สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (7) โซตัสปะทะประชาธิปไตย!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ฉันอยู่เพื่อค้นคว้าหาสัจจะ            กลางโมหะอาเกียรณ์เบียฬประหาร
เพื่อสื่อแสงแจ้งสว่างพร่างตระการ    กลางวิญญาณมืดมิดอวิชชา”
-อุชเชนี-

ชัยชนะของขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีผลอย่างมาก ไม่ใช่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลโดยตรงกับกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในทุกมหาวิทยาลัย กระแสประชาธิปไตยพุ่งสูงขึ้นในทุกคณะ…

ทุกมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน กระแสโซตัสตกต่ำลง

เมื่อเป็นอาจารย์และต้องเขียนงานเรื่องประวัติศาสตร์สงคราม ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของทหารผ่านศึกอย่างมาก

สำหรับพวกเราที่ผ่าน “สนามรบที่ราชดำเนิน” มาแล้ว พวกเราผ่านเส้นทางร่วมกันเหมือนสำนวนทหารผ่านศึกที่ว่า “ถูกหลอมด้วยไฟสงคราม” (baptize by fire) มาด้วยกัน

และที่สำคัญ พวกเราเป็นเสมือน “ทหารชนะศึก” และมี “ธงประชาธิปไตย” เป็นธงนำขบวนการต่อสู้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามสำหรับพวกเราที่เป็นน้องปี 1 ที่กลับเข้าคณะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็คือ เราจะยอมอยู่ภายใต้พันธนาการของระบบอาวุโสในคณะหรือไม่

และถ้าไม่ยอมแล้ว เราจะทำอย่างไร?

อุดมคติใหม่

แล้วเราก็กลับเข้าคณะ… คงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า พวกเรากลับจากถนนราชดำเนินด้วยความรู้สึกของการเป็น “เสรีชน” อย่างเต็มตัว

ดังที่กล่าวแล้วว่า เรารบชนะรัฐบาลทหารมาแล้ว ไยเราจะต้องกังวลกับการต่อสู้กับระบบโซตัสในคณะ

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การเปลี่ยนภูมิทัศน์ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ค่อยๆ ขยับตัวขึ้นสู่กระแสสูงแล้ว การก่อตัวของกลุ่มอิสระและชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย คู่ขนานกับการรวมตัวของนักกิจกรรมข้ามมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การกำเนิดของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ล้วนส่งสัญญาณถึง “กระบวนทัศน์ใหม่” ของกิจกรรมที่เกิดและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรั้วจุฬาฯ และในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เช่นกัน

ยุคแห่งการแสวงหาพาคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยไทยเหล่านี้ไปสู่การเป็น “ผู้แบกรับภารกิจ” ของการพัฒนาประชาธิปไตย มากกว่าการแสดงบทบาทเป็นคนคุมห้องเชียร์ หรือเป็น “ว้ากเกอร์” (นักว้ากประจำคณะ) หรือเป็นกรรมการจัดงานบอลล์ เป็นต้น

บทบาทของพวกโซตัสเก่าจุฬาฯ เองถูกท้าทายอย่างมาก และส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากการเสียชีวิตของบัณฑิตหนุ่มสาว 2 คนจากคณะครุศาสตร์

บัณฑิตจากจุฬาฯ คนหนึ่งชื่อ “โกมล คีมทอง” และอีกคนชื่อ “รัตนา สกุลไทย” ทั้งสองตัดสินใจอุทิศชีวิตเป็นครูสอนหนังสือแก่เด็กในถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้คำปณิธานว่า “จะขอเป็นครูตราบชั่วชีวิต” ต่อมาทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2514

พวกเขาทั้งสองได้กลายเป็นแบบอย่างของ “บัณฑิตผู้เสียสละ” ที่ยอมอุทิศตนจนวาระสุดท้ายของชีวิต

