สิ่งที่ต้องจับตามากกว่า “คิม จอง อึน” ทำสัญลักษณ์ “มินิฮาร์ต”

คิม จอง อึน ในเวลานี้ได้สร้างภาพลักษณ์อันเป็นมิตรและอ่อนโยนมากขึ้น ด้วยสัญลักษณ์ “มินิฮาร์ต” สัญลักษณ์ที่เป็นที่นิยมในหมู่ไอดอลเคป๊อป ในการส่งความรักให้กับแฟนๆ ก่อนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนที่ใช้ถ่ายรูปกับเพื่อนๆ

เรื่องราวการทำท่า “มินิฮาร์ต” ของผู้นำคิมแห่งเกาหลีเหนือ ถูกบอกเล่าเป็นครั้งแรกผ่านโฆษกบลูเฮาส์ หรือทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งบอกกับสื่อมวลชนว่า ผู้นำเกาหลีเหนือพยายามทำสัญลักษณ์ดังกล่าวกับรัฐมนตรีเกาหลีใต้กระทรวงต่างๆ

“คุณทำยังไงนะ ผมทำเป็นรูปร่างไม่ค่อยได้” คิมระบุ

ท่าทางอันเป็นมิตรสร้างความประทับใจให้ชาวเกาหลีใต้ไม่น้อย ในอีกแง่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการสร้างสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ให้ดีที่สุด

 

ลอร่า บิ๊กเกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเกาหลีใต้รายงานข่าวการพบปะของมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้และผู้นำเกาหลีเหนือถ่ายทอดสัญญาณจากเขาเพ็กตูในประเทศเกาหลีเหนือ ระบุว่า คิม จอง อึน ไม่ได้มีภาพของ “คนบ้า” หรือ “พวกเรียกร้องความสนใจ” อย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเคยเรียกผู้นำเกาหลีเหนือผู้นี้เอาไว้เมื่อปีก่อนอยู่เลย

“เรามีกลุ่มเล็กๆ ในวันนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้เราหวังว่าชาวเกาหลีใต้จำนวนมากจะสามารถมาที่นี่ได้” ผู้นำเกาหลีเหนือที่ทรัมป์ชื่นชมว่าเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมในปีนี้ระบุ และว่า “เราควรเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระหว่างเหนือและใต้ด้วยการสะท้อนประวัติศาสตร์ผ่านทะเลสาบสวรรค์แห่งนี้”

ก่อนที่อีกไม่กี่วันต่อมาบลูเฮาส์จะเผยแพร่ภาพคิม จอง อึน ทำสัญลักษณ์มินิฮาร์ต ภาพซึ่งชัดเจนว่าเป็นการส่งถึงชาวเกาหลีใต้ เพื่อแสดงออกถึงภาพลักษณ์ที่นุ่มนวล

และคิมเริ่มมีสถานะ “เซเลบ” ในเกาหลีใต้มากยิ่งขึ้น

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงและเป็นที่สงสัยของชาติตะวันตกก็คือ คิม จอง อึน นั้นสามารถสั่งปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมไปถึงชาวเกาหลีใต้ 6 คนที่ถูกส่งไปใช้แรงงานได้ด้วยเพียงกระดิกนิ้ว

รายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่เมื่อปี 2014 ระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือกระทำการโหดร้ายทารุณในระดับที่ “ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้” กับประชาชนเกาหลีเหนือจำนวนมหาศาล

ในระดับที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเปรียบเทียบว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับอาชญากรรมที่กระทำโดย “นาซีเยอรมัน” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ขณะที่ตัวคิมเองนั้นก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้สั่งการสังหารคิม จอง นัม พี่ชายต่างแม่ เสียชีวิตในประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงสั่งประหารชีวิตลุงแท้ๆ อย่าง จาง ซอง แต๊ก เมื่อปี 2013

อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือในเวลานี้กลับกลายเป็นสิ่งต้องหลีกเลี่ยงในเกาหลีใต้ เนื่องจากจะถูกมองว่าเป็นการสร้างอุปสรรคให้กับกระบวนการสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี

 

ด้านที่ปรึกษาอาวุโสของบลูเฮาส์ก็ยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวเป็นความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะพูดเรื่องดังกล่าว ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความไว้เนื่อเชื่อใจระหว่างกันเป็นอันดับแรก

ขณะที่เกาหลีเหนือก็เคยเตือนเรื่องดังกล่าวผ่านสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาล ก่อนหน้าการหารือระดับสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ครั้งแรกให้เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ “ปฏิบัติตัวอย่างใช้ดุลพินิจ” และว่า การวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนกับเกาหลีเหนือนั้นเปรียบเหมือนการ “โยนหินเข้าใส่แผ่นน้ำแข็งบางๆ อันเสมือนความสัมพันธ์ของสองชาติ”

นั่นทำให้การหารือมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นการช่วยประชาชนเกาหลีเหนือได้ในระยะยาว ขณะที่ผู้นำคิมเองก็แสดงท่าทีในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังผ่านภาพการเยี่ยมชมโรงงานต่างๆ ในเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นอกจากนี้ กระบวนการสันติภาพยังมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนผ่านข้อตกลงลดความตึงเครียดบริเวณชายแดน ขณะที่เกาหลีเหนือเห็นชอบที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญสังเกตการณ์การรื้อถอนฐานยิงจรวดโซแฮ ฐานยิงจรวดที่ใช้ในโครงการอวกาศและขีปนาวุธสำคัญของประเทศ

ยังไม่ชัดเจนว่าสัญญาณแง่บวกดังกล่าวจะส่งผลดี หรือสะท้อนความต้องการของประชาชนชาวเกาหลีเหนืออย่างไร ขณะที่สถานะของรัฐที่ยังคงปกปิดความลับของเกาหลีเหนือนั้นยังคงมีอยู่เช่นเดิม

 

คาเซย์ ลาร์ทีก ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการนานาชาติขององค์กร “ทีชนอร์ธโคเรียนเรฟูจีส์” ระบุว่า ผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือที่มีช่องทางติดต่อสื่อสารกับชาวเกาหลีเหนือระบุว่า ผู้นำเกาหลีเหนือนำเสนอรอยยิ้มกับโลก แต่ยังคงกดขี่คนในประเทศอย่างต่อเนื่อง

“โลกอาจเห็นเขาเป็นชายผู้มีรอยยิ้มน่ารัก แต่สำหรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือแล้วเขาเป็นเหมือนนักแสดงตลกที่มีกีโยตินในมือ”