเนื่องและตามธรรมชาติของการพัฒนาที่ถูกแนวทางเอง

สุดท้าย ขณะนี้มีเอกชนไทยเจ้าใหญ่ทยอยกันไปลงทุนปลูกข้าวหอมมะลิในเวียดนาม เนื่องจากไม่ติดเงื่อนไขปิดล้อมทางการค้าจากผลทางการเมืองเหมือนไทย ต่อไปข้าวทั้งพรีเมียมและระดับล่างอาจส่งออกจากเวียดนามและจบทุกอย่างของไทยไปก็ได้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