หนุ่มเมืองจันท์ : ลูกชาวนา

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

จําได้ว่าตอนเกิดเหตุการณ์วิกฤตค่าเงินบาทเมื่อปี 2540

คนทำงานประจำตกงานเยอะมาก

ช่วงนั้นได้เกิด “นวัตกรรม” ทางธุรกิจขึ้นมา

“เปิดท้ายขายของ”

คนในยุคนั้นคงจำกันได้

คนทำงานประจำ นำเสื้อผ้าหรือของใช้ที่เก็บสะสมมาขายเป็น “สินค้ามือสอง” เพื่อหารายได้

มีตลาดนัดเปิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับกับกิจกรรมเปิดท้ายขายของ

“เปิดท้าย” คือ เปิดท้ายรถยนต์

ของที่ขายก็วางอยู่ท้ายรถส่วนตัวของเรา

พอเริ่มขายได้ คนขายก็เริ่มขยับขยาย

จากเดิมที่เอาของส่วนตัวที่เหลือใช้มาขายก็กลายเป็นไปรับสินค้ามาขาย

จากการแก้ “วิกฤต” เฉพาะหน้า

กลายเป็น “โอกาส” ใหม่

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อได้อ่านแนวคิด “ลูกชาวนาซับน้ำตาพ่อ” ของ อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

ข้าวเปลือกราคากิโลกรัมละ 6 บาท

เท่ากับ “มาม่า” 1 ซอง

ถ้าใช้ “ดัชนีมาม่า” เป็นตัวเปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือก

ราคาข้าวปีนี้ถือว่าตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

นับตั้งแต่เมืองไทยมี “มาม่า”

แนวคิด “ลูกชาวนา” คือ การแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำแบบไม่พึ่งพากลไกการตลาดแบบเดิม

ไม่ต้องผ่านโรงสี พ่อค้าคนกลาง

แต่ “ขายตรง” เลย

จาก “ชาวนา” สู่ “ผู้บริโภค”

โดยผ่านกลไกการตลาดใหม่

คือ “ลูกชาวนา”

อาจารย์เดชรัตน์ รณรงค์ให้ลูกหลานชาวนาที่ได้เล่าเรียนสูงๆ มาช่วยพ่อแม่ขายข้าว

“ถ้าข้าวราคาถูก นำมาให้ลูกช่วยขาย”

ไม่มีใครเข้าใจชาวนา เท่ากับลูกชาวนาหรอกครับ

แนวคิด “ลูกชาวนาซับน้ำตาพ่อ” ถือเป็น “กตัญญูมาร์เก็ตติ้ง” ที่ยอดเยี่ยม

เพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจกลไกการขายสมัยใหม่ผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม

แต่ลูกๆ เข้าใจ และทำได้เลย

สำหรับผม นี่คือ การตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ที่ดีที่สุด

แสดงให้พ่อแม่รู้ว่า “ความรู้” ที่เราได้มาจากหยาดเหงื่อของพ่อแม่สามารถนำมาช่วยผู้มีพระคุณของเราได้

เป็นการลงแรงที่หัวใจพองโตมาก

“โอกาส” แบบนี้หายากมากครับ

ต้องรีบกระโดดคว้าโดยเร็ว

 

แนวคิด “ลูกชาวนา” ของอาจารย์เดชรัตน์ ไม่ได้คิดใหญ่โตว่าจะต้องขายไปทั่วประเทศ

แค่ให้พ่อแม่เอาข้าวเปลือกไปสีข้าวเป็น “ข้าวสาร”

ลูกๆ คิดเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการขาย

หา “ออเดอร์” แล้วส่งสินค้า

เป้าหมายเริ่มต้นอยู่แค่ขายกับคนรู้จัก หรือขายในสำนักงานของตัว

หรือถ้าอยู่ใน กทม. ก็ขายใน กทม.

