แพทย์ พิจิตร : ปฏิกิริยาจาก “อาจารย์นิธิ” ต่อการสอนความคิดทางการเมืองไทยของ “ชัยอนันต์-สมบัติ”

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นผู้บุกเบิกการสอนวิชาความคิดทางการเมืองไทย

นอกจากจะเปิดวิชานี้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงราวๆ ทศวรรษ 2520 นี้แล้ว ท่านทั้งสองซึ่งเป็นสิงห์ดำห่างกันสองรุ่นก็ได้สร้างตำราสำหรับวิชานี้ขึ้นมาด้วย

นั่นคือตำราชื่อ “ความคิดทางการเมืองไทย”

ซึ่งในตอนที่แล้วได้แจกแจงให้เห็นว่า ตำราความคิดทางการเมืองไทยของท่านทั้งสองนี้มีเนื้อหาอะไรบ้าง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ บทสุดท้ายในหนังสือเล่มจั่วหัวว่า “ปฏิกิริยาต่อหนังสือความคิดทางการเมืองไทย โดย ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์”

ซึ่งก็แปลว่า หลังจากเขียนตำราเล่มนี้เสร็จ ก่อนที่จะตีพิมพ์ ท่านอาจารย์ทั้งสองอยากให้อาจารย์นิธิได้อ่านและแสดงความเห็นกลับมา

ตอนที่ผมเป็นนิสิตและลงเรียนวิชานี้ และซื้อตำราเล่มนี้มาอ่าน ต้องขอสารภาพเลยว่า ไม่ได้สนใจอ่านบทสุดท้ายนี้

และขอสารภาพว่าตอนนั้นไม่รู้จักว่าอาจารย์นิธิเป็นใคร มีความสำคัญยังไง?

แต่มาตอนนี้ ที่มาเขียนถึงท่านอาจารย์ชัยอนันต์และหยิบหนังสือเล่มนี้มาดูหลังจากที่ไม่ได้ดูมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ก็เกิดความสนใจอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์จะเขียนตอบนักรัฐศาสตร์อย่างไร?

มาลองฟังกันดูนะครับ

 

ท่านอาจารย์นิธิได้จั่วหัวความเห็นของท่านว่า “ปฏิกิริยา” และมีความดังนี้ :

“นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่บทความเหล่านี้ (“อัคคัญสูตร” “ประเพณีธรรม ธรรมราชา และทศพิธราชธรรม” “พระญาจักรพรรดิราชในไตรภูมิพระร่วง” “มหาชาติคำหลวง : ความหมายทางการเมือง” “ราชนีติ : บทวิเคราะห์” “พระพิไชยเสนา (ตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ)” “คำสอนทางการเมืองของวันวลิต” “ศรีธนญไชย : ความคิดเรื่องอำนาจ ปัญญา และความหมายทางการเมือง” “ธรรมชาติและประเพณี : พื้นฐานความคิดทางสังคมของศรีปราชญ์” “โลกทัศน์ทางการเมืองของสุนทรภู่” “เทียนวรรณ” “แนวความคิดทางสังคมและการเมืองของ ก.ศ.ร. กุหลาบ” / ผู้เขียน) ถูกรวบรวมเป็นเล่มใน ความคิดทางการเมืองไทย

หัวเรื่องที่น่าสนใจนี้มีผู้กล่าวถึงเสมอในตำราการปกครองไทยซึ่งเขียนกันอยู่มาก แต่ผู้เขียนตำราเหล่านั้นมิได้ให้ความสนใจประเด็นนี้อย่างจริงจัง และมักจะพอใจเพียงบรรยายความคิดทางการเมืองของไทยแต่ในลักษณะแบบแผนที่กว้างขวาง

ไม่พยายามเข้าไปสู่การวิเคราะห์ที่ละเอียดขึ้น จนทำให้ดูเหมือนว่าแนวคิดเรื่องเช่น มหาจักรพรรดิ ธรรมราชาการปกครองแบบพ่อ-ลูก เทวราชา จักรวรรดิวัตร ฯลฯ แจ่มชัดจนไม่เป็นที่น่าสงสัยอันใด

แท้ที่จริงแล้วความเข้าใจแนวคิดเหล่านี้อย่างแท้จริงยังไม่ได้เกิดขึ้น และยังต้องอาศัยการศึกษาอีกมาก (นอกจากที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้) เพื่อจะได้ความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของแนวคิดเหล่านี้ดีขึ้น

การที่นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงทั้งสองได้เสนอผลงานเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญยิ่งแต่ไม่สู้กระจ่างชัดเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีแก่นักศึกษาทั่วไป

นักเรียนประวัติศาสตร์ยังมีเหตุอันน่าพึงใจไปกว่าที่กล่าวแล้วอีก ตรงที่ว่านักรัฐศาสตร์ทั้งคู่โดยเฉพาะสมบัติ จันทรวงศ์ ให้ความสำคัญแก่หลักฐานที่ใช้ศึกษาพอที่จะวิเคราะห์อย่างละเอียด และไม่พอใจเพียงแต่ “ขึ้นป้าย” ความคิดทางการเมืองไทยอย่างง่ายๆ และกว้างๆ จนทำให้ห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างที่นิยมทำกันอยู่ไม่น้อยในหมู่นักรัฐศาสตร์ไทยอื่นๆ