การเสียชีวิตของบัณฑิตอย่าง “โกมล คีมทอง” ไม่ได้เป็นเพียงตัวอย่างแก่บรรดาคนหนุ่มสาวจุฬาฯ ที่คิดถึงกิจกรรมแนวใหม่ หากแต่ยังเป็นแบบอย่างแก่นักศึกษาในอีกหลายมหาวิทยาลัย แม้ชาวจุฬาฯ รุ่นหลังๆ อาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้แล้ว แต่อย่างน้อยอนุสรณ์ที่ยังดำรงอยู่เป็นตัวแทนของอุดมคติในยุคสมัยดังกล่าวก็คือ “มูลนิธิโกมลคีมทอง”

และการเสียชีวิตของพี่จุฬาฯ ทั้งสองทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกของชีวิตหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยในแบบฉบับของยุค “สายลมแสงแดด”

โมเมนตัมของกระแสเสรีนิยม

ในสภาพของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในสังคมไทยและในสังคมจุฬาฯ เอง ก็ก่อให้เกิดแรงเสียดทานกับระบบเดิม และแรงเสียดทานเช่นนี้ดูจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “โมเมนตัม” ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ถาโถมเข้ากระแทกระบบและโครงสร้างเก่าของชีวิตนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลพวงของชัยชนะใน 14 ตุลาฯ ได้นำพา “กระแสเสรีนิยม” คู่ขนานกับ “แนวคิดประชาธิปไตย” ทะลักเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอย่างไม่อาจต้านทานได้

ผมเคยคุยกับเพื่อนในคณะที่ระบบอาวุโสมีความเข้มแข็งมากอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ยังยอมรับถึงผลกระทบดังกล่าว

โลกของระบบโซตัสกำลังถูกท้าทายอย่างมาก

สำหรับพวกเราที่เป็นนิสิตปี 1 ในปีกโซตัสใหม่ ก็เริ่มแสวงหาความรู้ให้มากขึ้น

ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ในเทอมต้นนั้น ผมเริ่มอ่านหนังสือประวัติของนักคิดนักปรัชญาการเมืองที่เป็นผู้สร้างแนวคิดประชาธิปไตยอเมริกันอย่าง โทมัส เจฟเฟอร์สัน แล้วก็ติดอกติดใจกับ “วรรคทอง” ของเจฟเฟอร์สันหลายๆ ประโยค หรือที่บางคนเอา “ประโยคทอง” ของนักคิดชาวฝรั่งเศสอย่าง จัง โบแดง เป็นต้น

บรรดาประโยคทอง วรรคทองของนักคิดในสายประชาธิปไตย รวมทั้งคำพูดของ อับราฮัม ลินคอล์น ที่นักเรียนรัฐศาสตร์ในรุ่นผมถือเป็นคำนิยามของรัฐบาลในอุดมคติของพวกเราก็คือ “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” (Government of the people, by the people, for the people.)

ไม่ปฏิเสธเลยว่าผมกับเพื่อนๆ คลั่งไคล้กับวรรคทองของบรรดานักคิดนักปรัชญาประชาธิปไตยเหล่านี้มาก

แล้ววันเวลาที่รอคอยก็มาถึง พวกเราเอาคำประโยคทองพวกนี้มาเขียนลงในกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหญ่ไปติดตามที่ต่างๆ ในจุฬาฯ เพื่อก่อกระแสการเคลื่อนไหว

สภาพเช่นนี้ทำให้พวกเราฝันถึง “ประชาธิปไตย” ในคณะรัฐศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง…

เราอยากให้คณะเรามีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตยเหมือนอย่างประเทศที่เราต้องเรียนเป็นตัวแบบ ระบบโซตัสที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ในคณะด้วยเหตุผลอะไรเล่า และทั้งห้องเรียนจะสอนเรื่องประชาธิปไตยไปทำไม

ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตยทั้งระดับคณะและระดับชาติแล้ว คณะรัฐศาสตร์ควรจะเรียนการเมืองเรื่องอะไร?

