ว่าด้วย ‘หมา’ กับ ‘คนจน’ ในทัศนะของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปฏิวัติทางวัฒนธรรมของสมัชชาคนจน (หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่1416 เมื่อ 5ตุลาคม 2550)

บักย่างคือหมาตัวหนึ่งที่สมัชชาคนจนเลี้ยงไว้ มันเข้ามาสมทบกับขบวนของสมัชชา เมื่อพวกเขาพากันเดินเท้าทางไกลทั่วอีสานเพื่อบอกเล่าแลกเปลี่ยนกับพี่น้องทั้งภาค ถึงความเดือดร้อนที่โครงการของรัฐกระทำต่อชาวบ้าน

หมาข้างถนนที่เข้ามาหาอาหารในที่พัก แต่เมื่อสมัชชาเริ่มออกเดินต่อ มันกลับทิ้งพรรคพวกถิ่นที่อยู่ เดินตามขบวนไปด้วย สมัชชาจึงเลี้ยงดูมันไว้ แล้วตั้งชื่อว่า “บักย่าง” แปลว่าไอ้เดินในภาษากลาง

บักย่างตัวแรกตายลงในเวลาต่อมา ก่อนที่สมัชชาจะเดินได้ครบ 16 จังหวัด แต่ก็มีบักย่างอีกตัวหนึ่งโผล่เข้ามาสมทบแทนที่

ผมได้พบบักย่างตัวแรก เป็นหมาหนุ่มขี้เล่นและเป็นมิตรกับทุกคน ผิดกับหมาข้างถนนทั่วไป ซึ่งมักระวังภัยจากคนเป็นพิเศษ อาจเป็นประสบการณ์ของมันกับสมัชชาคนจน ซึ่งบอกให้มันรู้ว่าคนไม่มีพิษภัยสำหรับมัน และเหมือนหมาทั่วไป แม้ออกเดินร่วมไปกับนาย ก็ยังอดแวะเวียนชมนกชมไม้ไปตามใจของหมาไม่ได้ แต่ในที่สุดมันก็จะวิ่งตามขบวนไปไม่คลาด

ชาวบ้านในขบวนบางคนก็ให้ความเอ็นดูมันเป็นพิเศษ บางคนก็เฉยๆ สะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมา ซึ่งพบได้ทั่วไปในหมู่ชาวบ้านไทย ผมคิดว่าพอสรุปเป็นหลักการได้ว่า live and let live คือต่างฝ่ายต่างให้อิสระแก่กัน ไม่มีใครอยากฝึกหมาให้กลายเป็นคนเพื่ออวดคนอื่น แม้แต่ที่เอ็นดูหมาเป็นพิเศษ ก็เอ็นดูอย่างที่ยอมรับว่ามันเป็นหมา ไม่ใช่คนหรือเทวดา

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมาในเมืองไทย โดยเฉพาะบนจอทีวีเปลี่ยนไปมาก เพราะหมากลายเป็นสัตว์เลี้ยงไว้ประดับอกอิ่มๆ ของดาราสาว และด้วยเหตุดังนั้น หมาจึงอดเป็นหมา แต่ต้องเป็นอะไรอื่นที่ฉลาดเกินหมา, น่ารักเกินหมา, จงรักภักดีต่อนายเกินหมา, ซื่อสัตย์เกินหมา, กล้าหาญเกินหมา, ฯลฯ … พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ถูกยัดเยียดคุณสมบัติดีๆ ซึ่งไม่ค่อยมีในคนลงไปจนเต็มตัว

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวสมัชชาคนจนกับบักย่าง ทำให้ผมอดคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหมากับคนไทยที่เคยชินในสมัยเป็นเด็กไม่ได้ เพราะหมากับคนในเมืองไทยก็อยู่กันมาแบบ live and let live เช่นนี้มาเป็นศตวรรษ จนวันหนึ่ง วัฒนธรรมความสัมพันธ์กับหมา ก็กลายเป็นวัฒนธรรมของคนจนเท่านั้น

และเพราะเป็นวัฒนธรรมของคนจน จึงต่ำต้อย, บกพร่อง, หยาบกระด้าง, ไร้การศึกษา, และไม่เท่าเทียม ดังที่ อาจารย์ประเวศ วะสี เคยพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่แต่คนไทยเท่านั้นที่รังเกียจคนจน แม้แต่หมาไทยยังเห่าคนจนเลย

ตราบเท่าที่คนจนเองก็ยอมรับการประเมินวัฒนธรรมของตนดังกล่าว การเรียกร้องความยุติธรรมของคนจนย่อมขาดความชอบธรรม ทั้งแก่สังคมโดยรวม และแม้แต่แก่คนจนด้วยกันเอง

ดังนั้น ในการต่อสู้ของสมัชชาคนจน นอกจากเรื่องเขื่อน, เรื่องเหมือง, เรื่องป่า, เรื่องที่ดิน ฯลฯ แล้ว ยังมีมิติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ในการเคลื่อนไหว นั่นคือ มิติทางวัฒนธรรม อันเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของคนจนขึ้นมาใหม่เอง

อัตลักษณ์ของคนจนในสังคมไทยนั้น ก็เหมือนอัตลักษณ์ของคนชายขอบอื่นๆ นั่นคือ ถูกคนอื่นสร้างแล้วยัดเยียดให้ เพื่อกีดกันให้ออกไปจากสิทธิที่เท่าเทียม และการเข้าถึงทรัพยากร (ซึ่งต้องรวมถึงการศึกษา, ประเพณี, ค่านิยม ฯลฯ หรือส่วนที่เป็นนามธรรมด้วย) และไม่ต่างจากการต่อสู้ของคนชายขอบอื่นๆ คือต้องสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นตอบโต้ เพื่อช่วงชิงความเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคมกลับคืนมา

และมิติทางวัฒนธรรมในแง่นี้ของสมัชชาคนจน ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดองค์กร, กระบวนการตัดสินใจ, องค์ประกอบ, กระบวนการนำ ฯลฯ ดังที่มีผู้ศึกษาและกล่าวถึงไว้มากแล้ว