ค่อยเป็นค่อยไป

เอาแค่ช่วยพ่อแม่ก่อน ถ้ามีลู่ทางก็ค่อยขยายต่อไป

ใครจะไปนึกว่าเพียงแค่ไม่กี่วันที่ไอเดียนี้กระจายไปตามโซเชียลมีเดียต่างๆ

กระแสตอบรับสูงมากเลยครับ

มีนักออกแบบเปิดเว็บไซต์ชวนเพื่อนๆ มาช่วยออกแบบฟรีให้กับลูกชาวนา

นิสิตบางคนแค่เริ่มต้นโพสต์ขายข้าวช่วยพ่อ

คนเข้ามาซื้อแป๊บเดียว 500 กิโลกรัม

“ลูกชาวนา” นั้นแม้ไม่ได้เรียนเรื่องธุรกิจ

ไม่รู้เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์

ไม่รู้เรื่องจัดส่งสินค้า

แต่ทุกคนมี “เพื่อน” ที่มีความรู้ด้านนี้

และทุกคนรู้จักสื่อโซเชียลมีเดียเป็นอย่างดี

ผมนึกถึงร้านขายชุดลิเกที่นครราชสีมาที่ “ป้อม” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ แห่งตลาดดอทคอม เคยเล่าให้ฟัง

ตอนแรกก็ขายไม่ดี มีจักรเย็บผ้าอยู่คันเดียว

แต่พอสามีและลูกช่วยทำเว็บไซต์ให้

เป็นเว็บไซต์ธรรมดาสามัญมากเลย

แต่เว็บไซต์นั้นสามารถเจาะเข้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการชุดลิเก

ยอดขายถล่มทลายเลยครับ

ต้องเพิ่มจักรเย็บผ้า เพิ่มคนมาช่วยเย็บ

“ชุดลิเก” ทำได้

“ลูกชาวนา” ก็ต้องทำได้

วิกฤตราคาข้าวตกต่ำครั้งนี้สะเทือนใจคนไทยเยอะมาก

ทุกคนพร้อมช่วยซื้อข้าวจากชาวนา

ขอเพียงแค่ “ลูกชาวนา” ขยับตัวเท่านั้นเอง

 

ตอนนี้แนวคิดเรื่อง “การขายตรง” เริ่มกระจายไปทั่วประเทศ

ไม่ขาย “ข้าวเปลือก” ให้โรงสีที่กดราคา

แต่ “ชาวนา” จะสีข้าวและขายเป็น “ข้าวสาร” เอง

ที่สุรินทร์ เครื่องสีข้าวขนาดเล็กขายดีมาก

หรือ อบต. บางแห่งตัดสินใจใช้งบประมาณซื้อเครื่องสีข้าวเอง

กลไกการตลาดแบบใหม่เริ่มทำงาน

เพราะราคาขายถูกกว่า “ข้าวถุง”

อร่อยกว่าด้วย

ในมุมหนึ่ง “วิกฤต” ครั้งนี้ได้สร้าง “โอกาส” ใหม่ขึ้นมา

เหมือนกับเมื่อปี 2540 ที่สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ขึ้นมาจาก “เปิดท้ายขายของ”

วิกฤตครั้งนั้นทำให้พนักงานประจำที่ไม่รู้จักการค้าขาย บางคนก็ปฏิเสธการขายของมาทั้งชีวิต

แต่พอถึงจุดที่ตกต่ำที่สุด ไม่มีงานประจำทำ

ทุกคนก็พร้อมเริ่มต้นทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

นั่นคือ การเป็นพ่อค้า-แม่ค้า

พอทำสำเร็จ เขาก็เริ่มสร้างธุรกิจส่วนตัวขึ้นมา

ไม่เป็นแล้ว “ลูกจ้าง”

กลายเป็นว่าวิกฤตค่าเงินบาทครั้งนั้นได้ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากมาย

และกลายเป็นแหล่งจ้างงานใหม่ในระบบเศรษฐกิจไทย

เหมือนกับครั้งนี้ เมื่อไม่รู้จะพึ่งพาใคร ชาวนาทุกคนก็ต้องพึ่งพาตัวเอง

อะไรที่ไม่เคยทำ ก็ได้ทำ

เช่นเดียวกับ “ลูกชาวนา” ที่ไม่เคยคิดจะไปช่วยพ่อแม่ขายข้าว

ครั้งนี้เขาต้องทำแล้ว

และบางทีเมืองไทยจะเกิดกลไกการตลาดใหม่จากวิกฤตครั้งนี้

พึ่งพาตัวเอง

ไม่ต้องพึ่งใคร

นี่คือ บุญคุณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่ “ชาวนาไทย” ไม่ควรลืม