คำ ผกา : หลีดธรรมศาสตร์ผิดตรงไหน?

คำ ผกา

กิจกรรมคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นข่าวดราม่าว่าด้วย โป๊ เปลือย ความเป็นไทย ความเหมาะสม ศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัย

ก่อนจะมาจบลงตรงที่ทางฝ่ายนักศึกษาออกมาชี้แจงว่า การคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปีนี้ มีธีมคือ “campaign body image ว่าด้วยการเปิดเผยตัวตน ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าจะหน้าตา สีผิว อะไรยังไง ก็มีสิทธิ์เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้”

และเรื่องมันก็เริ่มที่อาจารย์จากนิด้าคนหนึ่ง ถ่ายรูปนี้ลงเฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมกับความเห็นว่า นึกว่าป้ายแถวรัชดา ห้วยขวาง แต่ก็สวยดี ทำใจกว้างๆ หน่อย

ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว สิ่งแรกที่ผุดเข้ามาในหัวของฉันคือ คำว่า “รัชดา-ห้วยขวาง” สำหรับคนไทยที่ไม่ไร้เดียงสานักก็ต้องรู้ว่าเป็นย่านอาบอบนวด

ดังนั้น การที่บอกว่า ป้ายคัดหลีดธรรมศาสตร์นี้คล้ายป้ายแถวรัชดา ห้วยขวาง แต่ก็สวยดี นัยของมันก็คือ “เป็นนักศึกษาแล้วทำไมไปถ่ายรูปออกมาเหมือนรูปโฆษณาอาบอบนวด”


ธุรกิจอาบอบนวดก็เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เสียภาษีให้รัฐบาล คนประกอบอาชีพหมอนวดเขาก็ทำอาชีพสุจริต ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

ส่วนผู้ชายคนไหนจะหน้าโง่ เอาเงินมาเที่ยวอาบอบนวดจนหมดเนื้อหมดตัว ก็เป็นความโง่ ความบ้าของผู้ชายคนนั้นเอง ไม่ใช่ความผิดของหมอนวด เพราะหมอนวดเขาก็แค่ทำงานของเขา

แล้วอย่ามาแก้เกี้ยวว่า นี่คือการชมว่า “สวยดี” เพราะประโยคของอาจารย์คนนี้จบด้วยคำว่า “ทำใจกว้างๆ หน่อย” ซึ่งมีนัยอีกว่า การจะยอมรับว่า ความสวยแบบ “หมอนวด” นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อต้อง “ทำใจให้กว้าง” เท่านั้น ใจปกติ ใจธรรมดา ไม่อาจเห็นว่าสวยได้

จากนั้นก็สำทับด้วย ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า “ไม่อยากเชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อขึ้นต้นว่าธรรม จะตกต่ำได้ขนาดนี้”

อื้อหือ…กะอีแค่เด็กถ่ายรูป head shot คือ การถ่ายภาพศีรษะ ใบหน้า และไม่ต่ำกว่าไหล่ แค่เนี้ยนะ!? คืออะไร ยังไง ไปอยู่ที่ไหนกันมา? เพราะโปสเตอร์นี้ไม่มีอะไรที่ตรงไหน ที่ดูโป๊ เปลือย อนาจารเลยแม้แต่น้อย แล้วมันจะทำให้ความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกต่ำที่ตรงไหน?

จะบอกให้นะว่า ความตกต่ำของสถาบันการศึกษาที่เรียกมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้ตกต่ำลงเพราะเด็กมันถ่ายภาพ head shot ทำโปสเตอร์คัดตัวหลีด

ความตกต่ำของมหาวิทยาลัยคือการมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยสนับสนุนการทำรัฐประหาร เข้าไปสังฆกรรมกับอำนาจรัฐของกลุ่มคนที่ปล้นอำนาจประชาชน

ความตกต่ำของมหาวิทยาลัยคือการที่มีครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปขึ้นเวทีเป่านกหวีดเรียกร้องให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มการเลือกตั้ง ไม่เคารพกติกาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เกลียดรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ออกมาประท้วงได้ แต่ประท้วงเพื่อให้รัฐบาลลาออก ยุบสภา เป็นเรื่องที่รับได้ เป็นไปตามครรลอง

แต่ไม่ใช่ออกมาเพราะจะเอาการปฏิรูปประเทศทางลัด เซ็ตซีโร่ อ้างเรื่องคอร์รัปชั่น เผาบ้านทั้งหลังเพื่อไล่หนูตัวเดียว

สุดท้ายพบว่า เผาบ้านไปจนหมดหลังแล้ว หนูยังอยู่กันพึ่บพั่บไปหมด รวมทั้งเหล่าหนูที่ไปเอาหน้ากากแมวมาใส่ อ้างว่า ข้านี่แหละจะมาปราบโกง เอ๊ย ปราบหนู

ในสายตาของชาวโลกที่มีอารยะนั้น สิ่งที่น่าอายที่สุด การมีอยู่ของสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ไม่ยอมยืนหยัดอยู่ข้างหลักการประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชน ไม่ใช่การที่นักศึกษาถ่ายรูปเปลือยไหล่

ไม่เพียงเท่านั้น คุณค่าของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่นักศึกษาจะแก้ผ้าถ่ายรูป หรือนุ่งผ้าถ่ายรูป มหาวิทยาลัยจะเป็นที่ยอมรับนับถือ มีชื่อเสียงแค่ไหน ย่อมวัดกันที่คุณภาพของงานวิจัย งานวิชาการ และการเป็น “คลังทางปัญญา” ของสังคม

ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยแต่ละแห่งต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ว่า ได้ทำหน้าที่นี้แล้วหรือยัง

คลังทางปัญญาหมายถึงอะไร? มหาวิทยาลัยมีมิวเซียม มีโรงละคร มีหอนิทรรศการ มีหอจดหมายเหตุ มีกิจกรรมทางปัญญาอะไรที่ contribute ให้กับเมือง กับชุมชนของตัวเอง อย่างเต็มศักยภาพหรือไม่?

มหาวิทยาลัยท้องถิ่นแต่ละแห่งได้ทำหน้าที่ขุดค้น แสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชน เมือง ที่ตนเองตั้งอยู่หรือไม่?

มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นคลังทางปัญญา เป็นที่อยู่อาศัย ทำมาหากินของปัญญาชน ได้ใช้สมอง ใช้ทรัพยากรที่ตนเองมีเพื่อทำอะไรบางอย่างให้สังคมเกิดความเป็นธรรมบ้างหรือไม่?

ไม่ได้บอกว่า มหาวิทยาลัยต้องต่อต้านนายทุน เป็นฝ่ายซ้าย -ไม่ใช่- เพราะฉันก็เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยก็ต้องทำมาหากิน แต่ถ้ามหาวิทยาลัยจะรับเงินทุน เงินวิจัย เงินช่วยเหลือ เงินบริจาค จากบรรษัทขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยจะบาลานซ์ผลประโยชน์ที่ได้จากภาคธุรกิจกับความเป็นธรรมทางสังคมตามอุดมการณ์ที่ควรจะเป็นอย่างไร?

แต่สิ่งที่เราเห็นในมหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้ มันช่างน่าละอาย ไร้ศักดิ์ศรี ยิ่งมหาวิทยาลัยใหญ่และดังระดับประเทศ ในแคมปัสกลับเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านกาแฟ สาขาของอุตสาหกรรมผูกขาดระดับประเทศแบรนด์นั้นแบรนด์นี้เต็มไปหมด

ป้ายต่างๆ ก็พ่วงมาด้วยการ tie in ชื่อบริษัทที่เข้ามาสนับสนุนมหาวิทยาลัยในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน ไร้รสนิยม

ไม่เพียงแค่นั้น มหาวิทยาลัยไทยที่สอนสถาปัตยกรรม สอนผังเมือง สอนภูมิสถาปัตย์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กลับไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่สามารถออกแบบแคมปัสของตนเองให้สวยงาม ร่มรื่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีตึกดีไซน์เก๋ๆ ล้ำๆ มีนวัตกรรมอันน่าทึ่งให้สมกับอุตส่าห์มีคณะนี้ มีสาขานี้เปิดสอนอยู่

เผลอๆ ตัวตึกของคณะสถาปัตยกรรมเอง ยังมีการออกแบบภูมิทัศน์ ออกแบบตึกที่เราต้องเลิกคิ้วว่า เฮ้ยยย ทำไมมันไม่สวยสมกับเป็นที่เรียนที่สอนสถาปัตย์เลย???

นึกออกไหม นี่เป็นความคาดหวังของชาวบ้าน ถ้าคุณสอนวิชาบรรณารักษ์ เราก็อยากเห็นว่า ห้องสมุดคุณตอนนี้ “ล้ำ” ไปถึงไหนกับเทคโนโลยีปัจจุบันแล้ว คุณไปลิงก์กับคณะวิศวะเอาหุ่นยนต์อะไรมาใช้ในห้องสมุดหรือยัง คุณมีการจัดเก็บเอกสาร หนังสือ ที่มันว้าวอย่างไรบ้าง?

ถ้าคุณสอนนิเทศฯ เราก็อยากเห็นคณะคุณมีเพจ หรือมีเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ หรือ “สื่อใหม่” อะไรสักอย่างที่มันสมศักดิ์ศรีกับการเป็นคณะนิเทศฯ วารสารอะไรของคุณด้วย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็แบบนี้ สอบ T CAS กันปีแรก ก็ต้องให้เด็ก ม.6 ออกมาด่ากันเสียงขรม แล้วก็ออกมาแก้เกี้ยวกันว่า แหม ปีแรกก็ผิดพลาดเป็นธรรมดา

เป็นธรรมดา???? ก็ได้ด้วยเหรอ???? นี่มันอนาคตของเด็ก ม.6 ทั้งประเทศ ถ้าคนระดับหัวกะทิ ผู้บริหาร มันสมองในมหาวิทยาลัยทำงานกันได้แค่นี้

นี่แหละที่เรียกว่าความตกต่ำ ความน่าอายของการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย

มิพักต้องพูดถึงโลกทัศน์ของครูบาอาจารย์ที่ยังมานั่งเหยียดรังเกียจความเป็น “ห้วยขวาง รัชดา” อย่างดัดจริตอันหาที่เปรียบไม่ได้

ไม่อายใครก็ช่วยอายตัวเองด้วยเวลาจะเขียนอะไรแบบนี้ออกมา

ความตกต่ำ ความน่าละอายของสถาบันอุดมศึกษาและของมหาวิทยาลัยไทย ไม่ใช่การที่นักศึกษาออกมาถ่ายรูป head shot ทำโปสเตอร์

และออกมาพูดอะไรเชยๆ แบบเพื่อเปิดเผยตัวตน สีผิวอะไร หน้าตายังไงก็เป็นหลีดได้ เพราะในรูปนั้นก็เลือกคนหน้าตาดีหมด แถมยังโฟโต้ช็อปอีก!!!

เปิดเผยม้ากกมากคร่า ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นม้ากมากคร่า

ความน่าละอายของมหาวิทยาลัยไทยไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ตรงที่มหาวิทยาลัยไทยช่างอยู่ไกลจากคำว่า academics แต่อยู่ใกล้กับความเป็นโรงเรียนหมีน้อย มุ้งมิ้ง ใส่เครื่องแบบ เด็กน่ารัก เชื่อฟัง เคารพครูบาอาจารย์

วันดีคืนดีอาจารย์ก็ลุกมาแต่งชุดนักศึกษาโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ดูสิ ชุดนักศึกษาดีจะตาย ทำไมไม่อยากใส่กัน มีรับน้อง ห้อยป้ายชื่อ รักกันๆ พี่น้องกัน สถาบันเดียวกัน มีความภูมิใจในป้าย ในเครื่องแบบ ในเข็ม ในหัวเข็มขัด ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับความเป็น “วิชาการ” และเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ผ่านการโต้เถียง ขัดแย้ง ท้าทาย ขัดขืน

พูดสั้นๆ ความน่าละอายของมหาวิทยาลัยไทยสำหรับฉันคือการกลายเป็นเครื่องมือสืบทอดอุดมการณ์อนุรักษนิยม เจ้ายศเจ้าอย่าง เป็นส่วนหนึ่งของทั้งระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยมได้ครบวงจรในนั้น

แล้วจะคาดหวังให้นักศึกษาเขาทำอะไรได้มากกว่าเอาพลังงานไปทุ่มเทให้กับการคัดตัว “หลีด” เล่า