“ความเชื่อในเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวไทยวน”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “บ้านไตยวน”

แปลว่า “บ้านของคนไทยวน” หรือ “ไทโยนก” หรือ “คนล้านนา” ผู้เรียกตัวเองว่า “คนเมือง”

บทความนี้เกี่ยวกับ “ความเชื่อในเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวไทยวน”

ไตยวน ไทยวน หรือ คนเมือง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่แคว้นสุวรรณโคมคำ ที่พัฒนาไปเป็นอาณาจักรโยนก อาณาจักรหิรัญนครเงินยาง และอาณาจักรล้านนา

รากฐานของวัฒนธรรมโบราณมาจากชาวไตดั้งเดิมวงศ์สิงหนวัติ (ไตเหนือแห่งต้นลุ่มน้ำคง) ในเวลาล่วงมานับพันปีหลังจากเกิดอาณาจักรของไตยวนที่กล่าวเบื้องต้น ได้ผสมผสานวัฒนธรรมไตลื้อบางส่วน

วัฒนธรรมชาวลัวะ (ละว้า) พื้นถิ่นเดิมบางส่วน วัฒนธรรมหริภุญชัยบางส่วน และหลังสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมไตใหญ่มาผสมผสานอีกเล็กน้อย

ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไตยวนเป็นความเชื่อลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษก่อนได้รับความเชื่อลัทธิพราหมณ์ (ก่อนสมัยโยนก) และพุทธศาสนาในภายหลัง

วัฒนธรรมล้านนาของชาวไตยวนภายหลังจึงสะท้อนการผสมผสานความเชื่อทั้งสามโดยมีความเชื่อเรื่องผีที่ฝังรากลึกที่สุด

ในชุมชนที่อยู่อาศัยและเรือนประเพณีชาวไตยวนจึงสะท้อนความเชื่อเหล่านี้อย่างชัดเจน

หมู่บ้านและเมืองมีพื้นที่ศักดิ์สิทธ์ที่สำคัญที่สุดเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นใจบ้านใจเมือง

อิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ทำให้การสร้างเมืองปรับใจเมืองเป็นสะดือเมือง หลายเมืองยังคงใจเมืองไว้ต่างหากอีกแห่งที่รู้จักกันว่า “เสื้อเมือง” เช่นเดียวกันในหมู่บ้านจะรู้จักกันดีในชื่อ “เสื้อบ้าน” หรือ “เจ้าบ้าน”

ภายหลังที่ศาสนาพุทธได้เจริญขึ้นในล้านนา จึงได้มีการสร้างวัดขึ้นในชุมชนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น

บางเมืองมีการสร้างวัดคร่อมพื้นที่สะดือเมืองหรือใจเมืองเดิม เช่นที่เมืองเชียงใหม่

ชาวไตยวนบูชาผีขุนเขา ผีขุนน้ำ ผีป่า ผีเหมืองฝาย แม่น้ำ รุกขเทวดา รวมทั้งพระอินทร์ พระแม่ธรณี และเทวดาในทิศทั้งสี่

มีการบวงสรวงผีเจ้าที่และท้าวทั้งสี่ก่อนมีพิธีมงคล เช่น ขึ้นเรือนใหม่นิยมบูชาผีบรรพบุรุษในหอผีปู่ย่าในเขตรั้วบ้าน หรือ หิ้งผีบรรพบุรุษบนเสามงคลในห้องนอนเจ้าของเรือน

ผีเรือนได้รับการบูชาในความหมายเดียวกับผีบรรพบุรุษ ชาวไตยวนมีความเชื่อรับรู้ของการมีผีเรือนที่สิงสถิตในเรือน

ตำแหน่งสำคัญในเรือนที่นิยมกำหนดที่บูชา ได้แก่ เสามงคล แม่เตาไฟ เหนือประตูห้องนอนหลัก (มีหำยนต์สำหรับเรือนกาแล) หัวบันได ตำแหน่งที่บูชาผีเรือนมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมชาวลัวะมาก

ภายหลังประมาณแปดสิบปีเป็นต้นมา ชาวไตยวนจึงได้สร้างหิ้งพระเหนือหัวบนผนังด้านทิศตะวันออกของเติ๋น (ชานร่มหน้าห้องนอนทางหน้าเรือน) ไว้กราบไหว้รูปวาด รูปถ่าย หรือรูปปั้นสัญลักษณ์พระพุทธเจ้าหรือพระสุปฏิปันโน และมักนิยมบูชารูปตัวเปิ้ง (นักษัตรปีเกิด) และพระธาตุประจำปีเกิด

นี่เป็นสิ่งสะท้อนความเชื่อในตำแหน่งหลักของที่อยู่แบบประเพณีชาวไตยวน