จิตต์สุภา ฉิน : สมาร์ตโฟนฉลาด แต่หาหมอก็ต้องไม่ขาด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ผลการวิจัยที่ซู่ชิงอยากหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เราคาดเดากันเองไม่ได้

แต่ที่เลือกเรื่องนี้มาก็เพราะคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่ในยุคที่เราพึ่งพาข้อมูลทุกอย่างเท่าที่เราจะหาได้จากกูเกิล เราก็อาจจะหลงลืมไปว่าไม่มีอะไรรับประกันความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเอาสุขภาพร่างกายของเราไปแขวนไว้กับข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตเหล่านั้นด้วย

ก่อนการมาถึงของอินเตอร์เน็ต หากเกิดอาการผิดปกติอะไรกับร่างกาย สิ่งแรกที่เราจะทำก็คือการวิ่งโร่ไปหาหมอ เพราะการค้นคว้าหาข้อมูลของอาการด้วยตัวเองนั้นจะต้องใช้เวลานานมาก

แต่ในตอนนี้หากเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ สิ่งแรกที่เราจะทำไม่ใช่การขับรถไปโรงพยาบาล แต่เป็นการเปิดคอมพิวเตอร์หรือหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา

พิมพ์อาการของเราเข้าไปในกูเกิล แล้วเลือกอ่านลิงก์ที่น่าจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ของเรามากที่สุด

หรือหากจะทันสมัยขึ้นมาอีกนิดหน่อย เราก็อาจจะเปิดแอพพลิเคชั่นช่วยวินิจฉัยโรคให้เราเบื้องต้นก็ได้

พฤติกรรมเหล่านี้ได้หล่อหลอมกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรด้านสุขภาพที่เราทำกันจนเคยชินไปเสียแล้ว

 

แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลวินิจฉัยโรคเบื้องต้นที่เราได้มานั้นมันถูกต้องแม่นยำ

เพราะดูเหมือนกับว่าการวินิจฉัยโรคตัวเองด้วยข้อมูลที่ได้บนคอมพิวเตอร์นั้นมีแนวโน้มจะทำให้เราเกิดอาการ 2 ประเภท

อาการแรก คือตื่นตูม คิดไปต่างๆ นานาว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง

หรืออาการที่สอง คือชะล่าใจ นึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไรมาก ก็เลยไม่ยอมไปหาหมอ คิดว่าตัวเองวินิจฉัยโรคตัวเองได้เสร็จสรรพแล้ว

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ลองให้แพทย์ทั้งหมด 234 คน ตรวจประเมินเคสของคนไข้ 45 เคส แล้วลองให้วินิจฉัยโรคที่มีแนวโน้มว่าคนไข้น่าจะเป็นมากที่สุดออกมา แถมด้วยข้อวินิจฉัยที่อาจจะเป็นไปได้อีก 2 ข้อ

โดยเคสทั้งหมดก็ประกอบไปด้วยโรคที่มีความรุนแรงมากและน้อยแตกต่างกันไป และมีทั้งเคสที่ปกติและไม่ปกติคละๆ กันอยู่

แต่ละเคสจะมีแพทย์มาวินิจฉัยอย่างน้อย 20 คน

จากนั้นทีมนักวิจัยก็จะนำเอาผลวินิจฉัยที่ได้มาเปรียบเทียบกับผลที่ได้จากแอพพลิเคชั่นตรวจสุขภาพ

 

ก่อนที่เราจะไปดูผลลัพธ์กัน เรามาทำความรู้จักแอพตรวจสุขภาพเหล่านี้เพิ่มเติมกันอีกสักหน่อยค่ะ

แอพเหล่านี้ก็คือแอพที่ผู้ใช้งานป้อนอาการต่างๆ เข้าไป แล้วแอพก็จะช่วยวินิจฉัยออกมาว่าผู้ใช้น่าจะมีโอกาสเป็นโรคอะไรได้บ้างหากพิจารณาจากข้อมูลอาการทั้งหมดที่มี

ซึ่งช่วงหลังๆ มานี้แอพประเภทตรวจสอบอาการเพื่อหาโรคที่น่าจะเป็นมีออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จุดประสงค์ของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นประเภทนี้ออกมาก็คือการช่วยลดความผิดพลาดของการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์นั่นเอง

คราวนี้ย้อนกลับมาที่ผลการวิจัยค่ะ การทำการวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเลยทีเดียวที่มีการเปรียบเทียบผลวินิจฉัยโรคระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ ทีมนักวิจัยพบว่าแพทย์ที่เป็นมนุษย์สามารถวินิจฉัยโรคออกมาได้ถูกต้องตั้งแต่การวินิจฉัยครั้งแรกอยู่ที่ 72 เปอร์เซ็นต์

