E-DUANG : ​​เลือกตั้ง – ฝนตกบ้านน้อง ฟ้าร้องบ้านพี่

ความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่งจากบรรยากาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็คือ

ไม่ว่าจะชื่นชอบ ฮิลลารี คลินตัน ไม่ว่าจะชื่นชอบ โดนัลด์ ทรัมพ์

ก็ต้อง “ยอมรับ”

เห็นได้จากการที่ ฮิลลารี คลินตัน ยกหูโทรศัพท์พูดกับ โดนัลด์ ทรัมพ์ แสดงความยินดี

นั่นหมายความว่า ยอมรับกับ”ความพ่ายแพ้”

การแสดงออกเช่นนี้ของ ฮิลลารี คลินตัน เป็นเรื่องธรรมดายิ่งในสังคมอเมริกัน

แต่น่าตื่นเต้นสำหรับ “ไทย”

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าคนที่ชมชอบ ฮิลลารี คลินตัน ไม่ว่าคนที่ชมชอบ โดนัลด์ ทรัมพ์ สรุปตรงกันในการยอมรับต่อสถานะใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมพ์

นั่นก็คือ เขามาจาก”การเลือก”ของ “ประชาชน” คะแนนของประชาชนเทให้กับเขา

นี่ยิ่งน่าตื่นเต้นสำหรับ”เมืองไทย”

 

ต้องยอมรับในฐานที่มาของนักการเมืองอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ อย่าง ร็อดริก ดูแตร์เต

ไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ชอบ

แต่สภาพความเป็นจริงอันเป็นที่ประจักษ์ก็คือ พวกเขาล้วนมาด้วยกระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

เป็น”ประชาชน”เทคะแนนเสียงให้

ตามกฎกติกามารยาทจึงสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตามที่กำหนดเอาไว้

ไม่ว่าจะเป็น 4 ปี ไม่ว่าจะเป็น 5 ปี

หากไม่ชอบ หากไม่เห็นด้วย ก็สามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่ถูกเรียกเข้าค่าย”ปรับทัศนคติ”

พอครบ 4 ปีก็”เลือก”กันใหม่

 

คล้ายกับว่ากระบวนการของ”การเลือกตั้ง”ที่สหรัฐก็เป็นของสหรัฐไม่ใช่ของไทย

สามารถพูดเช่นนั้นได้

แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า “แรงสะเทือน”อันมาจากสหรัฐนั้นทรงความหมายเป็นอย่างสูง

เหมือนกับจะทรงความหมายเฉพาะผู้มีความรู้

ไม่ใช่หรอก ทุกกระบวนการอันปรากฏที่สหรัฐล้วนปรากฎในสังคมประเทศไทยด้วย

ที่ปายก็เห็น ที่เบตงก็เห็น

ชาวบ้านล้วนซึมซับ บทบาทและความหมายของการเลือกตั้งว่าสำคัญ

สำคัญต่อ “ชาวบ้าน” สำคัญต่อ”บ้านเมือง”

เพราะ”การเลือกตั้ง”นี้เองทำให้ “ชาวบ้าน”สามารถเลือก”ผู้บริหาร”ได้

“ประชาธิปไตย”กับ”การเลือกตั้ง”จึงไม่อาจจะแยกออกจากกัน