คนมองหนัง : 6 หนังเกี่ยวกับ “พ่อ” ที่น่าหามาชม

คนมองหนัง

Bicycle Thieves

ในกรุงโรมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อที่มีฐานะยากไร้ ต้องพยายามเสาะหาหนทางทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูภรรยา, ลูกชาย และลูกวัยทารกที่เพิ่งถือกำเนิด

เขาได้งานเป็นคนติดแผ่นป้ายโฆษณา แต่เพียงวันแรกของการเริ่มต้นทำงาน จักรยานที่เขาต้องใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำมาหาเลี้ยงชีพกลับถูกขโมยไป พ่อและลูกชายคนโตจึงต้องดั้นด้นออกตามหาจักรยานคันดังกล่าวไปทั่วเมือง

สุดท้าย พวกเขาก็ฟันฝ่าอุปสรรคสำคัญได้สำเร็จ ส่งผลให้ผู้เป็นพ่อสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่หลักของตนเอง ในฐานะหัวหน้าครอบครัว อย่างเต็มภาคภูมิ

ผลงานภาพยนตร์ของ “วิตตอริโอ เดอ ซิกา” ที่ออกฉายตั้งแต่ ค.ศ.1948 เรื่องนี้ ถูกนิยามให้เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของหนังกลุ่ม “สัจนิยมใหม่” ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศอิตาลี ไม่ใช่เพียงเพราะการถ่ายทำในสถานที่จริง หรือการใช้นักแสดงสมัครเล่นที่เป็น “ชาวบ้านจริงๆ”

แต่ยังอาจเป็นเพราะ “แก่นแกนหลัก” ของหนัง ที่เล่าเรื่องราวว่าด้วยความสิ้นหวังของชายผู้หนึ่ง ซึ่งหมดหนทางเลี้ยงดูครอบครัว ในภาวะที่โลกทั้งใบคล้ายจะต่อต้านลงทัณฑ์เขา

นี่นับเป็นเรื่องราวที่อยู่เหนือกาลเวลาและข้ามผ่านสไตล์หรือรูปลักษณ์ภายนอกของภาพยนตร์

 

To Kill a Mockingbird

ภาพยนตร์ในปี 1962 ผลงานการกำกับฯ ของ “โรเบิร์ต มัลลิแกน” ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเบสต์เซลเลอร์ของ “ฮาเปอร์ ลี” ทั้งยังส่งผลให้ “เกรกอรี่ เพก” โด่งดังจากการรับบทบาทเป็นตัวละครชื่อ “แอตติคัส ฟินช์”

ฟินช์ คือทนายความผู้ซื่อสัตย์ รักความเป็นธรรม และเลือกจะยืนหยัดอยู่เคียงข้างคนยากจนซึ่งถูกกดขี่ รวมถึง “เด็กหนุ่มผิวดำ” ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาข่มขืนอย่างไม่ยุติธรรม

แต่อีกด้านเขาก็เป็นพ่อ (หม้าย) ผู้ต้องพยายามปกป้องคุ้มครองลูกๆ สองคน จากความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิต อันเกิดจากแนวคิดแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้ยังคงเป็นหนึ่งในหนังเกี่ยวกับ “ความเป็นพ่อ” ที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกัน

 

Back to the Future

ผลงานเมื่อปี 1985 ของ “โรเบิร์ต เซเม็กคิส” อาจถูกประเมินว่าเป็นหนังคอเมดี้ หรือหนังไซ-ไฟ แต่แท้จริงแล้ว นี่คือหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกอย่างน่าสนใจ

เมื่อ “มาร์ตี้ แม็กฟลาย” ตัวละครเอกของเรื่อง เดินทางย้อนเวลากลับไปยังปี 1955 ด้วยเหตุบังเอิญ เขาจึงต้องกลายไปเป็นเพื่อนของชายหนุ่ม ที่จะแก่ตัวมาเป็นพ่อของตนเองในอนาคต

จากนั้น มาร์ตี้ต้องชักชวนให้ “พ่อ” เริ่มต้นสานสัมพันธ์กับหญิงสาว ที่จะกลายเป็นแม่ของเขา

ก่อนที่ทั้งคู่จะแต่งงาน สร้างครอบครัว และให้กำเนิดมาร์ตี้ในเวลาต่อมา

ในแง่หนึ่ง Back To The Future จึงเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของบุตรชาย ซึ่งต้องย้อนเวลากลับไปช่วยเหลือผู้เป็นพ่อ (ให้คบหากับแม่) เพราะมิฉะนั้น ตัวเขาเองก็ไม่อาจจะลืมตาขึ้นมาดูโลกได้

