คุยกับทูต ‘ลง วิซาโล’ รำลึกวันชาติกัมพูชา – พาไปรู้จักพิธีเฉลิมฉลองพฺจุมเบ็ญ

คุยกับทูต ลง วิซาโล กัมพูชารำลึกวันชาติ (จบ)

วันหยุดของกัมพูชามีความเกี่ยวพันกับพิธีกรรมทางศาสนาเถรวาทอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ชาวกัมพูชา 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

แม้กัมพูชาจะตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสถึง 90 ปี แต่สายศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่ขาดตอน

เมื่อเขมรแดงเข้าปกครองระหว่าง ค.ศ.1975-1979 พระพุทธศาสนาถูกล้มล้าง แต่พระภิกษุสงฆ์ก็ยังยืนหยัดยึดมั่นอยู่ในธรรมและฟื้นคืนเสาหลักให้สังคมอย่างรวดเร็วหลังการปลดปล่อย

“ก่อนที่วันชาติจะเวียนมาบรรจบครบรอบในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ชาวกัมพูชามีพิธีเฉลิมฉลองพฺจุมเบ็ญ (Pchum Ben) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดในปฏิทินศาสนาเขมรเมื่อ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา”

ชาวพุทธในกัมพูชาในช่วงเทศกาลพจุมเบ็ญ

นายลง วิซาโล (H.E.Mr. Long Visalo) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย เล่าถึง พฺจุมเบ็ญ (Pchum Ben) ประเพณีที่เน้นการอุทิศส่วนบุญให้แก่บุพการีผู้ล่วงลับ หรือเป็นวันระลึกถึงบรรพบุรุษ (Ancestors” Day)

“แม้ว่าไทยและกัมพูชาจะมีศาสนาเดียวกันและมีความคล้ายคลึงกันมากทางศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี แต่เทศกาลพฺจุมเบ็ญนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศกัมพูชา และมีการเฉลิมฉลองประจำปีอย่างสม่ำเสมอนับแต่โบราณกาล”

“ครอบครัวชาวกัมพูชาจะไปแสดงความเคารพญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วในช่วง 15 วันของเทศกาลพฺจุมเบ็ญ เริ่มในวันแรมเดือน 10 หรือเดือนภัทรบท (Phutrobut) ตามปฏิทินทางศาสนาเขมรซึ่งมักจะอยู่ในระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian calendar) โดย 14 วันแรกเรียกว่าเป็นวันกันเบ็ญ หรือถือบิณฑ์ (Kan Ban) ส่วนวันที่ 15 วันสุดท้าย คือการเฉลิมฉลองที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า วันพฺจุมบิณฑ์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม”

ปฏิทินเกรโกเรียน หมายถึงปฏิทินมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลกและเราใช้กันในชีวิตประจำวันนั่นเอง

จากการศึกษาวิเคราะห์เรื่องการอุทิศส่วนบุญในประเพณีสารทเขมร (พฺจุมเบ็ญ) โดย นายอินทร์ เอียต (Mr.In Earth) ตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“พิธีกันเบ็ญ” (ถือบิณฑ์) จะจัดติดต่อกันตลอดเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 14 ค่ำ พอถึงวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแรม 15 ค่ำ เรียกว่า “วันพฺจุมบิณฑ์” ชาวบ้านในท้องถิ่นทุกคนจะมาร่วมพิธีกรรมระลึกถึงบรรพบุรุษและจัดเลี้ยงอาหารจำนวนมาก

คำว่า “กัน” ในภาษาเขมรแปลว่า “ถือ” คำว่า “เบ็ญ” (บิณฑ์) ตามสำเนียงในภาษาเขมรแปลว่า “ก้อนข้าว” เมื่อรวมทั้ง 2 คำ เป็น “กันเบ็ญ” จึงหมายถึง “ถือก้อนข้าว”

คำว่า “พฺจุมเบ็ญ” มาจากคำว่า “พฺจุม” หมายความว่า ทำให้ชุม ให้ชุมนุมกัน ให้ประชุมกัน ส่วนคำว่า “เบ็ญ” เป็นสำเนียงตามภาษาเขมร หมายถึง “บิณฑะ หรือบิณฑ์” ในภาษาบาลี แปลว่า การทำให้กลม หรือเป็นก้อน ก้อน เมื่อรวมทั้ง 2 คำเข้าด้วยกันได้เป็น “พฺจุมเบ็ญ” มีความหมายอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

1) รวมก้อนข้าว หรือร่วมข้าวบิณฑ์ หมายความว่า ทายกทายิกานำก้อนข้าวมารวมกันเป็นจำนวนมากเพื่อถวายพระสงฆ์ และไม่ได้หมายถึงก้อนข้าวอย่างเดียว แต่หมายรวมของคาว ของหวาน ทุกอย่างที่จัดเตรียมมาเพื่อถวายแก่พระสงฆ์

และ

2) การรวมตัวกันของผู้คน หมายความว่า การรวมตัวกันของพุทธบริษัท ณ ที่ใดที่หนึ่งที่เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เพื่อทำนุบำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่

อีกนัยหนึ่ง การรวมตัวกันแห่งหมู่ญาติ ก็ชื่อว่า พฺจุมเบ็ญ เช่นเดียวกับการรวมกันแห่งก้อนข้าว (ภัตตาหารที่ทายกทายิกานำมาเพื่อถวายพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก) วันแรม 15 ค่ำ เดือนภัทรบท (Phutrobut) เรียกว่า “พฺจุมเบ็ญ” หรือ “ถฺไงพฺจุมเบ็ญ”