ความใส่ใจในสิ่งเฉพาะเป็นรากฐานของนักเรียนประวัติศาสตร์ และพวกเราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญแก่การศึกษาของนักสังคมศาสตร์เช่นกัน เหตุฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นบทอ่าน (text / ผู้เขียน) ที่ขาดไม่ได้ของนักเรียนประวัติศาสตร์เท่ากับนักเรียนรัฐศาสตร์ไปอีกนานพอดู”

 

จากข้างต้น ทำให้ผมเข้าใจว่า ตัวบทที่อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติท่านรวบรวมมาเป็นตัวบทที่เอาไว้ให้ผู้ที่ต้องการศึกษาความคิดทางการเมืองไทยได้อ่านนั้น ในสายตาของนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิไม่ได้ถือว่าเป็นตัวบทที่แปลกประหลาดหายากพิสดารแต่อย่างใด

ต่างจากนิสิตภาคปกครองชั้นปีที่สามอย่างผมที่เมื่อเห็นชื่อตัวบทต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ก็งงเป็นไก่ตาแตก จะรู้จักอยู่ก็แต่ “ศรีธนญไชย สุนทรภู่และศรีปราชญ์” เท่านั้น

แต่ข้อดีของหนังสือก็คือ รวบรวมมาไว้ในเล่มเดียวกัน และเริ่มที่จะมีการวิเคราะห์อย่างจริงๆ จังๆ มากกว่าที่จะกล่าวอย่างหลวมๆ ว่าเป็นความคิดทางการเมืองไทย

แต่ที่น่าสนใจคือ อาจารย์นิธิตั้งข้อสงวนว่า นักประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญกับ “ความเฉพาะ” ของแต่ละเรื่องแต่ละตัวบทและแต่ละเงื่อนไขทางบริบท

การกล่าวไว้เช่นนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะนักรัฐศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์อื่นๆ มักจะวิเคราะห์และพยายามจะหาหรือสร้างสิ่งที่เป็น “กฎทั่วไป” ขึ้น การพยายามจะสร้างกฎทั่วไปขึ้นนั้นอาจจะเป็นการบิดเบือนรายละเอียดของประวัติศาสตร์เรื่องต่างๆ ไปได้

ซึ่งข้อเตือนของอาจารย์นิธิดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงระหว่างแนวการศึกษาของนักประวัติศาสตร์กับแนวการศึกษาของนักรัฐศาสตร์

ผมจำได้ว่า ในขณะที่ศึกษาเรื่องการกำเนิดทรราชในรัฐกรีกโบราณ ก็พบประเด็นดังกล่าวนี้เช่นกัน

นั่นคือ จากการสำรวจการเกิดทรราชในรัฐกรีกโบราณต่างๆ จะพบปัจจัยต่างๆ ที่นักวิชาการแต่ละกลุ่มเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการการเกิดปรากฏการณ์ทรราชในยุคกรีกโบราณ

แต่ถ้าถามว่า อะไรคือปัจจัยหลักหรือปัจจัยร่วมที่เป็นกฎทั่วไปของการเกิดการปกครองของทรราชกรีกในช่วงเวลาดังกล่าว

จะพบว่า มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการพยายามสร้างกฎทั่วไป (generalization) หรือสร้างตัวแบบที่อธิบายการเกิดทรราชในรัฐต่างๆ ในยุคกรีกโบราณ โดยให้เหตุผลว่า การเกิดทรราชในแต่ละรัฐในช่วงนั้นมีลักษณะและเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละที่

การพยายามสร้างกฎทั่วไปจะเป็นการบิดเบือนและทำให้ไม่เข้าใจการเกิดทรราชของแต่ละรัฐได้อย่างถูกต้อง และให้เหตุผลว่าการพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างเป็นกฎทั่วไปนั้นเป็นระเบียบวิธีการศึกษาที่จำเป็นสำหรับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

แต่สำหรับการศึกษาทางประวัติศาสตร์ สาเหตุของการเกิดทรราชในแต่ละรัฐไม่จำเป็นต้องจะต้องเหมือนกันเสมอไป และการศึกษาหากฎทั่วไปต่อปรากฏการณ์ทางสังคมของมนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างในกรณีของการศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ

อีกทั้งในการศึกษาเงื่อนไขการเกิดทรราชในแต่ละนครรัฐ ผู้ศึกษาก็ไม่ควรยึดติดกับกรอบทฤษฎีหรือชุดคำอธิบายหนึ่งใดทางสังคมศาสตร์ไว้ล่วงหน้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละรัฐ ผู้ศึกษา “ไม่ควรสวมแว่นทฤษฎีหรือมองผ่านเลนส์ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง”

และนี่ดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งขึงตึงระหว่างประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์!

ฝ่ายหนึ่งจะลงในรายละเอียดและยืนยันว่าเราไม่สามารถจะเหมารวมได้ว่ามีสิ่งขึ้นป้ายที่เรียกว่า “ความคิดทางการเมืองไทย” หรือแม้แต่ “ความเป็นไทย”

แต่กระนั้น จะมีนักประวัติศาสตร์ที่ไม่มี “แว่นทฤษฎีหรือมองผ่านเลนส์ทฤษฎีใด” เลยในการศึกษาของตน?!