บทวิเคราะห์ : “เบร็ตต์ คาวานอห์” กับความหวาดกลัวของ “ฝ่ายเสรีนิยม”

เบร็ตต์ คาวานอห์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ วัย 53 ปี ผู้คร่ำหวอดใกล้ชิดวงการการเมืองสหรัฐมาอย่างยาวนาน ได้รับการเสนอชื่อโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ให้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐ ซึ่งได้รับการลงมติจากวุฒิสภา และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา

การเสนอชื่อผู้พิพากษา ดีกรีกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเยล ผ่านงานรองอธิบดีกรมอัยการในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช รวมไปถึงนิติกรประจำตัวแอนโธนี เคนเนดี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐอเมริกาที่คาวานอห์เข้ารับตำแหน่งแทนหลังเคนเนดี้เกษียณอายุการทำงานลง ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างราบรื่น

ทว่าหลังจากมีผู้หญิงหลายรายออกมาเปิดเผยว่าเคยถูก “คาวานอห์” ล่วงละเมิดทางเพศจนนำไปสู่การไต่สวนในชั้น “กรรมาธิการฝ่ายตุลาการวุฒิสภา”

การเสนอชื่อครั้งนี้กลับกลายเป็นเหตุการณ์สะท้อนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการเมืองของสังคมอเมริกันที่แบ่งฝ่ายเป็น “อนุรักษนิยม” และ “เสรีนิยม” ที่มีตัวแทนเป็นพรรคการเมืองอย่าง “รีพับลิกัน” และ “เดโมแครต” อย่างชัดเจน

ข้อกล่าวหาดังกล่าวเปิดช่องให้เกิดเสียงคัดค้านการเสนอชื่อคาวานอห์จากฝ่ายเสรีนิยมโดยเฉพาะฝังการเมืองอย่างเดโมแครต หนึ่งคือเหตุผลจากความชอบธรรมทางจริยธรรม

และอีกส่วนมาจากความหวาดกลัวว่า “ศาลฎีกา” องค์กรตุลาการสูงสุดของสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาคดีในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสังคมไปในลักษณะ “เอียงขวา” มาทางฝั่งอนุรักษนิยมมากขึ้น

 

ศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วยตุลาการทั้งสิ้น 9 คน และ “คาวานอห์” ผู้ที่มีแนวคิดมุมมอง “เอียงขวา” จะเข้าไปแทนที่ “เคนเนดี้” ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้พิพากษาอนุรักษนิยมที่เป็น “สะวิงโหวต” ในประเด็นด้านสังคมบางเรื่อง แน่นอนว่าในประเด็นที่ผู้พิพากษาเคนเนดี้ตัดสินไปในแนวทางอนุรักษนิยมก่อนหน้านี้ด้วยสัดส่วน 5 ต่อ 4 อย่างประเด็นการทุจริตและการสนับสนุนทางการเงินการหาเสียง การตั้งกฎระเบียบการทำธุรกิจ สิทธิการครอบครองปืน รวมถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่ฟากฝั่งการเมืองฝ่ายเสรีนิยมหวาดกลัวนั่นก็คือหลายกรณีที่ “เคนเนดี้” เคยตัดสินเป็นฉันทามติในฝั่ง “กลางซ้าย” ด้วยสัดส่วน 5 ต่อ 4 มาก่อนหน้านี้ และด้วยหลักปฏิบัติของศาลที่เรียกว่า “stare decisis” หรือการใช้คำวินิจฉัยของศาลลำดับสูงกว่าหรือเท่ากันเป็นแนวบรรทัดฐานคำตัดสิน “เว้นแต่จะมีเหตุผลบังคับไม่ให้ทำเช่นนั้น” อาจทำให้คำวินิจฉัยก่อนหน้านี้มีความเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น การกลับคำตัดสินเปิดทางให้มลรัฐ หรือแม้แต่รัฐบาลกลาง สามารถสั่งห้ามการทำแท้งในหลายๆ กรณีหรือทุกๆ กรณีได้ การปฏิเสธคำร้องโต้แย้งการ “ประหารชีวิต” และ “การขังเดี่ยว” ตัดสินเข้าข้างคำร้องโต้แย้งของกลุ่มศาสนาที่มีต่อ “กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ” หรือในกรณีสุดโต่ง คืออาจกลับคำตัดสินกรณี “สิทธิคนรักร่วมเพศ” ของศาลฎีกาที่เคยตัดสินมาก่อนหน้านี้ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ฝ่ายเสรีนิยมยังมองด้วยว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของคาวานอห์ อาจเกิดผลกระทบตามมาหลังจากนั้น หากพิจารณาจากงานเขียนของ “คาวานอห์” ก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นข้อเสนอที่อาจทำให้ “โอบามาแคร์” กฎหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลงานของรัฐบาลภายใต้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครตสามารถถูกพับลงได้

โดยคาวานอห์เสนอว่า หากประธานาธิบดีมองว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะผ่านการตัดสินของศาลฎีกาแล้วก็ตาม ประธานาธิบดีมีสิทธิไม่สั่งบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้

 

อีกงานเขียนของคาวานอห์ที่สร้างความกังวลให้กับฝ่ายเสรีนิยมก็คือ ความเห็นเกี่ยวกับการตั้ง “ที่ปรึกษาพิเศษ” ซึ่งเวลานี้ โรเบิร์ต มุลเลอร์ กำลังทำหน้าที่ดังกล่าวในการสอบสวนกรณีความเกี่ยวข้องของทีมหาเสียงของทรัมป์กับรัฐบาลรัสเซีย กับการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2016 ว่า “ที่ปรึกษาพิเศษ” นั้นควรแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และลงมติเห็นชอบโดยสภาคองเกรส ไม่ใช่โดยคณะผู้พิพากษา

นอกจากนี้ยังมีข้อเขียนของคาวานอห์เกี่ยวกับอำนาจบริหาร ที่เสนอเอาไว้ว่า ประธานาธิบดีจะถูกฟ้องร้องตั้งข้อหาได้ก็ต่อเมื่อออกจากตำแหน่งโดยสมัครใจ หรือถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ออกจากตำแหน่ง ถูกตัดสินว่ามีความผิดและลงมติถอดถอนโดยวุฒิสภา และจากข้อเขียนในปี 2009 ยังระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีควรได้รับการยกเว้นจากการดำเนินคดีอาญาและการฟ้องร้องทางแพ่งขณะที่ดำรงตำแหน่งด้วย

และแน่นอนว่า หากกรณีร้อนแรงของทรัมป์ ที่กำลังสืบสวนโดยคณะทำงานของมุลเลอร์ในเวลานี้ถูกพิจารณาโดยศาลฎีกา ที่มีคาวานอห์เป็นหนึ่งในผู้พิพากษาแล้ว ไม่มีอะไรการันตีว่าคาวานอห์จะมีความเห็นแตกต่างไปจากเดิม

คงต้องจับตาปรากฏการณ์ดังกล่าวกันต่อไปว่า การเมืองสหรัฐที่แตกแยกจนเกี่ยวพันไปถึงองค์กรตุลาการที่ควรเป็นอิสระจากการเมืองมากที่สุด จะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของสถาบัน “ศาลฎีกา” ในสหรัฐอเมริกามากน้อยเพียงใด