นี่เป็นการเล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก ในระดับลึกซึ้งที่สุด

 

Like Father, Like Son

หนังของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น “ฮิโรคาซึ โคเระเอดะ” ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “กวี” ที่มักถ่ายทอดเรื่องราวว่าด้วย “ช่วงชีวิตเยาว์วัย” ออกมาผ่านภาพเคลื่อนไหวอันลึกซึ้งสะเทือนอารมณ์

หนังตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ธรรมชาติ” กับ “วัฒนธรรม” (การอบรมบ่มเพาะทางสังคม) ผ่านเรื่องราวของพ่อ-ลูก สองคู่

เมื่อสถาปนิกผู้ประสบความสำเร็จในเมืองหลวง เพิ่งตระหนักว่าลูกชายวัย 6 ขวบของตนเอง ไม่ใช่ทายาทที่แท้จริงของเขา ในทางตรงกันข้าม ลูกชายตัวจริงของเขา กลับถูกนำไปเลี้ยงดูโดยครอบครัวช่างไฟฟ้าที่มีฐานะยากจน

ทั้งสองครอบครัวจึงมาพบปะกันเพื่อหาทางเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้น “พ่อชนชั้นกลาง” ก็ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจใน “ลูกอีกคน” ของตนเอง ไปพร้อมๆ การพยายามประคับประคองรักษาสายสัมพันธ์กับ “ลูก” ที่ตนเลี้ยงดูมานานหลายปี

อันจะนำไปสู่ความเข้าใจถ่องแท้ว่าความหมายของ “ความเป็นพ่อ” นั้นคืออะไร?

 

Finding Nemo

หนึ่งในภาพยนตร์แอนิเมชั่นระดับคลาสสิคของค่ายพิกซาร์ ผลงานการกำกับฯ ของ “แอนดรูว์ สแตนตัน” ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันน่าประทับใจระหว่างพ่อปลากับลูกปลาคู่หนึ่ง

ประเด็นสำคัญของหนังมีอยู่สองประการ ข้อแรก คือ ภาวะอับจนหนทางของผู้เป็นพ่อ (ซึ่งต้องออกตระเวนตามหาลูกที่หายตัวไป)

ข้อสอง คือ ทางสองแพร่งอันตึงเครียดที่ “พ่อ” แทบทุกรายต้องเผชิญ ระหว่างความต้องการจะให้ลูกๆ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด กับ การปล่อยให้พวกเขาออกเดินทางไปเรียนรู้เผชิญโลกกว้าง และเลือกตัดสินใจด้วยตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน

 

The Lion King

ภาพยนตร์การ์ตูนจากค่ายดิสนีย์เมื่อปี 1994 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์ “Hamlet” ของ “วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์”

ทว่า ตัดทอนองค์ประกอบเรื่องคาวเลือดและความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจออกไป

หนังนำเสนอเรื่องราวของสิงโตน้อยที่เพิ่งสูญเสียพ่อ ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้กำเนิด และเป็นครูผู้สั่งสอนชี้แนะลูกชายให้เข้าใจในวิถีทางแห่งความเป็น “พญาราชสีห์”

ความสัมพันธ์ระหว่างสิงโตพ่อลูกในหนังการ์ตูนเรื่องนี้ดำรงอยู่อย่างมีเอกลักษณ์ เพราะผู้เป็นพ่อไม่พยายามหลบเลี่ยงที่จะเน้นย้ำให้ลูกได้ตระหนักว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า ลูกจะต้องใช้ชีวิตของตนเอง โดยไม่มีพ่อคอยปกป้องคุ้มครองอีกต่อไป

หลังสูญเสียพ่อ ลูกสิงโตตัวน้อยค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้น และพบว่าแท้จริงแล้ว “พ่อ” ไม่ได้จากตนเองไปไหน แต่คำสอนของพ่อยังคงคอยชี้แนะนำทางเจ้าป่ารายใหม่อยู่เสมอ

แม้จะไม่มีใครต้องการเผชิญหน้ากับภาวะที่ต้องสูญเสียบิดา-มารดาผู้เป็นที่รัก แต่ The Lion King ก็ถือเป็นภาพยนตร์อีกเรื่อง ซึ่งนำเสนอประเด็นว่าด้วย “วงจร/อนิจลักษณะของชีวิต” ออกมาได้อย่างชัดเจนและน่าเคารพ

แปลและเรียบเรียงจาก

“10 perfect movies about fatherhood” โดย Robbie Collin (http://www.telegraph.co.uk/films/2016/06/17/the-best-movies-for-fathers-day/)

22 Great Father & Son Movies โดย The Playlist Staff (http://www.indiewire.com/2013/03/22-great-father-son-movies-100130/4/)