จรัญ พงษ์จีน : ศึกชิงผู้นำ กำหนดอนาคตประชาธิปัตย์

จรัญ พงษ์จีน

“ศึกชิงหัวหนhาพรรคประชาธิปัตย์” สงคราม “สามเส้า” ชิงดำกัoระหว่างเบอร์ 1 “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เบอร์ 2 “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก และหมายเลข 3 “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีต ส.ส.เพชรบุรี ที่สัญจรไพรออกจากพรรคชั่วขณะ ไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะรู้หมู่หรือจ่า หวยจะออกที่ใคร จะก้าวมานำธงพรรคสีฟ้าต่อไปในวันที่ 5 พฤศจิกายน อีกไม่กี่อึดใจ

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาแล้วมีทั้ง “ผลเสีย” และ “ผลดี” อยู่ในตัวตน “ข้อเสีย” ก็มี ดูประหนึ่งว่าประชาธิปัตย์ “ขาดเอกภาพ” อย่างแรง คลื่นลมภายในกระเพื่อมแตกกันเป็นริ้วปลาช่อน ตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ ย่อมมีผลกระทบเป็นจิ๊กซอว์ไปศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แล้วจะเอาอะไรไปสู้รบปรบมือกับคู่แข่ง มีโอกาส “แพ้” ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

“ข้อดี” ก็เยอะ อย่างน้อยๆ “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองในตำนาน เป็นสถาบันทางการเมือง เก๋าเกมมา 8 ทศวรรษ การเปิดให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในคาบนี้ เป็นกระบวนการหยั่งเสียงในเบื้องต้น เป็นการยกระดับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของพรรคการเมืองใหญ่อย่างมีมาตรฐาน

ต้องยอมรับว่า หมากกระดานนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค เวิร์กที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา แตกต่างกับเมื่อก่อนมาก อย่างน้อยก็กล้าที่ทลายโครงสร้าง ก้าวข้ามพลังจารีตประเพณีเดิมๆ

คือ “โครงสร้างพรรคประชาธิปัตย์” ถูกวางกรอบเป็น “กฎเหล็ก” ตัวกำหนดหนัก ซึ่งถูกมองว่า อยู่ถ้ำดึกดำบรรพ์ เก่าบุโรทั่ง เป็นไฟต์บังคับให้การเลือกตั้ง “หัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรค” มาจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญ เป็นผู้ชี้ขาด

กำหนดขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มาจากคณะกรรมการบริหารพรรค+อดีตรัฐมนตรี ด้วยสัดส่วนร้อยละ 9 “ประธานสาขาพรรค” ทั่วประเทศ 175 สาขา + อดีต ส.ส. 2 ระบบ จากเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ตามสัดส่วนฝั่งละ 40 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยตัวแทนสมาชิกจากทุกภาค 20 คน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 และสมาชิกพรรคที่เป็นผู้นำองค์กรท้องถิ่น เช่น นายก อบจ.-เทศมนตรี-ส.ก.-ส.ข. อีกร้อยละ 10

หากใช้สูตรเลือกตั้งตามโครงสร้างพรรคด้วยวิธีดั้งเดิม ตามสัดส่วนเก่า เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะกุมความได้เปรียบไว้ทุกประตู โอกาสชนะโดยนอนน้ำใส แบบไม่ต้องออกแรงสูงมาก

 

แต่ “หนุ่มมาร์ค” โชว์สปิริต ภายใต้แนวคิด “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก” ด้วยเห็นว่า การเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกิด “สุญญากาศ” ไม่มีการดำเนินกิจการใดๆ

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในโลกสังคมและในประเทศเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว จึงมองว่ามีความจำเป็นที่จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรค จึงปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ให้สมาชิกพรรคและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แทนที่จะเป็นกรรมการบริหาร และประธานสาขาพรรค

“พรรคประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองเก่าที่สุดของไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2498 เป็นพรรคที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ มีสมาชิกจำนวน 2.8 ล้านคน ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย

กระนั้นก็ตาม แม้จะเป็นต้นตำรับทางการเมือง แต่พรรคประชาธิปัตย์กับการเลือกตั้งก็ลุ่มๆ ดอนๆ “แพ้” มากกว่า “ชนะ” ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคลงทำศึกมาทั้งหมด ด้วยสถิติที่ไม่สวยหรูนัก ชนะเลือกตั้งมาแค่ 6 ครั้ง พ่ายแพ้ 13 ครั้ง บอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 3 ครั้ง

ขณะที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สถิติยิ่งย่ำแย่เข้าไปใหญ่ ตั้งแต่เป็นแกนนำกลุ่มผลัดใบ ยึดหัวหาดชนะเลือกตั้งขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2548 ถึงปัจจุบัน จำนวน 13 ปีบริบูรณ์แล้ว ยังไม่เคยนำธงชนะศึกเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียว

“พ่ายชนิดป่าราบมาตลอดให้กับพรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย อีก 2 ครั้งกลับบอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง”

ด้วยสถิติที่ไม่จ๊าบสักเท่าใดนักในการเป็นผู้นำพรรค แต่ “อภิสิทธิ์” ใจสปอร์ตมาก แทนที่จะเลือกช่องทางในการดำรงอยู่ของการสืบทอดหัวหน้าพรรคด้วยรูปแบบเก่า คือให้กรรมการบริหารพรรคและประธานสาขาพรรคลงมติ ซึ่งตัวเองได้เปรียบ

กลับเลือกใช้บริการช่องทางที่ 2 คือ “สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกทั่วประเทศ” ซึ่งถือว่ามีอัตราเสี่ยงมากกว่าหลายเท่า

จริงอยู่ ดูตามรูปเกมศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน “อภิสิทธิ์” ได้ถือแต้มต่อเหนือคู่แข่ง ทั้ง “หมอวรงค์” และ “เดอะจ้อน” อยู่มากพอสมควร

เพราะมีแบ๊กอาชีพ ทั้ง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ยังถือหางอยู่ เสียงสนับสนุนที่เป็นขุมกำลังใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังเป็นฐานที่มั่นให้อยู่

แต่เชื่อว่าจะไม่ทรงพลังเหมือนเก่า อย่างน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งถูกตัดตอนไปมากพอสมควร จากกลุ่ม กปปส.ของ “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ไม่เช่นนั้นแล้ว เชื่อว่าระดับ “ถาวร เสนเนียม” คงไม่เปิดหน้าชน อุ้ม “หมอวรงค์” อย่างเต็มสูบแน่นอน

ฐานปักษ์ใต้ต้องแตกเป็น 2 ส่วน แบ่งเค้กกันระหว่าง “มาร์ค-หมอวรงค์” ขณะที่ภาคเหนือ-กลาง เชื่อว่า “อลงกรณ์ พลบุตร” ถึงจะเป็นมวยรอง แต่ขานี้มีลูก “อึด” เสียงก็ดีวันดีคืน โอกาสที่จะพลิกมาเป็น “ตาอยู่” ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้าม

อย่างไรก็ตาม การสู้รบปรบมือกันเองชิงหัวหน้าพรรคของประชาธิปัตย์ เมื่อเสร็จศึกแล้ว คิดว่าพรรคคงไม่แตกดังโพละเหมือนช่วงเกิด “พรรคประชาชน” ขอให้จบแล้วจบเลย ร่วมสร้างบ้านหลังใหญ่กันต่อไป

เหมือนเมื่อครั้งศึก “ทศวรรษใหม่” กับ “ผลัดใบ” ระหว่าง “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เมื่อทุกอย่างปิดจ๊อบ ความสามัคคีคืนคงดั่งเดิม