บทวิเคราะห์ : เพื่อไทยกระจายกำลัง ตั้งพรรคนอมินี-สาขา เทคนิคแก้เกมเลือกตั้ง สะท้อนปฏิรูปล้มเหลว

เปิดตัวไม่อลังการงานสร้างเหมือนพรรคพลังประชารัฐของรัฐบาล คสช.

แต่การประชุมใหญ่พรรคเพื่อธรรมที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่คอการเมืองสนใจจับตาไม่น้อย

ไม่เพียงสมาชิกนักการเมืองหน้าเก่าและหน้าใหม่จากทั่วประเทศจะมาร่วมประชุมราว 350 คน ยังอยู่ที่การลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 7 คน

ผลเป็นเอกฉันท์เลือกนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค นางนลินี ทวีสิน เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายพงศกร อรรณนพพร เป็นเลขาธิการพรรค

ตำแหน่งอื่นๆ นายไพบูลย์ โตวิริยะเวช เป็นรองเลขาธิการพรรค นายธวัชชัย ไทยเจียมอารีย์ เหรัญญิกพรรค ว่าที่ ร.ต.หญิงจุฑามาศ ทัดดี นายทะเบียนพรรค และนายเอราวัณ ทับพลี โฆษกพรรค

แม้โผตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะพลิกออกมาเป็นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แทนที่จะเป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่มีข่าวสะพัดออกมาก่อนหน้า

แต่หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่า “สมพงษ์” หรือ “สมชาย” ก็ไม่ได้ทำให้จุดมุ่งหมายในการรื้อฟื้นพรรคเพื่อธรรมเปลี่ยนแปลงไปจากประเด็นที่ตกเป็นข่าว

ในจำนวนหลายๆ จุดมุ่งหมาย ที่ได้รับการพูดถึงกันมากก็คือ

พรรคเพื่อธรรมรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็น “พรรคสำรอง” รองรับการถ่ายโอนสมาชิก อดีต ส.ส. และผู้สมัคร หากพรรคเพื่อไทยประสบอุบัติถูก “ยุบพรรค”” ซ้ำรอยพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน

ทั้งจากกรณีคลิปวิดีโอคอลของนายทักษิณ ชินวัตร พูดคุยสั่งการสมาชิกและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

กรณี คสช.แจ้งความดำเนินคดีกับ 7 แกนนำพรรคเพื่อไทย ข้อหาฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อความมั่นคง จากการตั้งโต๊ะแถลงผลงานครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร

รวมถึงกรณีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 40 คน เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ในสมัยปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ซึ่งกำลังอยู่ในชั้นพิจารณาชี้มูลของ ป.ป.ช.

 

หลายคนมองในแง่ดีว่า

ในจังหวะโรดแม็ปเลือกตั้งกำลังเดินหน้าไปด้วยดี ประชาชนต่างคาดหวังกับก้าวแรกประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นว่าจะเป็นทางออกให้กับประเทศ

ดังนั้น กลุ่มผู้ต้องการสืบทอดอำนาจตามวิถีทางด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง ส่งผู้สมัครลงแข่งเลือกตั้ง จึงไม่น่าจะเล่นแรงกับฝ่ายตรงข้ามถึงขั้นยุบพรรค

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย การยุบพรรคอาจทำให้เกิดกระแสตีกลับรุนแรง ส่งผลให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

ขณะเดียวกันมีคนมองมุมต่างว่า เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ หากดูจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก การไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วจัดตั้งพรรคของตนเองขึ้นมา ส่งรัฐมนตรีเข้าไปเป็นแกนนำ โดยไม่สนใจข้อครหานินทาใดๆ

แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า รัฐบาล คสช.มีความต้องการที่จะสืบทอดอำนาจให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม

อาจถึงขั้นต้องใช้ “ไม้ตาย” สั่งยุบพรรค หากเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นๆ เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่อาจส่งผลให้การรัฐประหาร “เสียของ” ในที่สุด

มีการประเมินว่า หากการยุบพรรคเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ผลคือ ทำให้สมาชิกพรรคขาดคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส. ซึ่งกำหนดให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 90 วัน

หากวันเลือกตั้งตามโรดแม็ปมีขึ้นเร็วสุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หมายความว่าคนที่จะลงเลือกตั้ง ส.ส.ได้ ต้องเข้าสังกัดพรรคอย่างช้าไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายน 2561

และหากการยุบพรรคเกิดขึ้นหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ปัญหาก็จะใหญ่กว่านั้น จะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่วางตัวไว้แล้วขาดคุณสมบัติทั้งหมด โดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

การเตรียมพรรคสำรองหรือพรรคอะไหล่เอาไว้ ในกรณีอีกฝ่ายเกิดรู้สึกหมดหนทางไปสู่ชัยชนะขึ้นมาจริงๆ จะได้รับมือได้ทันท่วงที