โดยแอพพลิเคชั่นสามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ที่ 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

และหากจะดูกันที่การวินิจฉัยทั้งหมด 3 รูปแบบเพื่อดูว่ามีคำวินิจฉัยที่ถูกต้องอยู่ในนั้นมากน้อยแค่ไหน แพทย์จะได้ไปสูงถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแอพทำได้อยู่ที่ 51 เปอร์เซ็นต์ค่ะ

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยก็ยังได้บอกอีกว่าความแตกต่างที่ใหญ่โตที่สุดระหว่างแพทย์ที่เป็นมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จะเห็นได้ชัดเมื่อต้องวินิจฉัยโรคที่มีความรุนแรงและโรคที่ไม่ปกติ ในขณะที่ความแตกต่างของการวินิจฉัยของทั้งสองฝ่ายนั้นจะมีน้อยลงหากเป็นโรคที่รุนแรงน้อยกว่า และพบเห็นได้ทั่วไปมากกว่า

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเป็นโรคร้ายแรง หรือโรคที่ไม่ใช่โรคปกติทั่วไป แพทย์ที่เป็นมนุษย์จะวินิจฉัยได้แม่นยำกว่า ในขณะที่แอพพลิเคชั่นนั้นก็พอจะใช้ตรวจหาโรคทั่วๆ ไปที่ไม่สลับซับซ้อนอะไรมากได้

 

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะรู้สึกทึ่งในความเก่งกาจของแพทย์

แต่ทีมนักวิจัยก็ยังทำให้เรารู้สึกประทับใจมากขึ้นไปอีกด้วยการบอกว่าในการทดลองครั้งนี้ ถือว่าแพทย์ที่เข้าร่วมก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งหากเทียบกับแพทย์ทั่วไปข้างนอกแล้วยังถือว่าผิดพลาดเยอะกว่าเล็กน้อย เพราะแพทย์โดยทั่วไปจะพลาดอยู่ที่ 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าให้เราลบแอพพลิเคชั่นช่วยวินิจฉัยโรคจากอาการทิ้งไปให้หมดและเลิกพัฒนากันเพิ่มเติมอีกแล้วนะคะ

สิ่งที่ผลการทดลองครั้งนี้ต้องการจะบอกเราก็คือเราควรจะช่วยหาทางกันว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถลดความผิดพลาดที่เกิดจากการวินิจฉัยโรคลงได้

ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์หรือการใช้แอพพลิเคชั่นมาช่วยก็ตาม ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าวิธีที่จะทำเช่นนั้นได้ก็คือการนำทั้งสองอย่างมาใช้งานร่วมกัน คือให้แพทย์วินิจฉัยด้วย และใช้อัลกอริธึ่มของคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยคำนวณด้วยอีกแรง

ในขณะเดียวกันก็พัฒนาให้แอพเหล่านี้เก่งกาจขึ้นและสามารถวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้นอีกในอนาคต

 

ข้อแนะนำของซู่ชิงก็คือมันไม่ผิดหรอกค่ะที่เราจะใช้กูเกิลตรวจหาความน่าจะเป็นของโรคที่เราเป็น หรือจะลองใช้แอพพลิเคชั่นในการลองวินิจฉัยอาการเบื้องต้นว่าหากดูจากข้อมูลที่เรามีในตอนนี้ ความน่าจะเป็นจะไปตกอยู่ที่โรคไหนบ้าง ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่ได้ปักใจเชื่อผลลัพธ์ที่ได้ในทันทีแล้วตีโพยตีพายรีบเขียนพินัยกรรม หมดอาลัยตายอยากในการใช้ชีวิตตั้งแต่ก่อนจะไปพบแพทย์ตัวจริง

นึกเสียว่าข้อมูลที่เราได้มาเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้เท่านั้น และเอาเข้าจริงๆ โดยส่วนใหญ่แล้วโรคที่เราเป็นมักจะมีความรุนแรงน้อยกว่าที่เราอ่านเจอบนอินเตอร์เน็ตเยอะ เก็บข้อมูลที่ได้หมดเอาไว้ปรึกษาหมอตัวจริงจะดีกว่า

แต่อย่าเผลอไปเถียงหมอคอเป็นเอ็นว่าหมอวินิจฉัยผิดเพราะไม่ตรงกับที่แอพบอกก็แล้วกันค่ะ