ความสุนทรีย์ที่แตกต่าง คุณชอบแบบไหนอย่าได้เอาไปตัดสินแทนคนอื่น!

จากที่กล่าวมาพอเป็นสังเขปกับภาพรวมกว้างๆ เที่ยวก่อน ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าการทำงานของแอมป์หลอดนั้น ไม่ได้มีส่วนไหน หรือมีอะไรที่ดีพอ ที่จะสามารถนำมาเทียบเคียงกับแอมป์โซลิด สเตต ได้เลย โดยเฉพาะในแง่ของการให้เสียงในย่านความถี่ต่ำ ที่จะว่าไปแล้วเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนเล่นเครื่องเสียงมักจะถามถึงเครื่องหรือลำโพงที่กำลังสนใจ ทำนองว่า “มีเบสไหม” ก่อนจะตัดสินใจขั้นต่อไปคือ ไปฟังของจริง

และหากคำตอบไม่เป็นที่น่าสนใจพอ เช่นแบบว่าก็พอมี หรือบางไปหน่อย หรือก็งั้นๆ ส่วนใหญ่พอได้ยินดังที่ว่า ก็มักจะเลิกให้ความสนใจในเครื่องหรือลำโพงนั้นๆ ไปเลย

ทั้งๆ ที่ในความหมายของคำตอบเรื่องเบสเชิงลบข้างต้นนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถนำมาตัดสินภาพรวมของเครื่อง หรือลำโพงนั้นๆ ได้เลย เพราะในความที่อาจจะไม่มีเบส หรือเบสน้อยไปหน่อย เครื่องหรือลำโพงนั้นอาจจะให้ไดนามิกได้ดี มีอิมเมจและให้มิติเสียงออกมาได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งยังมีความโดดเด่นด้านอื่นๆ ที่สามารถกลบข้อด้อย (อันอาจจะมีจริงเพียงเล็กน้อย) ในเรื่องเบสได้ด้วยซ้ำไป

และนั้นเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับครับ ว่าความสนใจแรกของคนส่วนใหญ่ที่เริ่มจะเล่น หรือเล่นเครื่องเสียงใหม่ๆ มักจะให้ความสำคัญกับ “เสียงเบส” เป็นอันดับแรก

กลับมาที่เรื่องแอมป์หลอดกับแอมป์โซลิด สเตต กันต่อครับ

ดังที่ได้บอกไปว่าภาพรวมของแอมป์หลอดนั้น มันออกจะอ่อนด้อยในเรื่องของเสียงเบสเมื่อเทียบกับแอมป์โซลิด สเตต แล้วทำไมจึงยังมีคนนิยมใน “เสียงหลอด” กันอยู่อีกเล่า

คำตอบง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ “เสน่หา” ที่เกิดขึ้นมาจากความพร่าเพี้ยนเล็กๆ ตามธรรมชาติครับ กล่าวคือการทำงานของเครื่องหลอดนั้นจะมี “ความถี่ควบคู่ในสัญญาณเสียง” หรือที่เรียกว่า Harmonic เกิดขึ้นตลอดเวลา

และไอ้เจ้าฮาร์โมนิกที่ว่านี้เอง ที่ฟังคล้ายเสน่ห์เสียง เพราะมันจะทำให้รู้สึกว่าน้ำเสียงนั้นอบอวลไปด้วยความอบอุ่น นุ่มนวล และฉ่ำหวาน ให้ความกลมกลืนของเสียงดนตรีโดยรวมที่มีความสุนทรีย์อันน่าฟังยิ่ง

ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วเหล่านั้นคือความเพี้ยนประการหนึ่ง จึงทำให้ในมาตรฐานการออกแบบเครื่องเสียง ต้องมีข้อกำหนดในการจำกัดค่าความเพี้ยนนั้นโดยรวมเอาไว้ด้วย ซึ่งก็คือ Total Harmonic Distortion หรือ THD ใน Specification ของเครื่องนั่นเอง

เป็นความพร่าเบลออันนุ่มเนียนที่ชวนเสน่หาน่าฟังของเสียงดนตรี ที่หากเปรียบกับภาพถ่ายก็เสมือนภาพที่ถ่ายผ่าน Soft Filter ซึ่งบางคนดูแล้ว เห็นแล้ว บอกว่ามันได้ Feeling มากกว่าภาพที่มีความคมชัดและพรั่งพร้อมไปด้วยรายละเอียดเป็นไหนๆ อะไรทำนองนั้นแหละครับ

ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปธรรม ที่เห็นได้ด้วยตา หรือเรื่องของนามธรรมอย่างเสียงดนตรี ที่ใช้ประสาทหูสัมผัส ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องความชอบที่เป็นส่วนตัวของแต่ละคนซึ่งย่อมแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น อย่าไปคล้อยตามลมปากหรือตัวหนังสือ ที่ใครเขาว่าอะไรดีอะไรด้อยกว่ากันเลยครับ

โดยเฉพาะเรื่องของเครื่องเสียงและเสียงดนตรี เชื่อหูตัวเองดีที่สุดครับ

อย่างไรก็ตาม, ก็มีผู้ผลิตบางรายที่นำจุดเด่นที่มีอยู่ในเครื่องทั้งสองประเภทเข้ามารวมไว้ในเครื่องเดียวกัน แบบที่เรียกว่าแอมปลิไฟเออร์แบบ Hybrid คือใช้การทำงานทั้งหลอดสุญญากาศและทรานซิสเตอร์ รวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน โดยแยกภาคการทำงานกันและกันอย่างชัดเจน แต่ให้ผลลัพธ์หรือภาพรวมของเสียงออกมาได้ดีเป็นที่น่าพอใจ

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง Hybrid หรือลูกผสมนี้ มิใช่มีแต่ในพวกอิเล็กทรอนิกส์ หรือเฉพาะแต่เครื่องเสียงอย่างแอมปลิไฟเออร์เท่านั้น หากแต่ในอุตสาหกรรมลำโพงก็มี Hybrid Speaker ให้เห็นเช่นเดียวกัน

กล่าวคือ ลำโพงที่ใช้กันในชุดเครื่องเสียงนั้น โดยหลักๆ แล้วสามารถแยกออกได้เป็นสองประเภทคือ ลำโพงแผง กับลำโพงตู้ พวกลำโพงแผงก็มีอย่าง Electrostatics กับ Planar ส่วนพวกลำโพงตู้ หรือลำโพง Dynamic ก็คือลำโพงที่ใช้ชุดตัวขับเสียง หรือ Driver ในการทำงานให้เสียงออกมาในย่านความถี่ต่างๆ ประกอบไปด้วยทวิตเตอร์ให้เสียงในย่านความถี่สูง มิดเรนจ์ให้เสียงในย่านความกลาง และวูฟเฟอร์ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำ โดยจะมีระบบการทำงานแบบที่เรียกว่า ระบบ 2-Way หรือสอง-ทาง ซึ่งใช้ไดรเวอร์สองตัว คือทวิตเตอร์กับมิด/เบส ไดรเวอร์ ระบบ 3-Way หรือสาม-ทาง ก็จะมีครบทั้งทวิตเตอร์ มิดเรนจ์ และวูฟเฟอร์

นั้น, ว่าถึงลำโพงตู้ส่วนใหญ่นะครับ เพราะในกลุ่มลำโพงตู้เองก็มีระบบการทำงานที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับการออกแบบ อาทิ ระบบ 2-1/2 Ways หรือระบบสองทางครึ่ง บ้างก็เป็นระบบ 3-Way, 4-Driver คือทำงานในระบบสามทาง แต่ใช้ชุดตัวขับเสียงสี่ตัว, อะไรทำนองนี้

รวมทั้งยังมีประเภทใช้ตัวขับเสียงเพียงตัวเดียว แต่ทำงานครบทุกย่านความถี่เสียงแบบที่เรียกว่า Full-Range Driver ซึ่งก็พอมีให้เห็นอยู่บ้างเช่นกัน

ส่วนพวกลำโพงแผงนั้น หลักๆ แล้วจะใช้แผง Ribbon หรือแถบเส้นโลหะหรือแผ่นฟิล์มบางๆ เคลือบโลหะแบบริบบิ้น ทำหน้าที่รับสัญญาณทางไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนมาเป็นคลื่นเสียงด้วยการสั่นไหว ซึ่งลำโพงประเภทผงส่วนใหญ่จะเป็นที่ยอมรับกันว่าให้เสียงกลาง/แหลมออกมาได้ดี แต่เสียงเบสจะสู้พวกลำโพงไดนามิกหรือลำโพงตู้ไม่ได้

ก็เลยมีผู้ผลิตบางรายหันมาออกแบบลำโพงที่มีลักษณะการทำงานแบบ Hybrid คือผสมผสานกันระหว่างแผงริบบิ้นกับตัวขับเสียง โดยย่านความถี่กลาง/แหลมเป็นหน้าที่ของแผงริบบิ้น ส่วนย่านความถี่ต่ำ ก็จะเป็นหน้าที่ของไดรเวอร์อย่างพวกวูฟเฟอร์ หรือมีการผนวก Sub-Woofer เข้ามาในลำโพงแผงที่ทำงานครบย่านความถี่ออดิโอตามปกติ แต่เพิ่มพลังเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ให้มากขึ้นด้วยไดนามิก ไดรเวอร์

ซึ่งหน้าตาของลำโพงประเภทนี้มักจะเหมือนๆ กันคือ โครงสร้างตอนล่างจะมีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยม และเหนือตู้ขึ้นไปก็จะมีลักษณะเป็นแผง หรือแผ่นบางแบบโปร่ง ที่โครงสร้างรวมทั้งหมดอาจจะสูงเทียมหัว หรือท่วมศีรษะก็ได้

ทั้งนี้, ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแอมป์หลอดกับแอมป์โซลิด สเตต หรือลำโพงไดนามิกกับลำโพงแผง หรือทั้งพวกลูกผสมทั้งเครื่องและลำโพง ทั้งหมดต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเองทั้งสิ้น จะให้บอกว่าแบบไหน หรืออะไร เสียงดีกว่ากัน มันขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนเป็นสำคัญ ไม่มีอะไรถูกหรือผิดดอกนะครับ

บางคนที่บอกว่าหลอดดีกว่า นั้น, จริงๆ แล้วเป็นเพราะเขาชอบเสียงแบบนั้นมากกว่า

ในขณะที่บางคนบอกว่าโซลิด สเตต ดีกว่า นั้น, ก็เป็นเพราะเขาชอบเสียงแบบนั้นมากกว่าเช่นกัน

รวมทั้งเรื่องความแตกต่างของระบบการทำงานในลำโพงด้วย ใคร “ชอบ” เสียงแบบไหน ก็หาได้แสดงว่าเสียงแบบนั้นมัน “ดี” พอต่อความชอบของคนอื่นเขาด้วยเช่นเดียวกัน

และถ้าคุณชอบแบบไหน นั่นคือมันดีพอสำหรับคุณ แต่อย่าได้เอาไปตัดสินแทนคนอื่นเขาละกัน

เพราะมันเป็นเรื่องของความสุนทรีย์ที่ “ชอบ” แตกต่างกันโดยแท้นั่นเอง