กระแสต้านโซตัส

ว่าที่จริงแล้วพวกเราไม่ได้ปฏิเสธการร้องเพลงประจำคณะ และไม่ใช่ไม่ชอบร้องเพลงเชียร์ หรือไม่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมของคณะ เป็นแต่เพียงพวกเราเริ่มตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ไม่บังคับได้ไหม?”

และคำถามเช่นนี้ก็ขยายไปสู่ประเด็นพื้นๆ ว่า “ทำไมนิสิตรัฐศาสตร์ไม่มีเสรีภาพ?”

หรือบางทีเราก็ถามตรงๆ ว่า “ไม่ว้ากไม่ได้หรือ?”

ฉะนั้น ในยุคที่ระบบโซตัสยังมีอำนาจ คำถามพวกนี้ไม่มีคำตอบ เพราะสิทธิของน้องให้ “เป็นศูนย์” หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ “ไม่ต้องถาม!” และ “ทำตามที่รุ่นพี่สั่ง” เป็นพอ

จนวันหนึ่งปัญหาเกิดขึ้นเมื่อน้องปี 1 รุ่นผมต้องไปเชียร์กีฬาคณะที่สนามกีฬาของจุฬาฯ (สนามจุ๊บหรือสนามจารุเสถียร) พวกเราร้องเพลงเชียร์ แล้วก็เป็นไปตามแบบคือ ถูกว้ากว่าร้องไม่ดัง…ร้องอีก ก็ถูกว้ากอีกให้ร้องดังขึ้น

วันนั้นไม่รู้ว่าผมไปกิน “ดีหมี” มาจากไหน ผมตัดสินใจลุกขึ้นยืนกลางอัฒจันทร์ แล้วตะโกนกลับลงไปว่า “ถ้าพี่อยากให้ดังกว่านี้ ขึ้นมาร้องเองซิครับ!”

เท่านั้นแหละครับ เงียบกันทั้งอัฒจันทร์… ผมคิดว่าพี่ปี 2 ที่เป็นว้ากเกอร์ก็คงงงๆ เพราะคงไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน

เสร็จการแข่งขันแล้ว เดินกลับเข้าคณะด้วยความเงียบเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครพูดอะไรกันเลยครับ

ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงต้องบอกว่า ผมอยู่ในบัญชีที่จะต้องนำตัวไป “ปรับทัศนคติ” อย่างแน่นอน

ผมเชื่อว่ากลุ่มโซตัสใหม่หรือคนรุ่นผมเองบางส่วนก็เคยมีข้อเสนอไม่แตกต่างกัน

เช่น เชียร์โดยไม่มีการว้ากได้ไหม พี่บางคนตอบเราว่า ให้ทนไปก่อน พอขึ้นเป็นปี 2 แล้ว เราก็จะได้ว้ากน้องปี 1 ต่อไป (…555!)

พวกเราไม่คิดว่าคำตอบเช่นนี้เป็นข้อเสนอที่ดีแต่อย่างใด เพราะเราคิดว่าระบบเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในคณะนี้ต่างหาก

ระบบของการบังคับการจะถูกยกเลิกได้แล้ว หรือระบบบังคับในคณะควรจะไปพร้อมกับการสิ้นสุดของระบอบทหารในการเมืองไทยมิใช่หรือ?