อย่างน้อยก็ช่วยให้ไม่ถึงกับสูญพันธุ์ในสนามเลือกตั้ง

 

การวางตัวนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม ต้องถือว่าไม่ธรรมดา ด้วยประสบการณ์ในสนามการเมืองยาวนานกว่า 35 ปี

เคยเป็นแกนนำพรรคการเมืองมาแล้วหลายพรรค อาทิ พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคเอกภาพ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

เคยเป็นหัวหน้า ส.ส.กลุ่ม 16 อันลือลั่นในอดีต สมาชิกในกลุ่ม เช่น นายเนวิน ชิดชอบ นายสุชาติ ตันเจริญ นายสนธยา คุณปลื้ม นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายธานี ยี่สาร ฯลฯ เป็นต้น

เป็นอดีต ส.ส. เป็นอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงสำคัญ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ในทางการเมืองถือว่านายสมพงษ์มีประสบการณ์เหนือกว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป

ขณะที่นางนลินี ทวีสิน รองหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม เคยเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายพงศกร อรรณนพพร เลขาธิการพรรค อดีตเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นอดีต ส.ส.ขอนแก่น เป็นอดีต รมช.ศึกษาธิการ ในยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยโครงสร้างแกนนำพรรคที่มีสายสัมพันธ์โยงใยถึงกัน แม้นายสมพงษ์จะยืนยันหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อธรรมว่า พรรคเพื่อธรรมไม่ได้เป็นพรรคที่เตรียมพร้อมไว้รองรับหากมีการสั่งยุบพรรคเพื่อไทย

แต่ประโยคที่ตามมาว่า “จะร่วมกันทำงานทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่หากสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยากย้ายมาร่วมพรรคก็ยินดี”

ก็เปิดเผยให้เห็นถึงจุดประสงค์ของการปัดฝุ่นพรรคเพื่อธรรม

นอกจากการเป็นพรรคสำรอง ยังเป็นการท้าทายระบบการเลือกตั้งใหม่ ที่ได้รับการออกแบบโดยอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายใต้การควบคุมของ คสช.อีกด้วย

 

ด้วยสูตรคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบใหม่อันสลับซับซ้อน สรุปได้ว่า

หากพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เขตมาก จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อย ทำให้ไม่มีพรรคใดได้เป็นเสียงข้างมากเกินครึ่ง

ดังนั้น การแตกกำลัง “พรรคหลัก” ออกเป็น “พรรคนอมินี” หรือ “พรรคสาขา” หรือแม้กระทั่ง “พรรคสำรอง” จึงเป็นกลยุทธ์การแยกกันเดิน รวมกันตี

แยกกันเดิน โดยพรรคหนึ่งเน้น ส.ส.แบบเขต พรรคหนึ่งเน้นเก็บสะสมคะแนนทุกเม็ด เพื่อนำมาคำนวณรวมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วค่อยไปรวมกันตีหลังการเลือกตั้ง

นอกจากพรรคเพื่อธรรมที่เน้นเจาะคะแนนพื้นที่ภาคเหนือ ยังมีพรรคพลังปวงชนไทย ที่เป็นข่าวเตรียมจัดประชุมใหญ่เปิดตัว พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ในราวปลายเดือนนี้ รวมถึงพรรคเสรีรวมไทย

ขณะที่พรรคประชาชาติของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่แยกตัวไป จะเน้นหนักในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ขณะที่ศูนย์กลางอย่างพรรคเพื่อไทย ถ้าไม่โดนอภินิหาร “ยุบพรรค” รอบ 3 จะยังคงเน้นป้องกันแชมป์ภาคอีสาน 104 ที่นั่ง ล่าสุดมีกระแสข่าวเตรียมเปิดพรรคสาขาอีกแห่ง เน้นเจาะภาคกลางโดยเฉพาะ

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคนมองว่า การที่พรรคหลักแตกพรรคสาขาออกไป เพื่อหวังเก็บคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นอกจากไม่มีอะไรการันตีว่าผลจะออกมาอย่างที่คิด

ยังไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องในการพัฒนาพรรคการเมืองหลักให้เป็นสถาบันทางการเมือง ที่ควรเน้นการแข่งขันและให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะ มากกว่าอาศัยการเอาชนะด้วยเทคนิคทางการเมือง

ฝ่ายหนึ่งพยายามออกกฎกติกา วางกลไก กับดักข้อกฎหมายไว้เต็มไปหมด เพื่อกำจัดพรรคคู่แข่ง ทำให้อ่อนแอไปพร้อมๆ กับสร้างความเข้มแข็ง ได้เปรียบให้พรรคการเมืองของตนเอง

ส่งผลให้อีกฝ่ายหนึ่งจำเป็นต้องอาศัยชั้นเชิงทางการเมืองในการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหาดำเนินคดี เพื่อนำไปสู่การยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง

ซึ่งนอกจากทำให้ระบบพรรคการเมืองบิดเบี้ยว

ยังสะท้อนถึงการปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง