คนมองหนัง : “ชิต บุรทัต” กับ “หนังไทย” สมัยแรกเริ่ม “เสือ-สิงห์-มือปืน” ภาพแทน “สังคม” 3 ยุค

คนมองหนัง

วันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสไปร่วมฟังการนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการภาพยนตร์ศึกษา ครั้งที่ 8 ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา

โดยส่วนตัว รู้สึกสนุกสนานกับ “สองเปเปอร์” ที่นำเสนอในการเสวนาหัวข้อแรก ซึ่งมีธีมว่าด้วย “ประวัติศาสตร์ กับ ภาพยนตร์”

จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

“ชิต บุรทัต”

กับ “สื่อสิ่งพิมพ์ภาพยนตร์ไทย” ทศวรรษ 2460

“อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพร้อมกับงานศึกษาเรื่อง “นางสาวสุวรรณ ของชิต บุรทัต และประวัติศาสตร์สื่อสิ่งพิมพ์ภาพยนตร์ไทยเมื่อ 100 ปีก่อน (ทศวรรษ 2460)”

หลายคนคงทราบว่า “นางสาวสุวรรณ” (2466) คือภาพยนตร์เรื่อง “แรกๆ” ที่แสดงโดยชาวไทย แม้จะเป็นงานสร้างของชาวต่างชาติ

อาชญาสิทธิ์พยายามขยายประเด็นให้ผู้ฟังมองเห็น “ภาพกว้าง” ยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ ยุคเริ่มต้นของ “หนังเงียบไทย” นั้นเกิดขึ้นคู่ขนานกับยุคเฟื่องฟูของ “ทุนนิยมการพิมพ์” ซึ่งมีหนังสืออ่านเล่นแนวร้อยแก้วถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญของ “ภาวะบรรจบกัน” ระหว่าง “หนังเงียบ” กับ “หนังสือ” ก็คือ การผลิตหนังสือเรื่องย่อ/คู่มือชมภาพยนตร์

เอกชนที่รุ่งเรืองจากการผลิตหนังสือประเภทนี้ ได้แก่ “นาย ต. เง็กชวน” ซึ่งทำงานกับบริษัทสยามภาพยนตร์

รูปแบบการทำงานของเขาคือ การว่าจ้างให้นักเขียนฝีมือดีมาดูหนัง แล้วสร้างสรรค์เรียบเรียงบทประพันธ์ (เรื่องย่อ?) ที่จินตนาการหรือได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนั้นๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือ

ปรากฏว่า “นาย ต. เง็กชวน” ประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากธุรกิจการพิมพ์ดังกล่าว

หนึ่งในผลงานที่ “นาย ต. เง็กชวน” ตีพิมพ์ออกมาและวางจำหน่ายเล่มละ 25 สตางค์ ก็คือ หนังสือ “นางสาวสุวรรณ” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย “เจ้าเงาะ” อันเป็นนามแฝงของ “ชิต บุรทัต” กวีเอกสมัยรัชกาลที่ 6

อาชญาสิทธิ์เล่าว่า เมื่อกวีเอกเช่นชิตต้องมาเขียนหนังสือภาพยนตร์ เขาจึงขึ้นต้นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “นางสาวสุวรรณ” ด้วย “โคลง” และ “ร่าย”

น่าสนใจว่า ในยุคนั้นมีเอกชนเจ้าอื่นที่พยายามจัดพิมพ์หนังสือคู่มือชมภาพยนตร์ออกวางจำหน่ายเช่นกัน อาทิ “นายมา”

“นายมา” คือเอกชนสยามรายแรกๆ ที่ประกอบกิจการ “สายส่งและรวมห่อหนังสือ” เขาได้ระดมนักเขียนจาก “สำนักรวมการแปล” มาเรียบเรียงหนังสือคู่มือชมภาพยนตร์เพื่อแข่งขันกับ “นาย ต. เง็กชวน”

สุดท้าย “นายมา” ต่อสู้ในสังเวียน “หนังสือหนัง” ไม่ไหว และต้องพ่ายแพ้ไป อาชญาสิทธิ์วิเคราะห์ว่าสาเหตุสำคัญเป็นเพราะ “นาย ต. เง็กชวน” ทำงานในบริษัทภาพยนตร์ จึงล่วงรู้กระแสข่าวคราวทางการตลาดเป็นอย่างดี แถมยังสามารถยึดพื้นที่การจำหน่ายหนังสือหน้าโรงหนังเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม เกร็ดข้อมูลน่าสนใจที่นักศึกษาปริญญาเอกรายนี้เสนอเพิ่มเติมคือ หนึ่งในนักประพันธ์ของ “สำนักรวมการแปล” ซึ่งมาเขียนหนังสือคู่มือชมภาพยนตร์ให้ “นายมา” นั้น มี “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” รวมอยู่ด้วย

อาชญาสิทธิ์สรุปว่าหนังสือคู่มือชมภาพยนตร์ที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ “หนังไทย” ยุคแรกเริ่มนั้นได้ส่งอิทธิพลไปสู่ยุคผลิบานของงานเขียนร้อยแก้วแนวอ่านเล่นและนวนิยายในกาลต่อมา

เพราะหลังจากนั้น นักประพันธ์ไทยก็เริ่มตื่นตัวที่จะสร้างสรรค์งานเขียนประเภทนี้ขึ้นเอง (โดยรับอิทธิพลจากศิลปะภาพยนตร์) ไม่ใช่อาศัยการแปลงานฝรั่งดังเก่าก่อน

แน่นอนว่า “ชิต บุรทัต” ถือเป็น “ต้นธารสำคัญ” ของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

“เสือ-สิงห์-มือปืน” และการเคลื่อนเปลี่ยนของสังคมไทย

ทางด้าน “อิทธิเดช พระเพ็ชร” นักศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานศึกษาเรื่อง “จาก “เสือ” สู่ “สิงห์” ถึง “มือปืน” : การเคลื่อนเปลี่ยนของสังคมไทยในควันปืนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แอ๊กชั่นไทย (พ.ศ.2490-2550)”

อิทธิเดชเชื่อว่าภาพยนตร์มีศักยภาพเป็น “เครื่องมือ” บ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

ในกรณีนี้ เขาจำกัดกรอบให้แคบลงไปอีกว่า “หนังบู๊” ที่ตนเองชื่นชอบ คือเครื่องมือซึ่งสามารถบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในรอบ 6 ทศวรรษได้เป็นอย่างดี

นักศึกษาปริญญาโทจากธรรมศาสตร์วิเคราะห์ “หนังบู๊ไทย” ผ่านตัวละคร “สามกลุ่ม” ใน “สามยุคสมัย”

เริ่มต้นจาก “เสือ” ที่มาพร้อมกับยุคกำเนิดของภาพยนตร์แอ๊กชั่นแบบไทยๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาจมีหมุดหมายสำคัญคือ หนังเรื่อง “สุภาพบุรุษเสือไทย” (2492) กำกับฯ โดย “หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล” (มี “แท้ ประกาศวุฒิสาร” ผู้เพิ่งล่วงลับ เป็นทั้งผู้อำนวยการสร้าง-กำกับภาพ-ร่วมตัดต่อ)

อิทธิเดชชี้ว่า ก่อนจะปรากฏตัวในโลกภาพยนตร์ “เสือ” ในยุคสงคราม ได้รับความสนใจจากบรรดานักเขียน-นักหนังสือพิมพ์มาก่อน

คนกลุ่มดังกล่าวนี่เองที่ร่วมสร้าง-ใส่ความหมายให้ “เสือ” มีสถานะเป็น “ฮีโร่แบบไทยๆ” ในนามของชาวบ้านที่ลุกขึ้นจับปืนทวงคืนความยุติธรรม (ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน)

ขณะที่ “ปืน” ก็มิได้มีความหมายที่สื่อถึงเพียง “ความรุนแรง” แต่ยังเป็น “คุณค่า/ตัวกลาง” ที่สามารถใช้ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์หรือคืนความยุติธรรมให้แก่สามัญชนคนธรรมดาได้

สำหรับอิทธิเดช การผงาดขึ้นของ “เสือ” ในหนังไทยยุคก่อน 2500 บ่งชี้ถึงบริบททั้งภายนอกและภายในสังคมไทย

บริบทภายนอกคือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำระหว่างและหลังสงครามโลก จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาจับปืนต่อสู้เพื่อปากท้อง

บริบทภายในคือ สภาพของ “รัฐรวมศูนย์” ที่ยังไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด “เสือ” จึงเป็นสามัญชนที่พยายามต่อต้านท้าทายอำนาจ (ไม่สัมบูรณ์ของ) รัฐ

จากนั้นอิทธิเดชพาไปทำความรู้จักกับตัวละครประเภท “สิงห์” ในหนังไทยยุค 2500-2520 โดยมีตัวอย่างเป็นเหล่าบุรุษผู้คอยปกป้องและคุ้มกันผลประโยชน์ของชาติ ในภาพยนตร์ อาทิ “เพชรตัดเพชร” “เล็บครุฑ” “ชุมแพ” ตลอดจนหนังตระกูล “7 ประจัญบาน”

“สิงห์” คือภาพแทนของเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร, ตำรวจ, ปลัดอำเภอ ฯลฯ) ซึ่งปลอมแปลงแฝงกายไปเป็นพระเอก ผู้ปราบปรามรักษาความสงบ และคอยประเคนหมัด เท้า เข่า ลูกปืน ใส่ “คนร้าย”

“สิงห์” เหล่านี้ได้รับอิทธิพลทั้งจาก “ภายนอก” และ “ภายใน”

อิทธิเดชนิยาม “สิงห์” กลุ่มหนึ่ง ว่าเป็น “สิงห์ในเงาอินทรี” หรือข้าราชการไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นตัวละครตำรวจที่ปฏิบัติการร่วมกับซีไอเอ จนถึงตัวละครทหารที่อยู่ในบริบทของสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม

ขณะเดียวกัน “สิงห์” ที่เป็นตัวละครปลัดอำเภอ-นายอำเภอ ก็คือภาพแทนการขยายอำนาจไปสู่ภูมิภาคของระบบราชการไทย

ในภาพรวม “สิงห์” จึงเป็นตัวแทนของรัฐราชการอันเข้มแข็ง หรือ “รัฐเร้นลับ” ที่กระทำตนประหนึ่ง “ศาลเตี้ย” คอยพิฆาต “เหล่าทรชน” ด้วยวิธีการอัน “ไม่เป็นทางการ” ต่างๆ นานา

ในทางกลับกัน “ผู้ร้าย” ที่อยู่ตรงข้ามกับ “สิงห์” ก็มีทั้ง “คอมมิวนิสต์” จากข้างนอก และ “เจ้าพ่อ-นักเลง” ซึ่งดำรงอยู่ภายในสังคมไทย

ระหว่างทศวรรษ 2500-2520 ในยุคพัฒนาเศรษฐกิจ คนอีกกลุ่มที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ก็คือ เจ้าพ่อ พ่อค้า และนักการเมือง

คนกลุ่มดังกล่าวนี่เองที่มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “มือปืน” เหล่าตัวละครอันมีบทบาทโดดเด่นในหนังไทยทศวรรษ 2520-2550

อิทธิเดชวิเคราะห์ว่า สภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว, การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารเมื่อทศวรรษ 2510 ซึ่งถูกแทนที่ด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ไม่ว่าจะเต็มใบ ค่อนใบ หรือครึ่งใบก็ตาม) ผ่านระบบการเลือกตั้ง

ส่งผลให้อำนาจ-ผลประโยชน์มิได้จำกัดวงหรือถูกผูกขาดในหมู่ผู้นำกลุ่มเดิมกลุ่มเดียว

ทว่า บรรดาเจ้าพ่อ พ่อค้า และนักการเมือง ต่างทยอยกันเข้ามาแชร์อำนาจ-ผลประโยชน์ ผ่านการเลือกตั้งและระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

ณ จุดนั้น ตัวละคร “มือปืน” จึงได้ก้าวเข้ามาในจอภาพยนตร์ โดยมีหมุดหมายหลักๆ เช่น “มือปืน” (2526) ผลงานคลาสสิคของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล”

นักศึกษาปริญญาโทผู้นี้บรรยายว่า “มือปืน” เป็นบุคคลนอกขอบเขตอำนาจรัฐ เป็นกลุ่มคนตกค้างจากยุคสงครามเย็น

ด้านหนึ่ง “มือปืน” เป็นมือไม้ของขั้วอำนาจใหม่ คือ “เจ้าพ่อ-พ่อค้า-นักการเมือง” แต่อีกด้าน พวกเขาก็ถูกว่าจ้างให้มาคอยตามล่าล้างปลิดชีวิตบุคคลผู้ทรงอิทธิพลเหล่านั้น

การดำรงอยู่ของ “มือปืน” แสดงให้เห็นว่ารัฐ (หรือบรรดาตัวละครกลุ่ม “สิงห์”) ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวที่ควบคุม “อำนาจการใช้ความรุนแรง” ในสังคม

แต่ผลประโยชน์และอำนาจได้กระจายไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะเจ้าพ่อ-พ่อค้า-นักการเมือง ซึ่งมัก “ใช้อำนาจ” หรือโดน “โค่นอำนาจ” ผ่าน “มือปืน”

น่าเสียดายที่อิทธิเดชตัดสินใจหยุดการศึกษาของตนเองไว้ตรง พ.ศ.2550 ด้วย “เงื่อนไขอะไรบางอย่าง”