สงครามครั้งใหม่

การเคลื่อนไหวแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ของพวกผมในคณะใน “ยุทธการล้มโซตัส” ก็คือ การตัดสินใจไม่ผูกเน็กไทมาเรียน เพราะโดยปกติของเครื่องแบบนิสิตชายของจุฬาฯ น้องปี 1 ทุกคนต้องผูกเน็กไท

ดังนั้น การ “ปลดไท้” (คำเรียกในยุคนั้น จึงต้องถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพราะเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณของการปฏิเสธระบบเก่าอย่างชัดเจน)

พวกเราที่เริ่มเรียนประวัติศาสตร์จีน ก็เริ่มรับเอาภาษาฝ่ายซ้ายมาใช้ โดยเปรียบการ “ปลดไท้” ว่าเป็นเสมือนการ “ปลดแอก” ของนิสิตปี 1 และถือว่าการสวมไทเป็นดังการถูกระบบโซตัสสวม “แอก” บังคับไว้ เนื่องจากในคณะรัฐศาสตร์ขณะนั้นจะมี “ข้อห้าม” สำหรับนิสิตปี 1 คือ ห้ามขึ้นบันได้ด้านหน้าของตึก 1 (ใครมีโอกาสไปเที่ยวคณะผม แวะไปชมได้ครับ)

บันไดนี้ถูกเรียกว่า “บันไดสีหราช” น้องใหม่ขึ้นได้บันไดข้างด้านซ้ายและขวาของตึกเท่านั้น และห้ามนั่งโต๊ะกลางในโรงอาหาร โต๊ะตรงกลาง 1 คู่ถูกเรียกว่า “โต๊ะซีเนียร์” จึงไม่อนุญาตให้นิสิตปีใดนั่ง ยกเว้นอาจารย์และนิสิตปี 4 เท่านั้น

ในความเป็นจริงคณะเราไม่มีข้อห้ามในเชิงพื้นที่มากมายนัก เพราะตึกเรียนมีเพียง 2 ตึก ส่วนตึก 3 เป็นส่วนงานธุรการและห้องพักอาจารย์ และตึก 2 เป็นตึกที่คณะนิติศาสตร์ใช้ เพราะคณะนี้แต่เดิมเป็นภาควิชานิติศาสตร์สังกัดอยู่กับคณะ ก่อนจะแยกออกไป เช่น ในอดีตภาควิชาการคลังก็แยกออกไปเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ หรือบางส่วนของคณะก็มีบทบาทที่แตกตัวออกไปเป็นคณะนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน

ดังนั้น ในเชิงพื้นที่แล้ว ข้อห้ามจึงไม่มาก ความเข้มข้นจึงอยู่กับระบบเชียร์ การว้าก และการบังคับการแต่งกายที่เข้มงวดสำหรับน้องปี 1

แต่ว่าที่จริงพวกเราปี 1 ที่เป็นนักกิจกรรมนั้น เราปลดเน็กไทกันตั้งแต่ตอนเดินขบวน 14 ตุลาฯ แล้ว

วันที่ผมถือป้ายรูปกำปั้นเดินนำขบวนออกจากจุฬาฯ ผมไม่สวมเน็กไทแล้ว และเอาเสื้อ รด. ที่ไม่มีสังกัดติดสวมทับ ทำให้พวกปี 1 รุ่นเดียวกันจากคณะอื่นคิดว่าผมเป็นรุ่นพี่

เพื่อนสนิทคนหนึ่งจากคณะนิติศาสตร์ที่ร่วมเดินขบวนในวันนั้น ที่ต่อมาได้มาร่วมกิจกรรมกันคือ วิทยา แก้วภราดัย (อดีต ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์) เคยบอกด้วยภาษาเด็กผู้ชายยุคนั้นว่า “กูนึกว่ามึงเป็นรุ่นพี่” เพราะไม่ได้ผูกเน็กไท

ดังนั้น การปลดเน็กไทสำหรับพวกเราจึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

แต่สงครามครั้งใหม่ใน “ยุทธการล้มโซตัส” สำหรับพวกเรากำลังเริ่มขึ้นจริงๆ แล้ว เมื่อพวกเรากลุ่มนี้ตัดสินใจไม่ผูกเน็กไทมาเรียน

การปลดเน็กไทจึงเป็นดังการประกาศ “ปลดปล่อย” พวกเราจากระบบโซตัส

ยุทธการล้มโซตัส

ท่ามกลางกระแสเสรีนิยมที่ไหลบ่าเข้าท่วมคณะ ใช่ว่าจะมีแต่พวกเราเท่านั้นที่รับเอาชุดความคิดนี้ บรรดาอาจารย์หลายๆ ท่านก็ไม่แตกต่างกัน ว่าที่จริงอาจารย์เหล่านี้ก็เป็น “นักเสรีนิยม” มาก่อนพวกเราเสียด้วย แต่เมื่ออยู่ในบรรยากาศของชัยชนะของ 14 ตุลาฯ แล้ว การแสดงออกด้วยทัศนะแบบเสรีนิยมจึงเป็นเรื่องที่ประจักษ์มากขึ้น

ห้องเรียนจึงกลายเป็น “เวทีประชาธิปไตย” ไปโดยปริยาย

ในขณะเดียวกันพวกเราในชั้นเรียนก็เริ่มตั้งคำถามเรื่องเสรีภาพกับระบบโซตัส

จนกระทั่งในวิชาหลักรัฐศาสตร์ ที่ รศ.ดร.กมล สมวิเชียร สอนเรา พอสอนเสร็จอาจารย์ก็ตัดสินใจพาน้องใหม่ที่ไม่ผูกเน็กไทเดินลงบันไดตึก 1 หลังจากการเดินครั้งนี้แล้ว เราก็เริ่มทำให้วาทกรรมความศักดิ์สิทธิ์ของบันไดสีหราชในระบบโซตัสกลายเป็นบันไดปกติ…กบฏน้องใหม่ประกาศตัวแล้วอย่างเป็นทางการ

เช้าวันรุ่งขึ้น มีการชุมนุมหน้าบันไดนี้ โดยพวกเราน้องปี 1 เดินขึ้นไปบนบันได รุ่นพี่ที่เห็นต่างมายืนดู แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะมีอาจารย์ยืนอยู่ด้วย

มีรุ่นพี่บางคนต้องหลั่งน้ำตาให้กับบันไดนี้ที่ถูกพวกเรารุ่น 26 เปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่

และในเช้าวันนั้น มีรุ่นพี่โซตัสเก่าบางคนประกาศว่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีเพียง 25 รุ่นเท่านั้น คือไม่นับญาติพวกเราเป็นรุ่นต่อมา

เมื่อคิดย้อนกลับไปวันนั้น โชคดีว่ามีอาจารย์อยู่ในที่เกิดเหตุ เพราะถ้ารุ่นพี่ที่เห็นต่างตัดสินใจใช้กำลังกับพวกเรา ก็คงกลายเป็นเรื่องใหญ่

ต่อมาเมื่อพวกเราขึ้นปี 2 นิสิตหญิงคนหนึ่งรุ่นเราก็ตัดสินใจนั่งโต๊ะซีเนียร์

แล้วพวกเราก็ตามไปนั่ง จนในที่สุดวาทกรรม “โต๊ะปี 4” ก็จบลงด้วยฝีมือกบฏรุ่นเรา รุ่นผมล้มสัญลักษณ์โซตัสของคณะรัฐศาสตร์ทั้งหมด…

สภาพเช่นนี้ทำให้ระบบโซตัสอยู่ในภาวะถดถอยอย่างยิ่ง อย่างน้อยคงต้องถือว่าชัยชนะของ 14 ตุลาฯ ทำให้ระบบโซตัสอ่อนแอลง ใช่แต่ในรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เท่านั้น ในหลายคณะและในหลายมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน

นิสิตนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 กำลังเดินหน้าออกสู่กิจกรรมใหม่ ระบบโซตัสกลายเป็นตัวแทนระบบอนุรักษนิยมที่ถูกทิ้งค้างไว้เป็นเบื้องหลัง

แต่ก็ใช่ว่าพลังอนุรักษนิยมในสังคมไทยจะถูกลดทอนลงไปกับชัยชนะของลัทธิเสรีนิยมในปี 2516 แต่อย่างใด!