บางก็เรียกเต็มคำว่า “บุญพฺจุมเบ็ญ” ก็มี

“เป็นประเพณีที่ไม่เหมือนใครของชาวกัมพูชา โดยมีความเชื่อกันว่า คนที่เคยทำบาปในระหว่างที่ยังมีชีวิต เมื่อตายแล้วจะถูกขังและถูกทรมานในนรก อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 15 วันที่ดวงจันทร์มืดที่สุด ผู้พิทักษ์ประตูนรกจะอนุญาตให้วิญญาณออกไปรอที่วัด เพื่อรับอาหารจากญาติพี่น้องของตนก่อนจะกลับไปสู่นรกอีก ด้วยเหตุนี้ในช่วง 15 วันของเทศกาลพฺจุมบิณฑ์ ชาวกัมพูชาจะถวายอาหารแก่พระภิกษุที่วัดหลายแห่ง โดยความหวังว่าการบูชาของพวกเขาจะได้รับผลบุญ ซึ่งจะช่วยลดบาปของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว” ท่านทูตชี้แจง

ชาวกัมพูชาเชื่อว่า ถ้าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษได้รับส่วนบุญส่วนกุศลไม่เพียงพอ พวกเขาเหล่านั้นจะต้องกลายไปเป็นเปรต หรือหากไม่ทำบุญให้กับบรรพบุรุษในช่วงพฺจุมบิณฑ์ ก็จะเกิดโชคร้าย และจะโดนวิญญาณหลอกหลอนไปตลอดทั้งปี

ดังนั้น ในแต่ละปีดวงวิญญาณเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยให้ออกไปเป็นระยะเวลา 15 วัน เพื่อไปหาญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่

นับว่าพฺจุมบิณฑ์เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีชีวิตชีวาและมีความหมายอย่างมากต่อสังคมครอบครัวในประเทศนี้

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลนี้ชาวกัมพูชาจำนวนมากจึงพากันเดินทางกลับบ้านเกิดของตนเองไปร่วมงานทำบุญใหญ่ โดยตื่นกันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อประกอบอาหาร ขนมหวาน จัดแต่งผลไม้อย่างสวยงามนำไปถวายแก่พระสงฆ์ตามวัดใกล้บ้าน

ทุกคนแต่งตัวงดงามด้วยชุดประจำชาติที่ทำจากผ้าไหมไปฟังธรรมและสวดมนต์ในตอนกลางคืน

เมื่อถึงวันสุดท้ายของเทศกาลพฺจุมบิณฑ์ ชาวบ้านจะทำข้าวปั้นห่อด้วยใบตองที่มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดของไทยวางไว้รอบวัด เป็นการทำบุญให้กับวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่มีญาติ ถือเป็นอาหารพิเศษที่จะหากินได้ในเทศกาลพฺจุมบิณฑ์เท่านั้น

ในงานมีการละเล่นพื้นบ้าน อาทิ การแข่งขันวิ่งวัว-ควาย การแข่งขันมวยปล้ำพื้นบ้าน และอื่นๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มารวมตัวกัน ได้ทั้งบุญและความสนุกสนานรื่นเริง

“ญาติโยมจะนำอาหารไปถวายพระสงฆ์เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลพฺจุมบิณฑ์ใน 15 วันนี้ อันเป็นช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาที่วัด 3 เดือน (months of Vassa) อันเป็นระยะที่มีฝนตกมากที่สุด”

ในสมัยก่อน การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในฤดูฝนมีความยากลำบาก และเป็นช่วงฤดูทำไร่นาของชาวบ้าน พระพุทธเจ้าจึงวางระเบียบให้พระสงฆ์หยุดการเดินทางเพื่อประจำอยู่ ณ สถานที่ใดที่หนึ่งในช่วงฤดูฝน

วันเข้าพรรษาจึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งพระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่าจำพรรษา

พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม

การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

การเข้าร่วมเทศกาลพฺจุมบิณฑ์ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับวัฒนธรรมของกัมพูชา เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการพบปะและเฉลิมฉลองร่วมกัน เพื่อแสดงความรักและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ การถวายอาหารและอุทิศส่วนกุศลจะสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของบรรพบุรุษ และนำทางสู่การกลับไปเกิดใหม่อีกครั้ง

“ชาวกัมพูชาในประเทศไทยก็ได้สืบทอดประเพณี เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลพฺจุมบิณฑ์ในปีนี้ถึงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน ณ วัดสิรินธรเทพรัตนาราม จังหวัดนครปฐม และครั้งที่สอง ณ วัดศรีสุดารามวรวิหาร ริมคลองบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากนายอิทธิ์ ซัมเฮง (H.E. Mr.Ith Samheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมด้วย พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย”

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นไปด้วยดีในทุกระดับ ระดับราชวงศ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรกัมพูชาหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งชาวกัมพูชาจะรอเฝ้าฯ รับเสด็จด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาและการสาธารณสุขแก่ชาวกัมพูชา ส่วนในระดับผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายต่างก็ไปมาหาสู่ พูดคุยกันได้ เรียกว่าในระดับรัฐบาลทุกรัฐบาล มีความสนิทสนมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ มีโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่กัมพูชาหลายด้าน รวมทั้งทุนการศึกษา และนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก โดยการดำเนินงานผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาในกัมพูชาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุกโครงการด้วย

นับเป็นการให้ของขวัญที่ยั่งยืนแก่ชาวกัมพูชา แสดงถึงความเป็นมิตรที่ดีต่อกันของประชาชนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา