วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / สงครามเวียดนาม : เราสู้ (2)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

สงครามเวียดนาม : เราสู้ (2)

 

เบิร์นส์ ผู้กำกับหนังมีทั้งเนื้อหาและสไตล์ ทีมของเขาสร้างหนังสารคดีประวัติศาสตร์มาแล้วหลายเรื่อง เช่น The Civil War (1990), Baseball (1994), Jazz (2001), The War (2007) และ The Roosevelts (2014) แต่ที่โด่งดังเพราะทำให้เคนเบิร์นส์เอฟเฟ็กต์ (Ken Burns effect) ชื่อของการใช้ภาพนิ่งด้วยการแพนและซูม เป็นที่รู้จักกันมากในวงการหนังอเมริกัน

เบิร์นส์ไม่ได้ปกปิดว่าเทคนิคนี้ทำกันนานแล้ว แต่มีชื่อนั้นเพราะเขาใช้มากในหนัง The Civil War (1990) และบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังปี ค.ศ.1957 ชื่อ City of Gold ของเจอโรม ลิบลิง เทคนิคนี้ทำให้ผู้ดูเห็นรายละเอียดมากขึ้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงใช้กันมากในหนังสารคดี โดยเฉพาะเมื่อไม่มีภาพเคลื่อนไหวให้ใช้

เช่น ถ้ามีภาพหมู่ของทีมฟุตบอล กล้องจะแพนเพื่อโชว์ผู้เล่นแต่ละคน แล้วมาหยุดตรงใบหน้าของคนที่เราจะพูดถึง

นอกจากนั้น ยังเป็นที่รู้จักกันมากเพราะอยู่ใน iMovie ของแอปเปิ้ล

เบิร์นส์เล่าว่า ในปี พ.ศ.2545 สตีฟ จ๊อบส์ เชิญเขาไปหาเพื่อบอกว่า คอมพิวเตอร์แมคคินทอชทุกตัวที่ออกมาปีหน้าจะมี Ken Burns effect และอยากใช้ชื่อนี้ เบิร์นส์ตกลงแต่ไม่รับเงิน เขาขอให้บริษัทแอปเปิ้ลตอบแทนด้วยการบริจาคอุปกรณ์บางส่วนให้แก่องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร

อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้เหมาะสำหรับข้อเสนอที่ใหม่ เบิร์นส์รู้ว่าสงครามเวียดนามเกิดขึ้นในยุคทองของทีวี ซึ่งภาพต่างๆ ล้วนเคยถูกเห็น ข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ ล้วนเคยถูกพูดถึงกันมาแล้ว เขาจึงไม่ใช้เทคนิคนี้มากนัก หรือพูดอีกอย่าง The Vietnam War เป็นหนังที่ไม่ได้เสแสร้งทำเป็นใหม่

เทคนิคนี้จึงถูกใช้เพียงเพื่อเน้นว่าผู้ให้สัมภาษณ์เคยอยู่ในเหตุการณ์จริง

การสัมภาษณ์ไม่ได้มีแต่อารมณ์ แต่มีความหมายต่อสารของหนัง นอกจากฟุตเทจจำนวนมาก คำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งแปดสิบคน จะสร้างความเข้าใจในสถานการณ์แต่ละช่วงด้วย

เช่น เรื่องของเดนตัน คร็อกเกอร์ หรือโมกี้ นาวิกโยธินจากซาราโตก้า และมาเวียดนามขณะอายุสิบเก้า เป็นตัวอย่างของคนที่สู้เพราะเชื่อว่าสงครามนี้เป็นธรรม อเมริกาคือพระเอกและช่วยเหลือหรือปกป้องผู้อื่นได้ เมื่อได้เห็นและได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ผู้ดูจะเข้าใจว่าความเชื่อนี้สืบทอดมาจากคนรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 ผสมกับความคิดยุคสงครามเย็น นั่นคือเวียดนามเหนือคือภัยร้ายของอเมริกาและโลก

ดังที่บอกมาแล้ว บรรดาคนที่เป็นทหารมีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ สีผิว และชนชั้น ทั้งอเมริกันกับเวียดนาม และนายทหารกับพลทหาร หรือที่มาจากกองทัพเดียวกัน

ดังนั้น ในขณะที่คร็อกเกอร์สู้เพราะความเชื่อ แต่คนอื่นๆ เช่น รอเจอร์ แฮริส สู้เพราะความจำเป็น เขาเน้นว่าแม้สิ่งที่ทำจะสกปรกหรือผิดทำนองคลองธรรมสักแค่ไหน ก็ต้องทำ

และทำให้ผู้ดูเห็นการเปลี่ยนแปลงของบางคน เช่น จอห์น มัสเกรฟ ที่ปรากฏตัวในหลายตอน เมื่อเรื่องคืบหน้าไป เขาจะเปลี่ยนแปลงจากทหารที่เกลียดศัตรูที่เป็นคอมมิวนิสต์ กลายเป็นผู้ต่อต้านสงครามเวียดนาม

 

ในแง่นี้ การปรากฏตัวของรอเบิร์ต แม็กนามารา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลเคนเนดี้และจอห์นสัน และกำหนดลักษณะหลายอย่างของสงครามจึงมีความหมาย แม็กนามาราริเริ่มการใช้วิชาสถิติในการรบ ซึ่งเป็นที่มาของยุทธศาสตร์อีกมากมายที่พิสูจน์ว่าไม่ได้ผล เช่น การนับศพ หรือ body count

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 แม้จะยังเชื่อในภัยคอมมิวนิสต์ แต่ความคิดว่าเวียดนามเป็นภัยต่ออเมริกากำลังเสื่อม เป้าหมายของทหารอเมริกันในตอนนั้น ไม่ใช่การโจมตีเวียดนามเหนือ แต่เป็นการคุ้มครองเวียดนามใต้ นโยบายนี้ทำให้การวัดความสำเร็จของการรบแต่ละครั้งทำได้ยาก จึงหันไปหาการนับจำนวน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่แสดงว่าอเมริกากำลังชนะและเวียดกงกำลังแพ้

แต่ body count ทำให้เกิดการฆ่าชาวบ้านที่บริสุทธิ์ และเนื่องจากนายทหารรู้ว่าการนับศพนำไปสู่การเลื่อนยศ จึงทำเกิดคอร์รัปชั่นมากมาย นายทหารอเมริกันบางคนบอกว่าการนับศพหมายถึงถูกสั่งให้ได้ศพตามโควต้าที่ต้องการ และทั้งๆ ที่ยังยึดถือเป็นยุทธศาสตร์มาตรฐาน แต่ไม่มีใครเชื่อในสิ่งนี้อย่างจริงจัง

นอกจากนั้น ยังมีการแปรหมู่บ้านให้เป็นแฮมเล็ต หรือ Strategic Hamlets หรือหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ให้มีลักษณะคล้ายค่ายทหารมากขึ้น ซึ่งชาวบ้านนับแสนจะถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ในนั้น

ในหนัง นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเล่าถึงแม็กนามารา ขณะไปเยี่ยมแฮมเล็ตแห่งหนึ่งในเวียดนาม ซึ่งเขาได้สังเกตเห็นว่าชาวบ้านในหมู่บ้านเหล่านั้น มีสีหน้าที่เกลียดชังชาวอเมริกันมาก

แม้ในยุคต่อมา แม็กนามาราจะบอกว่าทฤษฎีโดมิโนนั้นไม่จริง ยิ่งกว่านั้น ยังยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของสหรัฐที่เข้าไปแทรกแซงกิจการของเวียดนาม แต่เขาก็ได้ชื่อว่ามีส่วนสร้างความรุนแรงและโหดร้ายขึ้นมา

และเมื่อรวมกับอีกหลายกรณี เช่นการสังหารโหดที่หมู่บ้านมีลาย ทำให้โลกหันมาสนใจความรุนแรงและโหดร้ายของทหารอเมริกันมากขึ้น มีการเปิดโปงว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในกองทัพและเติบโตอย่างเป็นระบบ

 

คําตอบว่า “เราสู้” เพื่ออะไรนั้น มีทหารและพลเรือนเวียดนามหลายคนบอกว่าไม่ได้พูดถึงสงครามนี้มาหลายสิบปีแล้ว นายพลคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นสงครามที่มีราคาสูงและอาจจะสูงเกินไป อีกคนบอกว่าปัญหาคือถ้าไม่ยอมพูดถึงสงครามนี้ จะอธิบายให้คนรุ่นหลังว่ามันคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปได้อย่างไร?

เบ๋าหนิน ซึ่งในหนังบอกเพียงว่าเคยเป็นทหารเวียดนามเหนือ จริงๆ แล้วเบ๋าหนินเป็นนามแฝงของนักเขียนชื่อดัง เจ้าของนิยายที่เป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกคือ The Sorrow of War (1994) ในระหว่างสงคราม เบ๋าหนินอยู่หน่วยที่มีคนกว่าห้าร้อยแต่ตายในการสู้รบเกือบหมด เขาเป็นเพียงหนึ่งในสิบที่รอดชีวิตมาได้

เขาบอกว่าการสรรเสริญชัยชนะนั้นกลวงเปล่า และ “ชนะหรือแพ้ไม่ใช่ประเด็น ในสงครามเวียดนาม ไม่มีใครชนะหรือแพ้ มีแต่ความพินาศ คนที่ไม่เคยรบจึงจะเถียงกันเรื่องนั้น”